ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“พระแก้วมรกต” หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในทัศนะของรัชกาลที่ 4 ทรงมีความเห็นว่า ค้นพบในเจดีย์ที่เมืองเชียงราย เพราะสอดคล้องกับรูปแบบทางศิลปกรรมแบบล้านนา เชียงรายจึงเป็นจุดแรกที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ก่อนจะถูกอัญเชิญไปเมืองต่าง ๆ จากนั้นจึงมาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
เส้นทางอัญเชิญพระแก้วมรกต
จากตำนานพระแก้วมรกตเล่าว่า มีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญองค์นี้จากเชียงรายมายังเมืองเขลางค์นคร 32 ปี ก่อนนำไปไว้ที่เชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช
กระทั่งปลายราชวงศ์มังราย พระไชยเชษฐาได้เสด็จมาครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าโพธิสาลราชที่เมืองหลวงพระบางสวรรคต พระองค์จึงเสด็จกลับไปครองหลวงพระบาง พร้อมนำพระแก้วมรกตและพระพุทธรูปสำคัญอื่น ๆ ไปยังหลวงพระบางด้วย
ต่อมาเมื่อพระไชยเชษฐาเสด็จลงมาครองเมืองเวียงจันทน์ พระแก้วมรกตก็มาประดิษฐานที่นครเวียงจันทน์ด้วย แล้วมีการอัญเชิญมาอยู่ที่กรุงธนบุรีในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อด้วยกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน
เป็นเส้นทางอัญเชิญพระแก้วมรกตจากเชียงราย สู่ลำปาง เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ กรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ
“วัดพระแก้ว” หรือที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต อยู่ไหนบ้าง?
จากเส้นทางข้างต้น สถานที่ที่พระแก้วมรกตเคยประดิษฐานนับแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้
1. วัดพระแก้ว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย สถานที่ตามตำนานที่เล่ากันว่าเป็นจุดค้นพบพระแก้วมรกต เมื่อราว พ.ศ. 1897 ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งเชียงใหม่
2. วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม (พ.ศ. 1979-2011) อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ก่อนพระเจ้าติโลกราชจะทรงอัญเชิญไปที่เชียงใหม่
3. วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร (พ.ศ. 2011-2096) อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราชทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตจากลำปางมาประดิษฐานไว้ที่สถูปเจดีย์หลวง
4. หอพระแก้ว เมืองหลวงพระบาง พระเจ้าไชยเชษฐาอัญเชิญมาไว้เมื่อคราวเสด็จกลับจากเชียงใหม่มาครองเมืองหลวงพระบางช่วงสั้น ๆ ไม่ถึงปี (บางหลักฐานว่าอัญเชิญมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าโพธิสาลราช ก่อนรัชกาลพระเจ้าไชยเชษฐา)
5. หอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ (พ.ศ. 2096-2322) สร้างขึ้นโดยพระกระแสรับสั่งในพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช หลังย้ายมาประทับที่นครเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ. 2103 พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่นี่เป็นเวลาถึง 219 ปี
6. วัดอรุณราชวราราม (พ.ศ. 2322-2327) ฝั่งธนบุรี เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงอาราธนาพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์มาไว้ ณ พลับพลาวัดแจ้ง (ต่อมาคือวัดอรุณฯ)
7. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (พ.ศ.2327-ปัจจุบัน) หรือ “วัดพระแก้ว” เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานในพระอุโบสถของวัด
ทั้งนี้ หลักฐานบางชิ้น เช่น “สังคีติยวงศ์” ชี้ว่า พระแก้วมรกตเคยประดิษฐานที่ “วัดโพธิ์” หรือวัดพระเชตุพนฯ ระยะหนึ่ง ก่อนมาอยู่ที่พระอุโบสถวัดพระแก้วจนถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- เส้นทางอัญเชิญ “พระแก้วมรกต”
- “พระแก้วมรกต” เคยประดิษฐานที่วัดโพธิ์ ก่อนย้ายเข้าวัดพระแก้ว?
- รัชกาลที่ 4 ทรงปฏิเสธตำนานเทวดาสร้างพระแก้วมรกต
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปรามินทร์ เครือทอง. พุทธคุณพระแก้วมรกต. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2551.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. เส้นทางอัญเชิญพระแก้วมรกต. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2545.
สายชล สัตยานุรักษ์. พระแก้วมรกต : จากล้านนาสู่ล้านช้าง ถึงกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2551.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2567