“ภมรมนตรี” ตระกูลดัง สืบเชื้อสายมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ประยูร ภมรมนตรี ตระกูลภมรมนตรี
ประยูร ภมรมนตรี (ภาพจาก : หนังสือ ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า)

ตระกูลภมรมนตรี เป็นหนึ่งตระกูลที่มีชื่อเสียง เรียกได้ว่าคนที่ใช้นามสกุลนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนที่เรารู้จักดีในหลายแวดวง อย่างน้อย ๆ ก็ พลโท ประยูร ภมรมนตรี หนึ่งในหัวเรือของคณะราษฎร

ตระกูลภมรมนตรี

ในหนังสืองานศพของประยูร ภมรมนตรี เล่าไว้ว่า “สำหรับตระกูล ภมรมนตรี นั้นได้สืบเนื่องมาจนถึงเราถึง 8 ชั่วคนแล้วนับตั้งแต่พระยาธิเบศร์บดี ในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ (ในกรุงแตก) ท่านบรรพบุรุษได้เป็นเจ้าพระยาเสนาบดีกันมาหลายชั่วคน”

Advertisement

ขณะเดียวกันในหนังสือ “ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า” ของ พลโท ประยูร ภมรมนตรี ก็ได้เล่าที่มาของสกุลตนเองไว้ว่า 

“ส่วนพระยาธิเบศร์บดีนั้น เมื่อกรุงแตกพม่าได้กวาดต้อนครอบครัวไปไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงกู้ชาติ และขับไล่พม่าออกจากแผ่นดินไทยไปก็ได้ตัวพระยาธิเบศร์บดีกับลูกชายมาได้ 1 คน (พระยาสรราชภักดี)ได้โปรดเกล้าฯ ให้ไปตีพม่าที่จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดตากแล้วกลับมารับราชการเป็นจางวางมหาดเล็กในรัชกาลของพระองค์”

พระยาธิเบศร์บดี มีบุตร 1 คน และธิดา 1 คน บุตรนั้นได้แก่ พระยาสรราชภักดี ซึ่งต่อมาเป็นจางวางมหาดเล็ก (ตำแหน่งข้าราชการชั้นสูงกว่าเจ้ากรมที่มิใช่กรมเสนาบดี ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา กำกับดูแลกรมนั้น ๆ) ในรัชกาลที่ 2 ส่วนธิดาได้แก่ ลิ้ม ซึ่งท่านให้แต่งงานกับ “นายฉลองนัยนาถ” ต้นตระกูลบุนนาค เนื่องจากท่านทั้งสองสนิทสนมกัน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ประกอบกับฉากหลังเป็นภาพพระวิหาร (พระอุโบสถ) วัดหลวง เมืองมงคลบุรี ภาพจากนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2558

แม้จะเข้าสู่รัชกาลที่ 3 แต่ลูกหลานของภมรมนตรีก็ยังดำรงตำแหน่งขุนนางใหญ่ของราชสำนัก โดยบุตรของพระยาสรราชภักดี คือ “พระยาราชมนตรีบริรักษ์” ได้เป็นถึงอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่ดูแลภาษีอากร บ่อนเบี้ย โรงหวย สุรา ทั้งราชอาณาจักร 

ท่านยังได้รับพระราชทานบ้านเรือนแถบทางเหนือของท่าพระ จึงทำให้ท่านบริจาคบ้านเดิม บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสร้าง “วัดคฤหบดี พระอารามหลวง” น้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 3

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ถึงกับเขียนไว้ว่า… “พระยาราชมนตรีนี้กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรักใคร่ เมตตาโปรดให้รับราชการใกล้ชิดสนิทสนมเป็นอันมาก” 

รวมถึง…

“รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาเมตตา และโปรดพระยาราชมนตรีมาก ทรงเรียก ‘พี่ภู่’ เป็นประจำ รับสั่งให้ทำของหวานเลี้ยงรวมทั้งเกาเหลากับข้าวของกินวันละหลายสิบสำรับทุกวัน ๆ มิได้ขาด (ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม) แม้ในพระราชปุจฉาก็ทรงอ้างชื่อท่านผู้นี้ว่า ทรงอาลัยมากเมื่อถึงแก่อนิจกรรมไปก่อนในรัชกาลของพระองค์”

พระยาราชมนตรีบริรักษ์แต่งงานกับคุณพริ้งหรือพวง ธิดานายศัลวิชัย ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ต้นสกุล อินทรกำแหง มีบุตรชายนามว่า บัว (ต่อมาคือ พระยามณเฑียรบาล) ธิดานามว่าท่านน้อยและท่านพุ่ม (แต่ในตารางเครือญาติพบชื่อท่านผู้หญิงกล่ำด้วย)

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลให้ว่า “ภมรมนตรี” ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2456 เนื่องจากรัฐต้องการจัดระเบียบชื่อครัวเรือนคนไทย ทั้งบรรพบุรุษของตระกูลนี้ก็รับราชการแผ่นดินมาเนิ่นนาน 

ประยูร ภมรมนตรี (ภาพจาก : หนังสือ ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า)

ลูกหลานในตระกูลภมรมนตรีหลายคนต่างมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ไทยทั้งนั้น เช่น พ.ต. พระชำนาญย์คุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี) ทูตทหารที่เคยประจำการอยู่ที่เยอรมนี, ประยูร ภมรมนตรี หนึ่งในคณะราษฎร เป็นต้น

“ประยูร” เป็นหนึ่งในคณะราษฎร ที่เป็นกำลังสำคัญในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ เขาเป็นผู้เชื่อมรวมผู้คนจากหลายทิศทางเป็นหนึ่งเดียว รวมถึงเป็นหนึ่งรัฐมนตรีคู่ใจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อีกด้วย

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ตระกูล “ภมรมนตรี” เป็นอีกหนึ่งตระกูลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและสำคัญมากของไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.silpa-mag.com/history/article_71348

https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:312859

https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:174892

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ประยูร_ภมรมนตรี_%3A_ตัวเชื่อมผู้ก่อการฯ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ตุลาคม 2567