ตามรอยทางม้าลาย ที่ Abbey Road บนปกอัลบั้ม “The Beatles” และความเปลี่ยนแปลงถึงปัจจุบัน

ผู้ร่วมแสดงในงานมิวสิคัล Let It Be ร่วมถ่ายภาพที่ ทางม้าลาย Abbey Road ในลอนดอน เมื่อ 8 ส.ค. 2014 วาระครบรอบ 45 ปี อัลบั้ม Abbey Road ภาพโดย LEON NEAL / AFP

ถ้าพูดถึงภาพถ่ายอมตะที่ตราตรึงในความทรงจำคนทั่วโลก เชื่อว่าภาพปกอัลบั้ม Abbey Road ขณะสมาชิกวง The Beatles เดินเรียงแถว ก้าวขาข้ามทางม้าลาย ย่อมต้องเป็นภาพระดับไอคอนก็ว่าได้ แต่กว่าจะได้ภาพนี้มา เบื้องหลังและที่มาที่ไปของภาพนี้เป็นอย่างไรกันแน่

ภาพดังกล่าวเป็นภาพปกของสตูดิโออัลบั้มชื่อ แอ็บบี้ โร้ด (Abbey Road) วางจำหน่ายเมื่อปลายเดือนกันยายน ค.ศ. 1969 อัลบั้มดังกล่าวเป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 11 ของวงระดับตำนานจากลิเวอร์พูล (Liverpool)

Advertisement

เบื้องหลังการถ่ายภาพ

ข้อมูลจากบีบีซีระบุว่าภาพดังกล่าวถ่ายเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1969 ทั้งนี้ เดิมทีแล้วไอเดียถ่ายภาพปกอัลบั้มไม่ได้เริ่มจากภาพเดินข้ามทางม้าลาย แต่จากคำบอกเล่าของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อัลบั้มนี้อย่าง Brian Southall ระบุว่า ท้ายที่สุดแล้ววงเปลี่ยนมาเป็นไอเดียจากภาพสเก็ตช์ของพอล แม็คคาร์ทนีย์ (Paul McCartney) ที่วาดเป็นคนลักษณะเป็นโครงรูปร่างแบบแท่งกำลังข้ามทางม้าลาย

ช่างภาพที่กดชัตเตอร์ภาพนี้คือ เอียน แม็กมิลแลน (Iain Macmillan) เพื่อนสนิทของไบรอัน นั่นเอง

ไบรอัน เล่าว่า เอียน (คนถ่ายภาพ) มีเวลาให้ถ่ายเพียง 15 นาทีเท่านั้น การถ่ายภาพเริ่มราวช่วง 11:35 ของวันดังกล่าว ไบรอัน เล่าไว้ว่า

“เขา (เอียน) ยืนบนบันไดต่อ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยรั้งการจราจรเอาไว้ ขณะที่สมาชิกวงเดินไปเดินมาสักระยะหนึ่งก็เป็นอันเสร็จ”

ภาพที่กดมามีเพียง 7-8 ใบเท่านั้น หลังจากพอล แม็คคาร์ทนีย์ ตรวจเลือกแล้ว ภาพที่เลือกมาใช้เป็นภาพที่สมาชิกวงเดินจากฝั่งซ้ายไปขวา หากสังเกตที่เท้าจะพบว่า พอล แม็คคาร์ทนีย์ เดินเท้าเปล่า ขณะที่สมาชิกคนอื่นสวมรองเท้า เซอร์พอล ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Life ในภายหลังถึงสาเหตุที่เดินเท้าเปล่าเพราะ เป็นวันที่อากาศร้อน

หลังจากอัลบั้มวางขาย และกลายเป็นภาพในความทรงจำของคนทั่วโลก นักท่องเที่ยวมักเดินทางมาที่ลอนดอนเหนือทุกปี บางครั้ง แฟนเพลงที่มาถ่ายภาพตามแบบต้นฉบับก็ทำให้ผู้ขับรถสัญจรในท้องถิ่นเป็นประจำรู้สึกไม่ถูกใจ

ควันหลงอีก 50 ปีต่อมา

รอน (Ron) คนขับแท็กซี่รายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า เขาผ่านถนนเส้นนี้ประจำ และมักพบเห็นคนมาถ่ายภาพบนทางม้าลายในช่วงที่รถว่างพยายามเลียนแบบภาพถ่ายต้นฉบับ

รายงานข่าวจากบีบีซีเมื่อปี 2009 ระบุว่า ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับคนที่พยายามถ่ายรูปบนทางม้าลายกี่ครั้งต่อปี แต่สิ่งที่แน่ชัดคือ หน่วยงานท้องถิ่นต้องทาสีกำแพงฝั่งที่ติดกับทางม้าลายทุก 3 เดือนเพื่อกลบภาพกราฟฟิตี้ของแฟนๆ

ขณะที่ทางม้าลายก็เพิ่งถูกทางการท้องถิ่นแห่งเวสต์มินิสเตอร์ ซิตี้ (Westminster City Council) ทาสีใหม่อีกครั้งในช่วงล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อต้นปี 2020

โฆษกของทางการท้องถิ่นระบุว่า ทางม้าลายแห่งนี้มีผู้คนคับคั่งมาก และต้องทาสีซ้ำใหม่เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถและท้องถนน

ความเดิมของท้องถิ่น

รายงาน “ตามรอย The Beatles ที่ Abbey Road ต้องทำยังไงถึงจะได้ภาพเหมือนปกอัลบั้ม” ในเว็บไซต์ประชาชาติ เล่าถึงข้อมูลของย่านนี้ว่า เดิมทีแล้ว Abbey Road เป็นถนนธรรมดาทั่วไปอีกสายหนึ่งในย่าน Camden (แคมเดน) ซึ่งเป็นย่านที่พักอาศัยทางตอนกลางค่อนไปทางเหนือของลอนดอน (London)

กระทั่งภาพปกอัลบั้ม Abbey Road โด่งดังขึ้นมา จึงส่งอิทธิพลต่อการท่องเที่ยว สำนักงานมรดกทางวัฒนธรรมอังกฤษถึงกับขึ้นทะเบียนทางม้าลายบนถนน Abbey Road เป็นมรดกทางวัฒนธรรมชั้นที่ 2 ของประเทศเมื่อปี 2010 โดยอธิบายเหตุผลว่าทางม้าลายนี้สร้างชื่อเสียงระดับนานาชาติและยังแสดงให้เห็นถึงบทบาททางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับผู้สนใจไปเยือน การเดินทางไป Abbey Road ทำได้โดยนั่งรถไฟใต้ดินสาย Jubilee (สายสีเทา) ลงที่สถานี St. John’s Wood เมื่อเดินออกจากสถานีจะเจอสี่แยก ให้เดินข้ามทางม้าลายไปทางถนน Groove End

เดินไปเรื่อย ๆ ผ่านตรอกซอยต่างๆ ก็ไม่ต้องสนใจ ให้เดินตรงไปจนกว่าจะเจอถนนเส้นหนึ่งตัดขวางหน้า มีวงเวียนอยู่ตรงกลางแยก ทางฝั่งขวามือของวงเวียนนั้นแหละที่เขาเรียกกันว่า Abbey Road

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า “ทางม้าลายที่เห็นกันในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ทางม้าลายเดียวกันกับที่ The Beatles ถ่ายปกอัลบั้ม เพราะทางม้าลายอันเดิมนั้นอยู่หน้า Abbey Road Studio ที่ The Beatles ใช้เป็นห้องอัดเสียง แต่ต่อมามีการย้ายทางม้าลายเข้ามาตรงแยก ห่างจากจุดเดิมราว ๆ 50 เมตร”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Pollard, Lawrence. “Revisiting Abbey Road 40 years on”. BBC. Online. Published 7 AUG 2009. Access 25 JAN 2022. <https://web.archive.org/web/20211020204726/http://news.bbc.co.uk/1/hi/8188475.stm>

Snapes, Laura. “Abbey Road zebra crossing repainted in coronavirus lockdown”. The Guardian. Published 27 MAR 2020. Access 25 JAN 2022. <https://www.theguardian.com/music/2020/mar/27/abbey-road-crossing-repainted-coronavirus-lockdown-beatles-album>

ท้องฟ้าสีเทา. “ตามรอย The Beatles ที่ Abbey Road ต้องทำยังไงถึงจะได้ภาพเหมือนปกอัลบั้ม”. ประชาชาติ. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 8 สิงหาคม 2562. เข้าถึงเมื่อ 25 มกราคม 2565. <https://www.prachachat.net/blogger-square/music-talk/news-358558>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2565