10 สุดยอดทฤษฎีสมคบคิดฮิตทั่วโลก ข้อเท็จจริงหรือเรื่องลวงโลกที่(บางคน)รอการพิสูจน์

ภาพประกอบเนื้อหา - Eugene A. Cernan นักบินอวกาศผู้ควบคุมภารกิจเดินไปที่พาหนะในปฏิบัติการสำรวจของนาซ่า (NASA) เมื่อ 13 ธ.ค. 1972 ภาพจาก AFP PHOTO / NASA / HARRISON H. SCHMITT

ทฤษฎีสมคบคิด 10 เรื่อง ข้อเท็จจริงหรือเรื่องลวงโลกที่รอการพิสูจน์

เมื่อเกิดปรากฏการณ์บางอย่างอันเป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมาก บางครั้งมักจะมีชุดคำอธิบายที่เป็นกระแสหลักที่คนส่วนใหญ่เชื่อถือ แต่ขณะเดียวกันก็มักมีบางกลุ่มที่มาพร้อมชุดคำอธิบายโต้แย้งกระแสหลัก ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นคำอธิบายกระแสรองซึ่งไม่เป็นที่เชื่อถือในคนส่วนใหญ่ และนี่ก็คือทฤษฎีที่รู้จักกันในชื่อว่า “ทฤษฎีสมคบคิด”

“ทฤษฎีสมคบคิด” (Conspiracy Theory) เป็นแนวคิดที่ปรากฏกันมานาน วลีนี้ถูกนำมาใช้แพร่หลายเป็นครั้งแรกในปี 1909 และกลายเป็นคำพูดติดปากในหมู่นักคิด นักวิชาการ ในปัจจุบัน วลีนี้มีใช้กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในสื่อสิ่งพิมพ์และในสื่ออินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงศตวรรษที่ 20-21 มีทฤษฎีสมคบคิดเกิดขึ้นมากมาย

Advertisement

สำหรับทฤษฎีสมคบคิด ก็คือการคิดและสรุป (กันเอาเอง) แต่อย่างน้อยยังเป็นการคิดแบบอาศัยหลักฐานและข้อมูล (แต่ก็มีข้อมูลทั้งที่จริงและไม่จริง) มาสนับสนุนบ้าง ซึ่งบางครั้ง หากมีข้อเท็จจริงก็เป็นข้อเท็จจริงปะปนอยู่เพียงเล็กน้อย

ข้อมูลในแง่มุมของทฤษฎีนี้มักถูกเผยแพร่ในรูปแบบบทความหรือเรื่องเล่า ไม่ว่าจะมีจุดประสงค์เพื่อล้างสมอง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ลบล้างความน่าเชื่อถือ แม้กระทั่งเพื่อความมั่นคง ทว่าทฤษฎีสมคบคิดก็ไม่อาจเป็นสิ่งที่ฟันธงว่าเป็นข้อเท็จจริงได้ เพราะบางครั้งสิ่งที่ถูกอธิบายโดยทฤษฎีนี้อาจไม่มีความจริงเลยก็เป็นได้ หรือมีเพียงบางส่วนเท่านั้น

หลายปีที่ผ่านมา มีเรื่องราวในมุมทฤษฎีนี้มากมาย สำหรับมุมมองจากหนังสือพิมพ์ The Independent ของอังกฤษ พวกเขาก็มีสุดยอดทฤษฎีสมคบคิด 10 อันดับตามมุมมองของพวกเขาเช่นกัน ซึ่งบางเรื่อง ในปัจจุบันนี้ก็มีผู้อธิบายชี้แจงแถลงเพิ่มเติมกันไปบ้างแล้ว

1. การลงจอดของยานอพอลโล 11

เรื่องการลงจอดของยานอพอลโล 11 ลงจอดบนดวงจันทร์ เป็นข้อถกเถียงที่คลาสสิกและยาวนานที่สุดอีกชิ้นก็ว่าได้ ทฤษฎีสมคบคิดมองว่าการลงจอดของยานดังกล่าวบนดวงจันทร์เมื่อปี 1969 รวมทั้งการเหยียบลงบนดวงจันทร์ของ นีล อาร์มสตรอง นั้นล้วนไม่มีความจริง (ซึ่งทำให้เหล่าทีมงานใน “ภารกิจ” โกรธมาก)

ทฤษฎีสมคบคิดอธิบายว่าในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในทศวรรษแห่งสงครามเย็น สหรัฐอเมริกากังวลเรื่องความรุดหน้าเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศของสหภาพโซเวียตว่าจะไปไกล จึงกุเรื่องภารกิจดังกล่าวขึ้นมา ส่วนวิดีโอและรูปถ่ายก็เป็นการจัดฉากขึ้นมา รวมทั้งธงชาติสหรัฐฯ ที่ปักบนดวงจันทร์ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีลักษณะปลิวคล้ายถูกลมพัด ทั้งที่บนดวงจันทร์ไม่มีลม รวมทั้งเงาของนักบินอวกาศที่ชี้ไปคนละทาง แม้ปัจจุบันองค์การนาซ่าจะออกมาชี้แจงเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เชื่อว่า ทีมจากสหรัฐฯ ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์อยู่ดี

ทฤษฎีสมคบคิด
ภาพถ่ายที่เผยแพร่โดย NASA แสดงให้เห็นนักบินอวกาศ Edwin Aldrin เคารพธงชาติสหรัฐอเมริกาบนพื้นผิวดวงจันทร์ ระหว่างภารกิจบนดวงจันทร์ของยานอะพอลโล 11 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 (ภาพถ่ายโดย NASA / AFP)

2. ตึกเพนตากอนไม่ได้ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายโจมตี

เรื่องตึกเพนตากอนไม่ได้ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายโจมตีในเหตุการณ์ 9/11 ทฤษฎีสมคบคิดกล่าวว่าไม่มีเครื่องบินลำใดบินชนตึกเพนตากอนในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 การที่ตึกระเบิดเป็นเพราะมิสไซล์ที่ทหารอเมริกันยิงออกมาจากภายในอาคาร นอกจากนั้นพวกเขายังอ้างหลักฐานว่า ไม่พบซากเครื่องบินโบอิ้ง 747 ของสายการบินอเมริกันอยู่ในบริเวณนั้น รัฐบาลซ่อมแซมตึกนี้เป็นลำดับสุดท้ายทั้งที่มีรายงานการระเบิดเป็นแห่งแรก พร้อมทั้งชี้จุดน่าสงสัยอื่นๆ เช่น หน้าต่างหลายบานไม่ได้รับความเสียหาย หรือหากเครื่องบินพุ่งชนตึก น่าจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้

3. การสร้างงานของ วิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare)

ทฤษฎีสมคบคิดสันนิษฐานว่า กวีและนักประพันธ์ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงโด่งดังไม่ได้สร้างสรรค์ผลงานเองทั้งหมด เรื่องนี้มีการถกเถียงกันเป็นเวลานาน โดยอ้างว่าเมื่อดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่มีบันทึกว่าเขาได้รับเงินค่าตอบแทนจากบทประพันธ์หรือได้รับการอุปถัมภ์จากใครเลย ดังนั้น ผลงานโดยเชคสเปียร์อาจเขียนโดยบุคคลอื่น อาทิ ฟรานซิส เบคอน, คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์, วิลเลียม สแตนลีย์ และบุคคลอื่นๆ อีกหลายคน

สำหรับข้อสันนิษฐานที่ดูสุดโต่งที่สุดก็คงจะเป็นข้อสันนิษฐานที่ว่าเชคสเปียร์ เป็นคนคนเดียวกับ ชีค อัล ซูบาร์ (Sheikh al-Zubair) กวีและนักเขียนบทละครซึ่งเป็นชาวเมืองบัสรา ประเทศอิรัก ในศตวรรษที่ 16 โดยเชื่อกันว่าผลงานของทั้งคู่คล้ายคลึงกัน

4. พลังงานที่ไม่มีวันหมด (Free energy) มีโทษมากกว่าเป็นประโยชน์

เรื่องพลังงานทดแทน หรือพลังงานที่ไม่มีวันหมด ได้รับการพูดถึงอย่างมากในฐานะทางเลือกใหม่ท่ามกลางภาวะที่พลังงานเช่นน้ำมันและถ่านหินกำลังหมดไปทุกขณะ

พลังงานที่นำมาทดแทนนี้คือการนำสิ่งที่อยู่รอบตัวมาใช้เป็นพลังงาน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก๊าซชีวภาพ การแปรรูปขยะ มูลสัตว์และน้ำเสีย แต่คนบางกลุ่มออกมาแย้งว่าพลังงานทดแทนเป็นสิ่งกระทบกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทำให้พลังงานเป็นสิ่งที่หามาได้ง่ายๆ และทำให้เราไม่รู้คุณค่าของพลังงาน ใช้กันอย่างสิ้นเปลือง

ว่ากันว่าการต่อต้านแนวคิดพลังงานทดแทนเชื่อมโยงกับทฤษฎีการจัดระเบียบโลกใหม่ของสมาคมลับต่างๆ ซึ่งบอกกันว่าสมาชิกส่วนใหญ่มีทั้งบรรดานักการเมืองและกลุ่มนายทุนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอันสูญเสียผลประโยชน์จากแนวคิดนี้

5. ปริศนาสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา (Bermuda Triangle)

คงเป็นที่รู้กันดีว่าสามเหลี่ยมปีศาจนี้ได้กลืนกินทุกอย่างที่ผ่านเข้าไปไม่ว่าจะเป็นเรือหรือเครื่องบิน ซึ่งสามเหลี่ยมนี้อยู่บริเวณจุด 3 จุด เป็นรูปสามเหลี่ยมด้านไม่เท่า ได้แก่ เปอร์โตริโก ปลายสุดของมลรัฐฟลอริดาในสหรัฐอเมริกา และเกาะเบอร์มิวดา ช่วงทศวรรษ 1950 เรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่และเครื่องบินรบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หายไปอย่างไร้ร่องรอย นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่เกิดจากธรรมชาติ เช่น สภาพภูมิอากาศแปรปรวนฉับพลัน น้ำวนจากอุโมงค์ใต้ทะเล พายุทอร์นาโด หรือการแปรผันของสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งนี่เป็นคำอธิบายกระแสหลักและเป็นที่เชื่อถือกันอย่างแพร่หลาย แต่ก็มีชุดคำอธิบายโต้แย้งจากบรรดานักทฤษฎีสมคบคิดว่า มีสิ่งมีชีวิตนอกโลกอยู่เบื้องหลังการสูญหายของสิ่งต่างๆ ในสามเหลี่ยมปีศาจนี้

6. แผนจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order)

เคยเชื่อกันว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังในการจัดระเบียบโลกใหม่ คอยควบคุมระบบการเงินและอำนาจการปกครองของโลกนี้ เชื่อกันว่าอาจมีสมาคมลับที่เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ เช่น กลุ่มบิลเดอร์เบิร์ก (ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1954) ลัทธิอิลลูมินาติ (ก่อตั้งขึ้นในเยอรมนี ราว ค.ศ. 1776) และ ลัทธิฟรีเมสัน (องค์กรลับของชาวยิว ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 37) เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง มีการโยงสัญลักษณ์มากมายเพื่อเชื่อมโยงถึงสมาคมลับเหล่านี้ เช่น สัญลักษณ์เมโซนิกของลัทธิฟรีเมสันตามตึกอาคารต่างๆ สัญลักษณ์เพนตาแกรม (ดาว 5 แฉก) ในนิวยอร์ก สัญลักษณ์ ออล-ซีอิ้ง-อาย (ตาที่สามบนยอดพีระมิด) ของอิลลูมินาติ ที่ปรากฏอยู่บนเหรียญเงินและธนบัตรอเมริกัน

กล่าวกันว่ามีนักธุรกิจ นักการเมือง และบรรดาผู้มีชื่อเสียงหลากหลายวงการเป็นสมาชิกของสมาคมลับเหล่านี้ เช่น จอร์จ วอชิงตัน, เฮนรี่ ฟอร์ด, บีโธเฟ่น เป็นสมาชิกของฟรีเมสัน เรื่องราวเหล่านี้ต่อมาถูกนำไปขยายความต่อและสร้างหลักฐานเพื่อสนับสนุนทฤษฎีโดยนักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์

7. การใช้หมวกที่ทำจากแผ่นฟอยล์เพื่อป้องกันการถูกสะกดจิต

มีคนเชื่อว่าหากสวมหมวกที่ทำจากแผ่นฟอยล์ (ตะกั่วผสมดีบุก) จะป้องกันการถูกควบคุมสมองหรือการสะกดจิต อีกทั้งยังช่วยป้องกันการคุกคามด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ข้อมูลดังกล่าวเป็นการปะติดปะต่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคนที่เชื่อเรื่องนี้อยู่ทั่วโลก มีทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง หรือในญี่ปุ่นก็มีลัทธิที่เรียกว่า Pana-Wave มีสมาชิกประมาณ 1,200 คน ที่เชื่อว่ามีบางกลุ่มพยายามปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อควบคุมจิตใจให้ปฏิบัติตามคำสั่ง หากมีการสวมหมวกฟอยล์ไว้จะช่วยป้องกันคลื่นแม่เหล็กได้

8. พอล แมคคาร์ทนีย์ เสียชีวิตไปแล้ว

มีความเชื่อกันว่า เซอร์พอล แมคคาร์ทนีย์ สมาชิกวงเดอะบีเทิลส์เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ ค.ศ. 1966 และเซอร์พอล คนที่เห็นอยู่ในวงหลังจากนั้น เชื่อกันว่าเป็นชายหนุ่มที่มีใบหน้าและเสียงคล้ายกับเขา  พวกนักทฤษฎีสมคบคิดพากันคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง โดยดูจากเนื้อเพลงของเดอะบีเทิลส์ที่มีความลับซ่อนอยู่ โดยกล่าวอ้างว่าจอห์น เลนนอน เคยพูดเกี่ยวกับการ เพลย์ แบ็ควาร์ด (การอัดเสียงที่ทำให้เนื้อเพลงเล่นย้อนกลับ ซึ่งมีนัยยะสื่อถึงซาตานและความตาย) ระหว่างที่กำลังจะเล่นเพลง Blackbird จอห์น เลนนอนพูดเหมือนว่าพอลตายไปแล้ว และคิดถึงเพื่อนร่วมวงผู้นี้ นักทฤษฎีสมคบคิดจึงปักใจว่าพอลได้เสียชีวิตและถูกแทนที่โดย วิลเลียม แคมป์เบลล์ ผู้ชนะการประกวดเลียนแบบศิลปินเพื่อเหตุผลทางการตลาด แม้ภายหลังสมาชิกวงเดอะบีเทิลส์จะออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนเลิกเชื่อเรื่องนี้

9. การสิ้นพระชนม์อย่างมีเงื่อนงำของเจ้าหญิงไดอาน่า (Princess Diana) 

เจ้าหญิงไดอาน่า สิ้นพระชนม์พร้อมกับ โดดี้ อัล ฟาแยซ (Dodi al Fayez) คนรักใหม่ของพระนางจากเหตุการณ์รถชนในปารีส แม้ว่าการสิ้นพระชนม์ของพระนางจะมีข้อสรุปจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่ยังมีคนบางกลุ่มเชื่อว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่อุบัติเหตุ และมองว่าเป็นการฆาตกรรม

คนกลุ่มดังกล่าวให้เหตุผลว่าบรรดาราชวงศ์ไม่ต้องการให้เจ้าหญิงอภิเษกสมรสกับคนรักใหม่จึงวางแผนฆาตกรรมพระนาง อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เป็นไปตามทฤษฎีสมคบคิดก็ยังสร้างรายได้ให้กับสำนักพิมพ์และสถานีโทรทัศน์ต่างๆ มากมายที่เผยแพร่เรื่องนี้

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าหญิงไดอาน่า ลงนามในหนังสือแขกที่วัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) ระหว่างการเสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ (Kraipit PHANVUT / AFP)

10. ความลับเรื่องมนุษย์ต่างดาว ที่เมืองรอสเวลล์ รัฐนิวเม็กซิโก

จากเหตุการณ์ประหลาดที่พบจานบินตกในเมืองรอสเวลล์ ในวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1947 หลายคนเชื่อว่ากองทัพสหรัฐฯ ปิดบังประชาชนจากเหตุการณ์จานบินตก โดยกองทัพอ้างว่า วัตถุบินได้เป็นเพียงบอลลูนตรวจสภาพอากาศเท่านั้น มันทำให้คนบางกลุ่มไม่เชื่อ พากันคิดว่ากองทัพอากาศได้ปกปิดข้อมูลและเก็บตัวอย่างชิ้นส่วนของยานรวมทั้งซากของมนุษย์ต่างดาวกลับไปยังฐานทัพ และหลังจากนั้นก็ปกปิดเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยการนำหลักฐานไปซ่อนและเขียนรายงานเกี่ยวกับสิ่งที่ค้นพบเสียใหม่ แม้ว่าเวลาจะผ่านมาหลายสิบปี ผู้คนที่สงสัยเรื่องนี้ก็พยายามหาความจริงกันต่อไป

จาก 10 เรื่องดังกล่าวดูเหมือนว่า บางเรื่องที่อธิบายโดยทฤษฎีสมคบคิดก็ดูค่อนข้างพยายามใช้เหตุผลมาอ้างอิงอยู่ แต่บางเรื่องก็ดูเหมือนว่าไม่ค่อยสมเหตุสมผล ถึงอย่างไรการตัดสินใจเชื่อเรื่องต่างๆ นั้นคงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ชุดคำอธิบายเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชื่อเท่านั้น ทางเลือกย่อมอยู่ที่ตัวบุคคล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “10 สุดยอดทฤษฎีสมคบคิดที่ฮือฮาทั่วโลก : ข้อเท็จจริงหรือเรื่องลวงโลกที่ยังรอการพิสูจน์” เขียนโดย วารยา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2552


แก้ไขปรับปรุงในระบบออนไลน์เมื่อ 15 มกราคม 2566