ระยะเวลา 19 ปี “พ่อขุนรามคำแหง” ทรงครองราชย์ เกิดอะไรขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์โลก?

19 ปี พ่อขุนรามคำแหง
พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ภาพจาก Cloudcolors / Wikimedia commons สิทธิ์การใช้งาน Attribution-Share Alike 3.0 Unported)

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงปกครองอาณาจักรสุโขทัยตั้งแต่ พ.ศ. 1822-1841 (ค.ศ. 1279-1298) แล้วระยะเวลา 19 ปี พ่อขุนรามคำแหงทรงครองราชย์ เกิดอะไรขึ้นบ้างบนโลกใบนี้?

(เหตุการณ์สำคัญบนโลกที่เกิดขึ้นสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯ สมเด็จพระนารายณ์ฯ พระเจ้าตาก รัชกาลที่ 1 และแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ มีอะไรบ้าง? ติดตามได้ด้านล่างบทความนี้)

Advertisement

19 ปี พ่อขุนรามคำแหงทรงครองราชย์ เกิดอะไรขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์โลก?

เราอาจคุ้นชินกับประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยกันมาบ้าง แต่เราอาจไม่ค่อยรู้ว่า ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่พ่อขุนรามคำแหงทรงครองราชย์ มีเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกหลายอย่างด้วยกัน

ยกตัวอย่างมาอย่างน้อย 2 เหตุการณ์ก็เช่น กุบไลข่านยกทัพใหญ่บุกญี่ปุ่น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

กุบไลข่าน 19 ปี พ่อขุนรามคำแหง
กุบไลข่าน (ภาพ : Wikimedia Commons)

ปี 1281 “กุบไลข่าน” ยกทัพกว่า 160,000 นาย หวังพิชิตญี่ปุ่น

กุบไลข่าน (ค.ศ. 1215-1294) เป็นหลานของ “เจงกิสข่าน” นักรบผู้สถาปนาจักรวรรดิมองโกล ช่วงที่กุบไลข่านขึ้นครองอำนาจ จักรวรรดิมองโกลครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่มหาศาลอยู่แล้ว ทั้ง จีน ทิเบต แมนจูเรีย เกาหลี พื้นที่ทางตะวันออกของมองโกเลีย สลาฟในยุโรปตะวันออก พื้นที่จากอัฟกานิสถานถึงตุรกี ฯลฯ

แต่กุบไลข่านก็ยังไม่พอใจ เพราะเป้าหมายที่ต้องการพิชิตให้ได้คือ ญี่ปุ่น

ปี 1274 กุบไลข่านส่งกองเรือราว 900 ลำ ทหารเกาหลีและจีนราว 23,000 นาย และกองทหารม้ามองโกลไม่ทราบจำนวน เข้าโจมตีดินแดนหมู่เกาะแห่งนี้

ช่วงแรกกองทัพมองโกลยึดเมืองเล็กเมืองน้อยตามแนวฝั่งได้อย่างง่ายดาย จนเมื่อยกพลขึ้นบกที่อ่าวฮากาตะ กองทัพผู้รุกรานก็เผชิญหน้ากับเหล่าซามูไร กองทัพมองโกลจึงระดมยิงธนูและระเบิดเข้าใส่ ทำให้ขุนศึกญี่ปุ่นถูกสังหาร ฝ่ายญี่ปุ่นที่เพลี่ยงพล้ำจึงถอยทัพลึกเข้าไปในแผ่นดิน ส่วนฝ่ายมองโกลพักรบอยู่ในเรือ

คืนการสู้รบ ปรากฏว่าเกิดพายุฤดูใบไม้ร่วง ซัดเอาเรือมองโกลไปกระแทกโขดหินตามแนวชายฝั่ง กองทัพมองโกลสูญเสียเรือเกือบทั้งหมด และสูญเสียทหารไปกว่า 10,000 นาย

แต่กุบไลข่านไม่คิดว่านี่คือความพ่ายแพ้ เพราะถือว่าชนะศึกทางบกไปแล้ว จึงส่งทูตไปญี่ปุ่น พร้อมคำสั่งให้จักรพรรดิญี่ปุ่นยอมจำนน แต่ญี่ปุ่นปฏิเสธ และตัดศีรษะทูตมองโกลนำไปเสียบประจาน

กุบไลข่านยังไม่ละความพยายาม เพราะในปี 1279 ได้ส่งทูตไปอีกครั้ง แล้วก็ถูกสังหารอีก

ซามูไร กองทัพมองโกล 19 ปี พ่อขุนรามคำแหง
ภาพวาดเมื่อครั้งซามูไร (ขวา) สู้รบกับกองทัพมองโกลที่รุกรานญี่ปุ่น (ภาพ : Wikimedia Commons)

กระทั่งปี 1281 กุบไลข่านส่งกองเรือขนาดใหญ่ และทหารกว่า 160,000 นาย ไปบุกญี่ปุ่นอีกรอบ แต่กองเรือไม่สามารถฝ่าแนวกั้นกองทัพญี่ปุ่นได้ ทำให้ต้องอยู่แต่บนเรือท่ามกลางอากาศร้อนจัดในฤดูร้อน

ท้ายสุดความพยายามของกุบไลข่านที่จะแผ่อำนาจเหนือญี่ปุ่นก็ล้มเหลว จึงมุ่งหน้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน ดินแดนในพื้นที่แห่งนี้ที่อยู่ใต้อำนาจกุบไลข่านมีเช่น พม่า อันนัมทางตอนเหนือของเวียดนาม จามปาทางตอนใต้ของเวียดนาม เป็นต้น

ปี 1287 น้ำท่วมใหญ่ในเนเธอร์แลนด์

ปัจจุบัน เนเธอร์แลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ถ้าย้อนไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน ในยุคที่เทคโนโลยีและองค์ความรู้ยังไม่ก้าวหน้า เนเธอร์แลนด์ต้องเจอกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่จนมีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคนมาแล้ว

วันที่ 14 ธันวาคม ปี 1287 เกิดพายุรุนแรงขึ้นในทะเลเหนือ ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์กระแทกแนวกั้นน้ำจนพังทลาย น้ำเข้าท่วมเมืองจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 50,000 คน นับเป็นเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก ที่ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

เหตุการณ์นี้เรียกกันว่า “เซนต์ลูเซีย’ส ฟลัด” (St. Lucia’s flood) เพราะเกิดขึ้นช่วงเดียวกับวันหยุด ที่รำลึกถึงนักบุญลูเซีย

ระยะเวลา 19 ปี พ่อขุนรามคำแหงทรงครองราชย์ จึงมีเรื่องสำคัญเกิดขึ้นบนโลกนี้อย่างน้อย 2 เรื่องด้วยกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. “จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (5) ต้นราชวงศ์หยวน กุบไลข่านผู้พิชิต”. คอลัมน์ เงาตะวันออก, ใน มติชนสุดสัปดาห์ (ฉบับวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2567).

ดีเค ทีม, เขียน. ธาม โสธรประภากร, แปล. Timelines of World History ร้อยพันเรื่องราวประวัติศาสตร์โลก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567. (สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2567