“เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” รางวัลเกียรติยศมรดกเรือโลก

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือสำคัญในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือสำคัญในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ชื่อเรือพระที่นั่งนี้มีกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต้นรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ราว พ.ศ. ๒๐๙๑

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เพื่อทดแทนเรือลำเดิมที่ได้สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เรือลำนี้มาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ประกอบพิธีลงน้ำเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔

Advertisement

พ.ศ. ๒๕๑๐ ซ่อมเพื่อใช้ชั่วคราวให้ทันใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้ากฐิน โดยมีบริษัท สหายสันต์ จำกัด เป็นผู้รับเหมาการซ่อมทำชั่วคราวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๐

พ.ศ. ๒๕๑๒ ซ่อมใหญ่ โดยซ่อมทำตัวเรือใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๒ จนถึงวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ต่อจากนั้นได้ทำการซ่อมทำลวดลายเรือและเครื่องหมายตกแต่งประกอบเรือตั้งแต่วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ จนถึงวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

พ.ศ. ๒๕๒๔ ซ่อมใหญ่เปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุชำรุดบางส่วน ตกแต่งลวดลาย ลงรักปิดทองทาสีเรือใหม่และอื่นๆ เพื่อให้ทันใช้ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ เริ่มซ่อมทำตั้งแต่วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๔ จนถึงวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยมีบริษัท สหายสันต์ จำกัด เป็นผู้รับเหมาซ่อมทำ

นอกจากความงดงามในศิลปกรรมที่ประกอบขึ้นเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ประกอบกับเป็นเรือที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยแล้ว ยังมีความสำคัญในการเป็นมรดกของโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกลอย่างยิ่งลำหนึ่ง ที่แสดงถึงความมีอัจฉริยะในการต่อเรือของช่างไทยโบราณ ซึ่งสามารถแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติได้อย่างดียิ่ง

นอกจากนี้ยังเป็นงานศิลปกรรมที่รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ จึงได้ให้การทะนุบำรุงรักษาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นอย่างดี จนสามารถนำมารับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพระราชพิธีต่างๆ มาจนปัจจุบัน อันถือได้ว่าเป็นการสืบต่อความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการต่อเรือและการเดินเรือ และการค้าขายทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกลซึ่งกำเนิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว

ด้วยความสำคัญของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ดังกล่าวมาแล้ว จึงทำให้ องค์การเรือโลก (World Ship Trust) แห่งสหราชอาณาจักร ให้ความสนใจส่งผู้แทนมาพิจารณามอบรางวัล “มรดกเรือโลก” แก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

ในวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ (ค.ศ. ๑๙๙๒) คณะกรรมการองค์การเรือโลก World Ship Trust ประกอบด้วย นายอีเวน เซาธ์บี-เทลยัวร์ (Mr. Ewen Southby-Tailyour) ประธานองค์การเรือโลก นายไมเคิล ไทแนน (Mr. Michael Tynan) นักกฎหมายประจำองค์การฯ และ นายเจมส์ ฟอร์ไซธ์ (Mr. James Forsythe) ได้เดินทางมายังราชอาณาจักรไทย และได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ คือ เหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลก ประจำ ค.ศ. ๑๙๙๒ (The World Ship Trust Maritime Heritage Award “Suphannahong Royal Barge”)

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเหรียญรางวัลดังกล่าวแก่อธิบดีกรมศิลปากรครั้งนั้นคือ นายสุวิชญ์ รัศมิภูติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลรักษาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ในคลองบางกอกน้อย

องค์การเรือโลก (World Ship Trust) แห่งสหราชอาณาจักร เป็นองค์การที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรการกุศลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๙ (พ.ศ. ๒๕๒๒) มี ดยุก ออฟ เอดินเบิร์ก (Duke of Edinburgh) เป็นองค์อุปถัมภ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและความรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเดินเรือ การต่อเรือ ส่งเสริมการทะนุบำรุงรักษาเรือสมัยโบราณ

อ้างอิงจาก

ณัฏฐภัทร จันทวิช. เรือพระราชพิธี จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร, ๒๕๓๙.