ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังจากนำเสนอ 5 เรื่อง “ที่สุด” พระราชโอรสและพระราชธิดารัชกาลที่ 5 ตอนที่ 1 ไปแล้ว (คลิกอ่านได้ที่นี่) โอกาสนี้ขอนำเสนอ 5 เรื่อง “ที่สุด” ตอนที่ 2
5 เรื่อง “ที่สุด” พระราชโอรสและพระราชธิดารัชกาลที่ 5
มกุฎราชกุมารพระองค์แรก – เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (เดิมคือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ) เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2421
ช่วงเวลานั้น สยามยังคงมีตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” อยู่ คือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ซึ่งตำแหน่งนี้โดยนัยคือว่าที่พระมหากษัตริย์องค์ต่อไป อย่างไรก็ตาม กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2428 ขณะพระชนมายุ 48 พรรษา
รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า ควรจัดการเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ให้ชัดเจน จึงทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และทรงสถาปนาตำแหน่ง “มกุฎราชกุมาร” ขึ้น จากนั้นทรงสถาปนาพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2429
เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สวรรคตด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 ขณะทรงมีพระชนมายุ 16 พรรษาเท่านั้น
พระราชโอรสที่ทรงศึกษาต่อต่างประเทศรุ่นแรก – กรมพระจันทบุรีนฤนาถ, กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์, กรมหลวงปราจิณกิติบดี และกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
เมื่อพระราชโอรสเจริญพระชันษาขึ้น รัชกาลที่ 5 จึงทรงส่งบรรดาพระราชโอรสไปศึกษาต่อยังประเทศยุโรปในหลายสาขา เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเมืองให้ก้าวหน้า
พระราชโอรสที่รัชกาลที่ 5 ทรงส่งไปเรียนต่อเมืองนอกรุ่นแรก หรือที่เรียกกันว่า “พระราชโอรสรุ่นใหญ่” มีทั้งหมด 4 พระองค์ ได้แก่
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงศึกษาวิชาเศรษฐกิจการคลังที่อังกฤษ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงศึกษาวิชากฎหมายที่อังกฤษ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี ทรงศึกษาด้านอักษรศาสตร์ที่อังกฤษและฝรั่งเศส และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ทรงศึกษาวิชาสามัญในอังกฤษ และศึกษาวิชาทหารบกในเดนมาร์ก
พระราชโอรสที่ทรงสมรสกับชาวต่างชาติพระองค์แรก – เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2426
เมื่อเจริญพระชันษาขึ้น รัชกาลที่ 5 ทรงส่งพระราชโอรสพระองค์นี้ไปศึกษาต่อในประเทศแถบยุโรป ทรงศึกษาวิชาสามัญที่อังกฤษ จากนั้นทรงไปศึกษาต่อวิชาทหารบกที่รัสเซีย ทำให้พระองค์ทรงตกหลุมรักสาวชาวรัสเซีย คือ เอกาเทรินา อิวาโนวา เดสนิตสกี ซึ่งต่อมาคือ หม่อมคัทริน
อ่านเพิ่มเติม: พระดำรัสสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ต่อ “แคทยา” พระสุณิสาต่างชาติคนแรกก่อนตรัสขอแต่งงาน
เมื่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงพาหม่อมคัทริน ซึ่งพระองค์ทรงสมรสเป็นการส่วนพระองค์เรียบร้อยแล้วกลับสยาม รัชกาลที่ 5 ก็ทรงพระพิโรธอย่างมาก ด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ทรงเป็นรัชทายาทลำดับที่ 2 ในการสืบราชสันตติวงศ์ หม่อมคัทรินจึงไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์ตลอดรัชกาล
ส่วนสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ แม้จะทรงพระพิโรธ แต่เมื่อหม่อมคัทรินให้กำเนิดพระโอรส คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรก ก็ทรงคลายพระพิโรธ และทรงเมตตาหม่อมคัทรินและพระราชนัดดา
พระราชโอรสที่เป็น “ดอกเตอร์” พระองค์แรก – พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทิพเกษร ผู้เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือท่านแรก ที่เข้ามาเป็นบาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 5 (ก่อนหน้าเจ้าดารารัศมี)
อ่านเพิ่มเติม : “เจ้าทิพเกษร” เจ้านายเชียงใหม่พระองค์แรก ที่ถวายตัวในรัชกาลที่ 5
พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงเล่าเรียนทั้งที่อังกฤษและเยอรมนี ซึ่งในระดับอุดมศึกษา พระองค์ทรงศึกษาหลักสูตรวิชาเศรษฐกิจการเมือง ที่มหาวิทยาลัยมิวนิก เยอรมนี หลังจากผ่านไป 2 ปี พระองค์ก็ทรงย้ายไปศึกษาในแขนงวิชาเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยทึบบิงเงิน มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของเยอรมนี
กระทั่ง พ.ศ. 2450 ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ โดยทรงทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาเยอรมันเรื่อง “เกษตรกรรมในสยาม: บทวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ” พระองค์จึงทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรีที่เป็นดอกเตอร์
พระราชโอรสที่มีศาลเคารพมากที่สุด – กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือที่ชาวไทยเรียกขานพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับการยกสถานะเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ มีศาลเคารพกระจายอยู่ทั่วไทย รู้จักกันในชื่อ “ศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร” ซึ่งหากนับแล้วก็น่าจะหลักร้อยแห่งทั่วประเทศ
ทั้งนี้ สังคมไทยเริ่มระลึกถึงกรมหลวงชุมพรในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์นามว่า “เจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร” ตั้งแต่ทศวรรษ 2470 หรือไม่ถึงสิบปีนับจากพระองค์สิ้นพระชนม์
ศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรแห่งแรกๆ ในไทย ตั้งอยู่ย่านนางเลิ้ง กรุงเทพมหานคร อันเป็นบริเวณที่ประทับขณะทรงมีพระชนมชีพ ส่วนอีกแห่งตั้งอยู่ที่หาดทรายรี ปากน้ำเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร อันเป็นสถานที่สิ้นพระชนม์
ทั้งหมดนี้คือ 5 เรื่อง “ที่สุด” พระราชโอรสและพระราชธิดารัชกาลที่ 5 ที่เราขอคัดประเด็นมานำเสนอ
อ่านเพิ่มเติม :
- “เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ” มกุฎราชกุมารองค์แรกของไทย ที่ รัชกาลที่ 5 ทรงรักมาก
- ใครคือเจ้านายนักเรียนนอก ที่เป็น “ดอกเตอร์คนแรก” ของราชวงศ์จักรี
- เปิดเหตุการณ์สุดท้าย ก่อน “กรมหลวงชุมพร” สิ้นพระชนม์ ประชวรแต่รักษาน้ำใจชาวบ้าน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2567