ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ขุนนางวังหน้า” คือข้าราชการในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” เป็นตำแหน่งพระมหาอุปราช มีอำนาจและบารมีเป็นรองแต่พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น และเป็นที่รู้กันโดยนัยว่า วังหน้าคือว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไป
การคัดเลือกข้าราชการหรือขุนนางที่จะมาทำงานถวายวังหน้า จึงต้องคัดเลือกอย่างรอบคอบ เพื่อจะได้ทำงานราชการแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็จะได้ไม่ต้องขัดแย้งกับ “ขุนนางวังหลวง” หรือขุนนางที่ทำงานถวายพระมหากษัตริย์
รัชกาลที่ 1 กับการคัดเลือกข้าราชการวังหน้า
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ “พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5” ว่า
เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเลือกสรรผู้มีความชอบที่ได้โดยเสด็จในการศึกสงครามเป็นพื้นในการแต่งตั้งข้าราชการชั้นสูง เป็นข้าราชการในสมัยกรุงธนบุรีบ้าง เป็นเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองบ้าง หรือเป็นข้าหลวงเดิมบ้าง
ส่วนสมเด็จพระอนุชาธิราช รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท หรือตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็ทรงเลือกสรรข้าราชการที่ร่วมรบออกศึกกับพระองค์เป็นข้าราชการเช่นเดียวกัน
การแบ่งเป็นข้าราชการวังหลวงกับข้าราชการวังหน้า จึงเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยฝ่ายแรกมีอยู่ตามหัวเมืองด้วย ขณะที่ฝ่ายหลังมีอยู่เพียงในกรุงเทพฯ
เรื่องข้าราชการวังหลวงกับข้าราชการวังหน้า กรมดำรงทรงบอกว่า
“ในชั้นแรกข้าราชการทั้งสองฝ่ายก็ปรองดองกันดี เพราะผู้เป็นขุนนางทั้งสองฝ่ายเคยช่วยกันทำศึกสงครามมาแต่ก่อน และเมื่อทรงตั้งแล้วก็ยังต้องช่วยกันต่อสู้ข้าศึกรักษาบ้านเมืองอยู่เนืองๆ
ครั้นเวลาล่วงมาช้านานถึง ๒๐ ปี ข้าราชการชั้นเดิมสิ้นอายุหมดตัวไปเสียโดยมาก ผู้ซึ่งเป็นข้าราชการขึ้นรุ่นหลัง แม้ยังมีโอกาสทำศึกสงคราม ก็เป็นการสงครามซึ่งฝ่ายไทยไปรุกรบข้าศึก เช่นไปขับไล่พม่าออกจากมณฑลพายัพเป็นต้น และการสงครามชั้นนี้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมักเสด็จไปเป็นจอมพล
พวกวังหน้าเป็นทัพหลวงได้โอกาสรบพุ่งเป็นเกียรติยศ พวกวังหลวงเป็นแต่ทัพสมทบ ซ้ำต้องตำหนิติเตียนหลายคราว ความร้าวราญจึงเกิดขึ้นในระหว่างข้าราชการทั้งสองฝ่ายด้วยพวกวังหน้ามักดูหมิ่น ว่าขุนนางวังหลวงไม่มีใครเข้มแข็งศึกสงครามเหมือนชั้นก่อน” (เน้นตัวหนาโดยผู้เขียนบทความ)
ด้วยเหตุนี้ เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2346 พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งโตทันได้ทำศึกสงคราม และพวกข้าราชการวังหน้าซึ่งเป็นตัวสำคัญขึ้นชั้นหลัง จึงพากันกระด้างกระเดื่อง นำสู่สิ่งที่กรมดำรงทรงบอกว่า “ถึงต้องกำจัดเสียมาก”
จากนั้น รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นวังหน้าต่อจากสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ครั้งนั้นไม่มีผู้ใดทางฝั่งวังหน้าที่จะทรงเลือกสรรตั้งเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ได้
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร จึงทรงแต่งตั้งข้าหลวงเดิมเป็นขุนนางฝ่ายวังหน้า แต่บางตำแหน่งก็ตั้งไม่เต็มอัตรา
อ่านเพิ่มเติม : คำร่ำลืออาถรรพ์ “วังหน้า” กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ตรัสสาปแช่ง
รัชกาลที่ 2 ทรงแก้ความขัดแย้ง “ขุนนางวังหลวง-ขุนนางวังหน้า” อย่างไร?
เมื่อรัชกาลที่ 1 สวรรคต สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระราชประสงค์ย้ายพวกข้าหลวงเดิมมามีตำแหน่งรับราชการวังหลวง
เหตุนี้จึงทรงปรึกษากับสมเด็จพระอนุชาธิราช คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ที่ทรงสถาปนาขึ้นเป็นวังหน้าในรัชกาลของพระองค์ เพื่อป้องกันความ “แตกร้าว” ระหว่างข้าราชการ 2 ฝ่าย ซึ่งวังหน้าก็ได้กราบทูลรัชกาลที่ 2 ให้ทรงเลือกตามพระราชอัธยาศัย
รัชกาลที่ 2 จึงโปรดฯ ให้แบ่งข้าราชการวังหลวงไปรับราชการวังหน้าเป็นครั้งแรก และในบรรดาตระกูลข้าราชการ ถ้ามีพี่น้อง 2 คน ให้เอาไว้รับราชการวังหลวงคนหนึ่ง และส่งไปรับราชการวังหน้าคนหนึ่ง เป็นแบบนี้แทบทุกตระกูล
ยกตัวอย่าง เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ที่รัชกาลที่ 2 โปรดให้ขุนนางผู้พี่รับราชการวังหลวง ส่วนขุนนางผู้น้องไปรับราชการวังหน้า
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ทรงดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ 8 ปี ก่อนสวรรคตใน พ.ศ. 2360 คราวนั้น ข้าราชการวังหน้าลงมาสมทบรับราชการวังหลวง ก็เข้ากับข้าราชการวังหลวงได้ดี และหลังจากนั้น รัชกาลที่ 2 ก็มิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดเป็นวังหน้าตลอดรัชกาล จวบจนพระองค์สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2367
รัชกาลที่ 3 ทรงทำอย่างไร เมื่อข้าราชการวังหน้าเดิมหมดสิ้นตัวคน?
เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนากรมหมื่นศักดิพลเสพ ที่เคยร่วมรบกับพระองค์ขึ้นเป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3
กรมดำรงทรงพระนิพนธ์ว่า การเลือกสรรข้าราชการวังหน้าในช่วงแรกทำอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐาน แต่เมื่อเข้ารัชกาลที่ 3 ได้ไม่นาน เจ้าเวียงจันท์เป็นกบฏ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพจึงเสด็จเป็นจอมพลยกทัพไปปราบปราม
ครั้งนั้น มีข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายวังหน้าร่วมรบ 4 คน สันนิษฐานว่า รัชกาลที่ 3 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เลือกสรรข้าราชการวังหลวงไปตั้ง และน่าจะเป็นข้าราชการในกรมพระกลาโหมเป็นพื้น เพราะวังหน้าทรงบัญชาการกรมพระกลาโหมอยู่ก่อน
เมื่อเสร็จศึกวังหน้าแล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพต้องทรงเลือกหาข้าราชการฝ่ายวังหน้าเอง ซึ่งกรมดำรงทรงเล่าว่า “ก็มักจะได้แต่ผู้ซึ่งไม่สามารถ จะหาดีได้ทางวังหลวงแล้วไปเป็นขุนนางวังหน้า สันนิษฐานว่าเห็นจะตั้งไว้แต่พอทรงใช้สอย หาตั้งเต็มตามธรรมเนียมไม่”
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงเป็นวังหน้าอยู่ 7 ปี ก็สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2375 จากนั้นตำแหน่งนี้ก็ว่างเว้นไปราว 20 ปี กระทั่งรัชกาลที่ 3 สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2394 ทำให้ข้าราชการวังหน้าสูญไปหมดอีกครั้ง
อ่านเพิ่มเติม :
- “วังหน้า” กรุงรัตนโกสินทร์ มีกี่พระองค์ ใครบ้าง?
- วังหน้า “พระยาเสือ” เมื่อต้องโค่นพระเจ้าตาก ขุนศึกที่พระเจ้าตากโปรดปรานทำอะไรบ้าง?
- กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ “วังหน้าองค์สุดท้าย” กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นลูกของใคร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2567