ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เรือในพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค เคยถูกใช้เป็น “เรือรบ” จริงหรือ?
การอธิบายเรือพระราชพิธีที่ใช้ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มักถูกระบุว่าเป็น “เรือรบ” อ้างอิงจากพระราชพงศาวดาร แท้จริงแล้วเรือเหล่านี้ถูกใช้ในการสงครามจริงหรือ?
พระราชพงศาวดารที่ถูกนำมาตีความว่าเรือพระราชพิธีเป็นเรือรบคือ
“เสด็จลงสู่พระที่นั่งกนกรัตนวิมานนาวา อันรจนาด้วยกาญจนามณีชัชวาลทั้งคู่ดูพันลึก อธึกด้วยเรือจำนำท้าวพระยาสามนตราช ฝ่ายทหารพลเรือนเรียงประจำจับฉลาก สลอนสลับคับคั่ง ตั้งโดยกระบวนพยุหยาตรา พระโหราราชครูธิบดีพิชาจารย์ก็ลั่นฆ้องชัยให้คลายเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ อันทรงพระพุทธปฏิมากรทองนะคุณ บรรจุพระสารีริกธาตุ ถวายพระนามสมญาพระชัยไปก่อนแล้วเรือกระบวนหน้าทั้งปวงโดยลำดับ” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, กรมศิลปากร : 2511)
แต่ข้อความข้างต้นเป็นบทสรุปของเรื่องนี้ได้หรือไม่?
รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ทัศนะไว้ว่า ข้อความดังกล่าวไม่อาจชี้ขาดได้ว่า มีการใช้เรือพระราชพิธีในราชการกองทัพจริง เพราะพงศาวดารเป็นเอกสารเฉลิมพระเกียรติยศ แสดงพระบรมเดชานุภาพ เป็นธรรมดาที่จะต้องมีการพรรณนาอย่างวิจิตรบรรจง
ที่สำคัญคือ แม้ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคตั้งขบวนในลำน้ำสายใหญ่อย่างลำน้ำเจ้าพระยาได้ แต่หากเป็นราชการทัพ เมื่อต้องเข้าไปในลำน้ำสายเล็ก อาจจะต้องทบทวนกันใหม่ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ยังไม่รวมการออกทะเล ที่ขบวนเรือเหล่านี้ไม่น่ากระทำได้
ดังที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระอธิบายไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเรือเร็วไล่ตามเรือสำเภาพระยาจีนจันตุที่หนีไปเมืองเขมร เสด็จไปทันที่ปากน้ำเจ้าพระยา แล้วทรงยิงพระแสงปืนต่อสู้กับพวกพระยาจีนจันตุ จนเรือลำเภาได้ลมแล่นใบออกทะเล เรือพระที่นั่งจะตามออกไปไม่ได้จึงเสด็จกลับ
อีกครั้งหนึ่งเมื่อต่อสู้กองทัพเชียงใหม่ที่ตำบลป่าโมกข์น้อย สมเด็นพระนเรศวรฯ กับสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเรือพระองค์ละลำ ยิงพระแสงปืนรบข้าศึกซึ่งอยู่บนบก สมเด็จพระเอกาทศรถเห็นลูกปืนข้าศึกยิงเรือพระเชษฐาหนามาก จึงเอาเรือลำที่ทรงเองเข้าบังเรือสมเด็จพระนเรศวร ความในเรื่องพระราชพงศาวดารตอนที่ว่านี้ชวนให้คิดว่าน่าจะมีเรือเร็วเป็นเรือพระที่นั่ง สำหรับเสด็จเข้ารบพุ่งเอง แทนที่จะเป็นเรืออย่างในพระราชพิธี
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีพระอธิบายไปในทิศทางเดียวกันคือ “เรือพระที่นั่งซึ่งทรงอยู่ในเวลาปกตินั้นควรใช้เรือใหญ่ เพราะจะประทับอยู่สบาย แต่ถ้าเอาใช้เข้ารบด้วยแล้วจะอุ้ยอ้ายไม่ทันท่วงที ทั้งกีดม่านอันกั้นไว้เพื่อปกปิดรุงรัง เวลาเสด็จเข้าประจญศึกจะต้องเปลี่ยนเรือพระที่นั่งทรง เป็นเรือเพรียวเรือเร็วไล่หนีได้คล่องแคล่ว”
อ. รุ่งโรจน์ ชี้ด้วยว่า หลักฐานสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่เคยปรากฏหลักฐานว่ามีการใช้เรือพระราชพิธีในการออกรบเลย จากหลักฐานดังต่อไปนี้
1. ข้อความในเอกสารเรื่อง ยวนพ่าย เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จยกทัพเรือเพื่อที่จะขึ้นไปตีเมืองเชลียง กล่าวถึงเรือหลายประเภท อย่าง เรือแผดง เรือโยง เรือหุ้ม เรือห่อ เรือแห่ เรือคฤห เรือแคร่ เรือเครื่อง เรือครัว เรือซา และเรือแซ
2. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกว่า “พม่ายิงปืนมาถูกนายเริกคนหนึ่ง ซึ่งยืนรำดาบสองมืออยู่หน้าเรือตกลง” จากข้อความนี้ เป็นไปได้ว่าเรือรบไม่มีหัวเรือ (อย่างเรือในพระราชพิธี) นายเริกจึงรำดาบหน้าเรือได้
3. คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวถึงโรงเรือที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา แบ่งเป็น โรงเรือรบน้ำจืด โรงเรือทะเลใหญ่ และโรงเรือพระที่นั่ง ซึ่งมีเรือหัวรูปสัตว์รวมอยู่ด้วย จึงหมายความว่า ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาแยกเรือพระที่นั่ง (หัวรูปสัตว์) ออกจากเรือรบ
4. ลิลิตเสด็จไปขัดทัพพม่าเมืองกาญจนบุรี พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ตอนพรรณนาถึงขบวนทัพเรือ ไม่มีการกล่าวถึงเรือหัวรูปสัตว์และเรือไชยในขบวนทัพ
5. ลิลิตกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวไว้ชัดเจนว่า ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคใช้ในงานกฐิน “รำชูทิศทานกฐิน เสด็จทางสินโธทก ตกแต่งพยุหยาตรำ ขบวนนาวาเรียงเรียบ”
6. ตอนท้าย พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ระบุว่า “แล้วโปรดให้ช่างทำเรือพระที่นั่งกราบ พระที่นั่งประกอบขึ้นไว้เป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน” และ “แล้วทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงมาแล้วก็ได้ทรงกระทำเรือพระที่นั่งขึ้นไว้สำหรับแผ่นดิน เป็นเกียรติยศทั้ง 3 แผ่นดินแล้ว”
7.เมื่อครั้งเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) และเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)เป็นแม่ทัพปราบฮ่อ มีการจดบันทึกเกี่ยวกับเรือของแม่ทัพขณะเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวไว้ว่า “ที่โขลนทวารนั้นมีเรือกันยาดาดผ้าขาวบนหลังคา 2 ลำ” “เรือเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงนั้นเปนเรือยาวมีกันยาธรรมเนียม” จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า หากเรือพระราชพิธียกออกไปก็ควรจะมีบันทึกไว้ในเอกสารนี้
เท่ากับว่า พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเป็นหลักฐานเดียว (เท่ามีพบ) ที่ระบุการใช้เรือพระราชพิธีในการสงคราม ส่วนหลักฐานชิ้นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกลับละเลยบทบาทดังกล่าวประดุจดังไม่เคยมีเรือพระราชพิธีอยู่ในสมรภูมิรบใด ๆ เลย
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค” ต้องมีเรือพิฆาตอย่าง “เรือเสือ”?
- กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในบันทึกของชาวต่างชาติเป็นอย่างไร?
- ทำไมเรือในพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค มักเป็น “หัวสัตว์” ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
บทความ “เรือพระราชพิธี” โดย รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ตุลาคม 2567