กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในบันทึกของชาวต่างชาติเป็นอย่างไร?

ภาพกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในบันทึกของบาทหลวงตาชาร์ด

เดือนธันวาคม ปี 2562 มีรัฐพิธีสําคัญคือ การเสด็จพระราชดําเนินเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในวันที่ 12 ธันวาคม (เดิมกำหนดไว้วันที่ 24 ตุลาคม 2562 )

ในยุคปัจจุบันมีสื่อต่างๆ ร่วมบันทึกประศาสตร์ครั้งสําคัญของประเทศครั้งนี้มากมาย

Advertisement

ส่วนในอดีตที่ผ่านมา เรื่องราวของกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีชาวต่างชาติให้ความสนใจและบันทึกเช่นกัน ซึ่งรศ.ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในบทความชื่อ “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในเอกสารตะวันตกสมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์” (ศิลปวัฒนธรรม เดือนตุลาคม 2562)

กระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ภาพเขียนของชาวต่างชาติ

รศ. ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี ค้นคว้าเอกสารต่างชาติ มาเรียบเรียงให้เห็นภาพกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในอดีต เช่น สมัยกรุงศรีอยุธยา จากบันทึกข้อมูลของโปรตุเกส, ฮอลันดา, สเปน และ ฝรั่งเศส และสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากเอกสารของสวีเดน, รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

ตัวอย่างหนึ่งจากเอกสารของฮอลันดา โยส สเคาเต็น (Joost Schouten) ผู้จัดการบริษัทการค้าฮอลันดา (Manager of the Dutch East Indies Company) ประจํากรุงศรีอยุธยา รวมเวลา 8 ปี 2 รัชกาล คือ รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ในระหว่างนั้นนายสเคาเต็นได้ เขียนจดหมายเหตุบันทึกสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นในสยาม รวมถึงเรื่องกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคไว้ ดังนี้

มีประเพณีแต่โบราณนานมาแล้วว่า พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยามจะต้องแสดง พระองค์ให้ประชาชนเข้าชมพระบารมีปีละครั้งในเดือนตุลาคม ในการเสด็จออกให้ประชาชนเข้าชมพระ บารมีตามประเพณีนี้ ขุนนางในราชสํานักทุกคนจะต้องตามเสด็จพระราชดําเนินด้วย ขบวนแห่แหนจะ ประกอบด้วยเจ้านายผู้มีบรรดาศักดิ์และขุนนางแต่งตัวกันอย่างหรูหรา และตามเสด็จทั้งทางบกทางน้ำเป็น งานเอิกเกริก…

แต่ถ้าหากว่าเป็นการเสด็จพระราชดําเนินทางชลมารค การจัดรูปขบวนเป็นดังนี้ ขบวนแรกได้แก่ ขุนนาง 200 คน แต่ละคนมีเรือสวยงามนั่งมามีคนพาย 60 ถึง 80 คนทุกลํา ขบวนที่ 2 เป็นขบวนเรือเครื่อง ดนตรีดีดสี ตี เป่า 4 ลํา ถัดมา คือขบวนเรือหลวง 50 ลําของพระมหากษัตริย์มีคนพายลําละ 80 ถึง 90 คน ถัดมาคือขบวนเรือต้น สวยงามมากฉาบทองทั้งลํา และพายก็ฉาบทองด้วย ลําหนึ่งๆ มีคนพาย 90 ถึง 100 คน

แล้วจึงถึงเรือประทับของพระมหากษัตริย์ พระองค์ประทับอยู่บนเรือพระที่นั่งประหนึ่งพระพุทธรูป แทบพระบาทของพระองค์มีบุคคลสําคัญเป็นอันมากนั่งเฝ้าอยู่ ถัดมาคือขบวนของพระอนุชาธิราชแล้วจึง ถึงขบวนข้าราชการฝ่ายใน ขบวนสุดท้ายคือขบวนขุนนางข้าราชการ เพราะฉะนั้นในการเสด็จพระราช ดําเนินทางชลมารคจึงมีเรือเข้าขบวนรวมทั้งหมด 450 ลํา และมีคนประมาณ 25,000 ถึง 30,000 คนเข้าใน ขบวน เมื่อขบวนเสด็จพระราชดําเนินเสด็จผ่านที่แห่งใด ทั้งสองฝั่งแม่น้ําจะมีผู้คนพลเมืองจํานวนเหลือที่จะ คณานับก้มกราบอยู่บนเรือเล็กๆ ของเขาแน่นไปหมด”

เรือพระที่นั่งในกรุงสยาม ภาพเขียนของชาวต่างชาติ

สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพุทธศักราช 2454  ในครั้งนั้นมีชาวต่างชาติบันทึกสิ่งที่เห็นไว้เช่นกัน

บันทึกของ พันเอก ลี เฟบิเกอร์ ผู้แทนทางทหาร ประจำกองทัพบก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเข้าร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช บันทึกความตอนหนึ่งว่า

“ตอนบ่ายของวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคตามโบราณราชประเพณี พร้อมด้วยเครื่องสักการะและเครื่องราชูปโภคจำนวนมากมายหลายอย่าง ขบวนเคลื่อนไปตามลำน้ำเจ้าพระยาจนถึงวัดอรุณราชวราราม ขบวนเสด็จในวันนี้เป็นดังภาพความงดงามที่มีเอกลักษณ์และน่าประทับใจอย่างที่สุด เครื่องแต่งกายของชาวตะวันออกที่ดูแปลกตามีความสวยงามฉูดฉาด สีแดง สีฟ้า กับชุดเครื่องแบบขลิบทองของเหล่าทหารราชองครักษ์และเหล่าพระตำรวจหลวง ล้วนมีสีสันเฉกเช่นสีสายรุ้งที่สวยงามอย่างไม่มีที่ติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่บนพระราชยานทองคำด้วยพระอาการสงบนิ่งดุจดังองค์พระปฏิมา ทรงฉลองพระองค์ครุยกรองทอง และทรงพระมาลาปีกกว้างสีเทา ส่วนยอดพระมาลามีลักษณะคล้ายองค์พระเจดีย์ขนาดเล็กมาครอบไว้ ด้านข้างพระมาลาประดับด้วยขนนกที่งามหรู…”

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562