กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ “วังหน้าองค์สุดท้าย” กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นลูกของใคร?

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าองค์สุดท้าย รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

กรุงรัตนโกสินทร์ มีกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” ทั้งหมด 6 พระองค์ โดย “วังหน้าองค์สุดท้าย” คือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ซึ่งเป็นวังหน้าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของใคร?

รัชกาลที่ 5 มี วังหน้าองค์สุดท้าย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผศ. ดร. นนทพร อยู่มั่งมี เจ้าของผลงาน “สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย” หนึ่งในหนังสือชุด “กษัตราธิราช” (สำนักพิมพ์มติชน) เล่าถึงพระราชประวัติของพระองค์ในเล่มว่า

Advertisement

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 10 แรม 2 ค่ำ ปีจอ พ.ศ. 2381 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาเอม ธิดาเจ้าสัวมี บางท่านว่าต้นตระกูลเป็นเศรษฐีบ้านถนนตาลที่กรุงศรีอยุธยา มีนิวาสสถานอยู่หลังวัดพนัญเชิง เมืองกรุงเก่า

ความที่ “พระปิ่นเกล้า” ทรงศึกษาวิทยาการตะวันตก และทรงคุ้นเคยกับมิชชันนารีอเมริกันมาก จึงพระราชทานนามพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ว่า “ยอชวอชิงตัน” ตามนาม จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา แต่ฝ่ายไทยนิยมเรียกว่า หม่อมเจ้ายอด

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ขุนนางวังหน้า วังหน้าองค์สุดท้าย
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชสมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์พระราชทานนามแก่หม่อมเจ้ายอดว่า พระองค์เจ้ายอดยิ่งประยุรยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร ต่อมาได้เลื่อนพระอิสริยยศทรงกรมที่ “กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ” เมื่อ พ.ศ. 2404

หลังจากพระปิ่นเกล้า “วังหน้า” ในรัชกาลที่ 4 สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2408 รัชกาลที่ 4 ก็มิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดเป็นวังหน้าอีก จวบจนพระองค์สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2411

“สาเหตุที่ไม่ทรงแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอาจเป็นเพราะทรงปรารถนาที่จะให้พระราชโอรสองค์ใหญ่คือเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ สืบราชสมบัติ แต่ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา หากให้เสวยราชสมบัติย่อมเสี่ยงต่อการถูกชิงราชบัลลังก์ ซึ่งเวลานั้น จึงทรงพระราชดำริให้หาผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” ผศ. ดร. นนทพร เล่า

ปลายรัชกาลที่ 4 ขุนนางที่มีบทบาทและอำนาจอย่างมาก คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนวังหน้า โดยกราบทูลรัชกาลที่ 4 ว่า ถ้าจะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ ก็จะต้องสถาปนากรมหมื่นบวรวิไชยชาญให้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลด้วย เพราะผู้คนทั้งหลายกล่าวหาว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์คิดชิงราชสมบัติ จึงต้องการคลายข้อสงสัยด้วยการสนับสนุนพระราชโอรสของพระปิ่นเกล้า

ถึงอย่างนั้น แม้ช่วงที่พระปิ่นเกล้ายังทรงมีพระชนมชีพ ก็เคยสงสัยว่าขุนนางใหญ่ผู้นี้คิดชิงราชสมบัติด้วยเช่นกัน

เบื้องหลังการสถาปนา “วังหน้า” 

รัชกาลที่ 4 ทรงเกรงว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการจะใช้อำนาจตามใจ จึงทรงพระราชดำริว่า หากพระราชโอรสจะขึ้นครองราชสมบัติก่อนมีพระชนมายุ 20 พรรษา หรือหากกรณีที่พระองค์ทรงมีพระชนมชีพอยู่จนถึง พ.ศ. 2416 (ปีที่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์จะทรงมีพระชนมายุ 20 พรรษา) ปัญหาการตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และปัญหาการตั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็จะหมดไป

แต่ด้วยทรงระแวดระวังเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เกรงว่าพระราชโอรสจะเสวยราชสมบัติโดยไม่มั่นคง จึงไม่ทรงแต่งตั้งองค์รัชทายาท เพียงแต่ให้เลื่อนกรมใน พ.ศ. 2410 เท่านั้น

ทว่าก่อนรัชกาลที่ 4 จะสวรรคตเพียงไม่นาน พระองค์มีรับสั่งให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาภูธราภัย เข้าเฝ้าฯ มีพระบรมราชานุญาตว่า ให้พระราชวงศ์และข้าราชการปรึกษาหารือกันว่า จะเห็นพร้อมให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ หรือพระเจ้าหลานเธอ พระองค์ใดก็ได้ที่สามารถปกครองให้แผ่นดินร่มเย็นเป็นสุข ก็ถวายราชสมบัติแก่พระราชวงศ์นั้น

เมื่อรัชกาลที่ 4 สวรรคต เหล่าขุนนางและพระบรมวงศานุวงศ์ได้ประชุมหารือปรึกษากันมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน และให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จนกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่จะถึงเกณฑ์ผนวช

จากนั้นก็เลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งที่ประชุมเลือกกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เพื่อ “สนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จะได้เป็นความยินดีของพวกวังหน้าด้วย”

ที่ประชุมบางส่วนเห็นว่า ควรเป็นพระบรมราชโองการโดยตรงจากพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่หน้าที่ของที่ประชุม ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อย่างมาก แต่ท้ายที่สุดที่ประชุมก็ไม่อาจทัดทานข้อเสนอของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ “วังหน้าองค์สุดท้าย”

ผศ. ดร. นนทพร ระบุใน “สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย” อีกว่า เมื่อพระองค์ทรงกำกับราชการวังหน้า ก็ทรงจัดระเบียบการงานตามแบบอย่างที่พระปิ่นเกล้าทรงปฏิบัติมา เช่น การฝึกหัดทหารบก ทหารเรือ การเสด็จออกที่โรงรถแทนท้องพระโรง เป็นต้น

ช่วงที่พระองค์ทรงเป็นวังหน้า ทรงมีเหตุบาดหมางกับวังหลวง เรียกกันว่า “วิกฤตการณ์วังหน้า” ซึ่งเกิดขึ้นปลาย พ.ศ. 2417 นำไปสู่การยกเลิกตำแหน่งดังกล่าว หลังจากพระองค์ทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2428 ขณะพระชนมายุ 48 พรรษา

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ จึงทรงเป็น “วังหน้าองค์สุดท้าย” ในประวัติศาสตร์ไทย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นนทพร อยู่มั่งมี. สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2567