กำเนิดเพลง “Let It Be” เซอร์พอล (Paul McCartney) แต่งเพลงนี้เพื่อสื่อถึงใคร

(ฉากหลัง) วงเดอะบีเทิลส์ (The Beatles) เมื่อปี 1966 ระหว่างแถลงข่าวทัวร์ในญี่ปุ่น (ภาพจาก JIJI PRESS / AFP)

เซอร์พอล แม็กคาร์ทนีย์ (Paul McCartney) ตำนาน “สี่เต่าทอง” เดอะบีเทิลส์ (The Beatles) ไม่เพียงแค่มีชื่อเสียงเรื่องผลงานหน้าเวที แต่ในการสร้างสรรค์งาน โลกแห่งเสียงดนตรีก็เป็นที่ทราบกันดีว่า เซอร์พอล เป็นนักแต่งเพลงมือฉมังซึ่งมักเขียนเนื้อหาในเพลงสื่อถึงบุคคลโดยไม่ได้เอ่ยชื่อบุคคลนั้นในเนื้อเพลงโดยตรง เช่นเดียวกับเพลง “Let It Be” ซึ่งเซอร์พอล เขียนถึงแม่ของเขาเองด้วย (“สี่เต่าทอง” เป็นสมญานามที่คนไทยคุ้นชินกันมาเท่านั้น อธิบายกรณีใกล้กันคือ การเรียกขานสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลว่า “หงส์” แต่แท้จริงแล้วสัญลักษณ์ต้นทางของสโมสรเป็นสัตว์ปีกที่ไม่ใช่ “หงส์”) 

บทเพลง “Let It Be” ถูกเขียนโดยเซอร์พอล (ผู้เขียนหลัก) และมีเครดิตของจอห์น เลนนอน ร่วมด้วย เพลงนี้ถูกบันทึกเสียงระหว่างช่วงค.ศ. 1969-70 และปล่อยออกมาเป็นซิงเกิลในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1970

มีข้อมูลว่า เซอร์พอล เขียนเพลงนี้ตั้งแต่ปี 1968 ระหว่างช่วงทำงานในอัลบั้ม The Beatles หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า “The White Album” แต่เพลงฉบับที่ อารีธา แฟรงคลิน (Aretha Franklin) ตำนานนักร้องหญิงสายโซลปล่อยออกมากลับปล่อยเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1970 ก่อนหน้าเวอร์ชั่นของเดอะบีเทิลส์เอง

เดิมทีนั้นเป็นที่รับรู้กันว่า ไอเดียตั้งต้นของเพลงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากที่เซอร์พอล ฝันถึงแม่ของเขาเอง (แม่ของพอลชื่อ Mary) ดังเช่นเนื้อร้องที่ขึ้นต้นว่า

“When I find myself in times of trouble/Mother Mary comes to me”
“เมื่อฉันพบว่าตัวเองอยู่ในห้วงแห่งปัญหา พระแม่มารีย์เข้ามาหาฉัน”

ในฝันของเซอร์พอล แม่ของนักแต่งเพลงคนดังเข้ามาปลอบโยน และให้กำลังใจว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี เซอร์พอล ระบุว่า เขาจำไม่ได้ว่าในความฝันนั้น แม่ของเขาเองใช้คำว่า “Let it be” หรือไม่ แต่โดยรวมแล้ว “สาร” ในการปลอบโยนและให้คำแนะนำก็ออกมาลักษณะเดียวกันวลีนั้น แต่ในการให้สัมภาษณ์กับบิลบอร์ด เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 ช่วงหนึ่งเซอร์พอล เล่าถึงโอกาสที่เขาได้ทำงานกับคานเย เวสต์ (Kanye West) แรปเปอร์คนดังเมื่อไม่กี่ปีก่อนว่า เขาคุยกับคานเย เล่าที่มาของเพลง Let It Be ว่าในความฝัน แม่ของเขามาบอกว่า “Don’t worry, just let it be.”

ในบริบทภาพกว้าง ช่วงเวลานั้น เดอะบีเทิลส์ กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องรับมือกับปัญหา เนื้อหาในหนังสือ Many Years From Now หนังสือชีวประวัติของเซอร์พอล ก็บอกเล่าโดยอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของมือเบสประจำวงสี่เต่าทองว่า ในช่วงที่พวกเขามีปัญหา เขาฝันถึงแม่ที่เสียชีวิตไปแล้วเมื่อ 10 ปีก่อน “มันเยี่ยมยอดมากที่ได้พบเห็นแม่อีก”

ในช่วงที่เซอร์พอล เขียนเพลงนี้ระหว่างห้วงยากลำบากของวงที่ทำงานในอัลบั้ม “White Album” และคำว่า “times of trouble” ในเพลงนั้น เซอร์พอลพยายามสื่อถึงความรู้สึกเกี่ยวกับการมีปากเสียง ความไม่ลงรอยกัน และการทำงานในอัลบั้มดังกล่าว แต่ด้วยเนื้อเพลงมักทำให้คนฟังเข้าใจว่าเป็นเพลงที่อ้างอิงถึงแนวคิดทางศาสนา ซึ่งเซอร์พอล เองก็ไม่ได้โต้แย้งความคิดผู้ฟังที่คิดแบบนั้น

“ผมรู้สึกค่อนข้างดี ถ้าผู้คนอยากใช้มัน(เพลง)เพื่อช่วยในเรื่องศรัทธาของพวกเขา ผมไม่มีปัญหากับมันเลย ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องดีที่มีศรัทธา ไม่ว่าจะเกี่ยวกับอะไรก็ตาม” เซอร์พอล กล่าวและถูกอ้างอิงในหนังสือ Many Years From Now

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเพลงนี้ถูกปล่อยออกมาเพียงเดือนเดียว เซอร์พอล ประกาศลาออกจากวง ในช่วงเวลานั้น แฟนมองเพลงนี้ในฐานะการสื่อสารว่า “ปล่อยให้วงเดินไปตามทางของมัน” ขณะที่เซอร์พอล ยอมรับว่า เมื่อเขียนเพลงที่มีเนื้อหาสื่อสารในแง่โดยรวม คนฟังสามารถนำบริบทในเพลงไปสื่อความหมายเชื่อมโยงกับอะไรก็ได้ แต่การทำเช่นนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายอะไร

ชื่อเพลง “Let It Be” ยังถูกใช้เป็นชื่อเดียวกับสารคดีเกี่ยวกับการซ้อม และอัดเพลงสำหรับสตูดิโออัลบั้มที่ 12 ของวง สารคดีนี้ฉายเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1970 (ปล่อยออกมาหลังวงแตกแค่เดือนเดียว) แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 50 ปี ในการให้สัมภาษณ์กับบิลบอร์ด (Billboard) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2019 เซอร์พอล ยอมรับว่า หลังเวลาผ่านไป มุมมองที่เขามีต่อสารคดีนี้เปลี่ยนแปลงไปด้วย

เซอร์พอล อธิบายว่า ช่วงเวลาที่ปล่อยสารคดีออกมาใกล้เคียงกับช่วงที่วงแตก การรับรู้เกี่ยวกับสารคดีนั้นก็มักเป็นการรับรู้ถึงช่วงเวลาที่น่าเศร้า หากมีการนำฟุตเทจ (ภาพ) ที่บันทึกจากช่วงเวลานั้นมาทำใหม่ ก็น่าจะไม่ได้ใช้ชื่อสารคดีเดิม และจะตั้งชื่อใหม่

หากย้อนกลับไปในความทรงจำของช่วงเวลาอัดเพลงนี้ในสตูดิโอ รายงานข่าวจากสื่อชื่อดังของแวดวงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในสหรัฐฯ เผยว่า จอห์น เลนนอน ก็ไม่ได้พึงพอใจกับเพลง Let It Be มากนัก และยังถามติดตลกกึ่งหยอกบรรยากาศในช่วงอัดที่่ค่อนข้างจริงจังว่า “เราทำเสียงขำในช่วงโซโล่เลยได้ไหม?” ขณะที่วงเกลาเพลงนี้ร่วมวัน และบันทึกเพลงเบื้องต้นในสตูดิโอแอปเปิลเมื่อวันที่ 31 มกราคม 1969

หลังจากถ่ายทำและอัดเสียงร่วมในวันนั้น วงก็ส่งมอบเทปจำนวนมากให้กับ Glyn Johns ผู้ทำหน้าที่วิศวกรเพื่อรวบรวมเป็นอัลบั้ม สำหรับเวอร์ชั่นที่เขาเลือก ก็มีรายงานว่าจอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison) ไม่ชอบท่อนโซโลที่ตัวเองเล่นในเวอร์ชั่นนั้น และต้องอัดเทคใหม่แทน ซึ่งเวอร์ชั่นที่จอร์จ อัดใหม่คือเวอร์ชั่นที่ปล่อยเป็นซิงเกิล

เวลาผ่านไปจนถึงช่วงต้นปี 1970 วงตัดสินใจกลับมาปรับปรุงบางเพลงที่อัดไปแล้ว ซึ่งรวมถึงเพลง Let It Be ด้วย เซอร์พอล แทนที่ไลน์เบสของจอห์น ด้วยไลน์เบสของตัวเอง ส่วนจอร์จ แฮร์ริสัน อัดท่อนโซโล่อีกฉบับ (ถูกใช้ในอัลบั้ม) มีเพิ่มเสียงเครื่องเป่าทองเหลืองเข้าไปด้วย และประสานเสียงร้องโดยแฮร์ริสัน, เซอร์พอล และลินดา แม็กคาร์ทนีย์

ในช่วงเดือนมีนาคม 1970 จอห์น เลนนอน (ที่ไปทำงานเดี่ยว) และอัลเลน ไคลน์ (Allen Klein) ผู้จัดการวงบีเทิลส์ เรียก ฟิล สเปกเตอร์ (Phil Spector) โปรดิวเซอร์ที่ทำงานกับจอห์น เลนนอน ในซิงเกิล “Instant Karma!” และจอห์น ค่อนข้างพอใจกับงานของสเปกเตอร์ เข้ามาเพื่อสานงานจากตัวเทปที่อัดเมื่อปี 1969

สเปกเตอร์ คือคนที่ได้เครดิตว่าเป็น “โปรดิวเซอร์” ในเวอร์ชั่น LP (หลังจากที่ซิงเกิลถูกปล่อยมาแล้ว) แม้ว่าจะเป็นผลงานที่มิกซ์ (Mix) มาจากเทปเดียวกันที่ทำออกมาเป็นซิงเกิล ขณะที่เซอร์พอล ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า เขาไม่ค่อยชอบเวอร์ชั่นที่สเปกเตอร์ ทำ

สเปกเตอร์ เล่าความหลังในช่วงเวลานั้นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกวงเดอะบีเทิลส์ เสมือน “โซนสงคราม” เลยทีเดียว และเอ่ยว่า เขาพยายามทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้ภายใต้สถานการณ์นั้น และบอกว่า “ถ้ามันห่วย ผมก็ถูกมองว่าต้องรับผิดชอบมัน, ถ้ามันประสบความสำเร็จ มันคือผลงานของเดอะบีเทิลส์”

 


อ้างอิง :

Levine, Robert. “Paul McCartney on Life, Art and Business After the Beatles”. Billboard. Online. Published 14 NOV 2019. Access 9 DEC 2019. <https://www.billboard.com/articles/columns/rock/8543413/paul-mccartney-billboard-cover-story-interview-2019>

Schaal, Eric. “Who Paul McCartney Was Thinking About When He Wrote ‘Let It Be'”.
CheatSheet. Online. Published 18 NOV 2019. Access 9 DEC 2019. <https://www.cheatsheet.com/entertainment/who-paul-mccartney-was-thinking-about-when-he-wrote-let-it-be.html/>

100 Greatest Beatles Songs. Rolling Stone. Online. Published 19 SEP 2011. Access 9 DEC 2019. <https://www.rollingstone.com/music/music-lists/100-greatest-beatles-songs-154008/let-it-be-2-181513/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ธันวาคม 2562