ทำไมเรือในพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค มักเป็น “หัวสัตว์” ?

เรือสุพรรณหงส์ พระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค
เรือสุพรรณหงส์ (ภาพจาก แฟ้มภาพมติชน)

ทำไมเรือใน “พระราชพิธี” พยุหยาตราทางชลมารค ต้องมีหัวเรือเป็นสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตในเทวตำนานมากมาย จารีตเหล่ามีเกิดขึ้นเมื่อใด เพื่ออะไร?

การซ้อมขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค
การซ้อมขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสพระราชพิธี มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 วันที่ 22 ตุลาคม 2567 (ภาพจาก แฟ้มภาพมติชน)

หลักฐานเรื่องเรือพระราชพิธีค่อนข้างมีจำกัด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ว่า กระบวนแห่เสด็จทางชลมารคใช้เรือยาวอย่างโบราณ ซึ่งคำว่า “เรือยาวอย่างโบราณ” นั้น ยังไม่มีข้อสรุปว่าเหมือนเรือยาวที่ชาวบ้านใช้ในการแข่งเรือหรือไม่

แต่จากหลักฐาน “โขนเรือพระราชพิธี” ซึ่งเก็บรักษาอยู่ในคลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้พบหัวเรือพระราชพิธีเป็นรูปหงส์ที่แกะสลักลวดลายอย่างประณีต มีขนาดไม่ใหญ่มาก สะท้อนว่าตัวเรือย่อมมีขนาดความกว้างไม่มากนัก ทั้งหัวเรือยังไม่เชิดตั้งขึ้นแบบหัวเรือรูปสัตว์ลำอื่น ๆ แต่เรียวพุ่งไปข้างหน้า ฉะนั้น หากเรือพระราชพิธีลำนี้สมบูรณ์ คงมีลักษณะคล้ายกันกับเรือยาวที่ใช้แข่งในปัจจุบัน

Advertisement

จึงชวนให้คิดว่า เรือพระราชพิธีก็คือเรือที่มีอยู่ในท้องน้ำอยู่แล้วนั่นแหละ แต่เอามาเพิ่มความวิจิตรพิสดาร โดยเฉพาะการเพิ่มหัวเรือรูปสัตว์เข้าไป เพื่อให้สมพระราชอิสริยยศ สมฐานะการเป็นเรือในพระราชพิธี

ปัจจุบันหลักฐานของเรือพระราชพิธีที่เก่าสุดมีอายุอยู่ช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ 22-23) จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

ทั้งนี้ มีหลักฐานเป็นบันทึกชิ้นแรก ๆ ที่ระบุถึงพัฒนาการครั้งสำคัญของเรือพระราชพิธี มีในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ปลายพุทธศตวรรษที่ 21, พ.ศ. 2091-2111) แห่งกรุงศรีอยุธยา คือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่บันทึกว่า “ศักราช 914 ฉลูศก (พ.ศ. 2095) ครั้งนั้นให้แปลงเรือแซเป็นเรือชัยและหัวสัตว์”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนอว่า การแก้หัวเรือเป็นรูปสัตว์มิใช่เพียงเพื่อความวิจิตรบรรจง แต่เพื่อให้สามารถติดตั้งปืนใหญ่บริเวณหัวเรือได้ด้วย เพราะก่อนแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ฝรั่งเริ่มนำวิทยาการปืนไฟเข้ามาในสยามแล้ว เรือพระราชพิธีจึงถูกปรับให้มีคุณสมบัติรองรับติดตั้งปืนไฟไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เราไม่ทราบได้ว่าความหลากหลายของหัวเรือรูปสัตว์เกิดขึ้นสมัยใดหรือเพื่ออะไรกันแน่ พบเพียงการบรรยายหัวเรือรูปสัตว์ที่ปรากฏใน ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งประพันธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2340 เพราะทำให้ทราบว่า หัวสัตว์สัมพันธ์กับตราลัญจกรของขุนนางข้าแผ่นดินทั้งหลาย ถอดความได้ดังนี้

พระยามหาอำมาตย์ เรือราชสีห์น้อย พระธรรมไตรโลก เรือคชสีห์ สมุหกลาโหม เรือคชสีห์ สมุหนายก เรือราชสีห์ พระยาเทพอรชุน เรือเลียงผาใหญ่ พระยาราชนิกูล เรือม้าใหญ่ หมื่นนรินทร์เสนี เรือเลียงผาเล็ก หมื่นศรีสหเทพ เรือม้าเล็ก

ซึ่งตราลัญจกรของขุนนางในสยามนั้น ปรากฏใน พระไอยการพระธรรมนูญ มาตราที่ 18-31 ที่บัญญัติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2178 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระอธิบายว่า ตราลัญจกรขุนนางควรมีก่อนหัวเรือรูปสัตว์ เพราะจะช่วยอธิบายได้ว่าหัวเรือรูปสัตว์สัมพันธ์กับตราลัญจกรขุนนางมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172-2199) เป็นอย่างน้อย

สำหรับขนบหัวเรือในขบวนเรือในพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค สันนิษฐานว่ามีความเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยเรื่อยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ดังจะเห็นว่าใน สมุดภาพขบวนพยุหยาตราเพชรพวง ซึ่งเชื่อว่าเป็นขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ยังไม่พบรูปเรือหัวสัตว์แต่ประการใด

ต่อมาใน กาพย์เห่เรือ ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง, พ.ศ. 2258-2298) จึงพบการกล่าวถึงเรือสุพรรณหงส์ แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นเรือลำทรงของพระเจ้าแผ่นดินในพระราชพิธีหรือไม่

เรือสุพรรณหงส์ พระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค
เรือสุพรรณหงส์ (ภาพจาก แฟ้มภาพมติชน)

ส่วน ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือหลักฐานแรกที่อธิบายถึงริ้วเรือลำทรงว่ามีเรือครุฑและเรือสุพรรณหงส์ ตามด้วย พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ที่กล่าวถึง “เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงษ์ ยาว 18 วา พื้นดำ”

สันนิษฐานว่าการเปลี่ยนแปลงหัวเรือพระที่นั่งเป็นสัตว์พาหนะของเทพเจ้าเกิดตั้งแต่ยุคอยุธยาตอนปลายแล้ว ก่อนจะปรากฏหลักฐานชัดเจนในยุคกรุงเทพฯ คือสมัยรัชกาลที่ 3 ที่สร้างเรือมงคลสุบรรณ หัวเรือเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ และสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ได้สร้างเรืออนันตนาคราช ซึ่งล้วนเป็นคติที่วนเวียนอยู่กับพระนารายณ์

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บทความ “เรือพระราชพิธี” โดย รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคาแหง


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ตุลาคม 2567