พระยาราชมนตรีบริรักษ์(ภู่)ที่ “แซม ยุรนันท์” ชี้ว่าเป็นบรรพบุรุษ กับสัมพันธ์สกุลชุมสาย

(ซ้าย) พระวิหาร วัดคฤหบดี ได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2536 ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2536 (ขวา) แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี ภาพจาก Facebook/Sam Yuranunt Pamornmontri เมื่อ พ.ค. 2564

สายตระกูลอันเก่าแก่ของขุนนางไทยในอดีตหลายสกุลยังคงสืบสายมาจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลเกี่ยวกับสายตระกูลนี้อาจไม่ค่อยได้เผยแพร่วงกว้างมากนัก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม บางสกุลก็มีข้อมูลปรากฏให้สืบสาวร้อยเรียงประวัติศาสตร์เป็นภาพเชื่อมกันอย่างต่อเนื่อง กรณีที่น่าสนใจอีกสายคือตระกูล “ภมรมนตรี” ซึ่งในยุคปัจจุบันปรากฏบุคคลผู้มีชื่อเสียงบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบรรพบุรุษตระกูลนี้

บุคคลผู้มีชื่อเสียงซึ่งออกมาบอกเล่าเกี่ยวกับตระกูล “ภมรมนตรี” ก็คือ แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี อดีตนักแสดงชื่อดังที่เคยผันตัวมาอยู่ในแวดวงการเมือง แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี เพิ่งโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กเพจ Sam Yuranunt Pamornmontri บอกเล่าเกี่ยวกับที่มาของนามสกุลและบรรพบุรุษต้นตระกูล ข้อความส่วนหนึ่งมีว่า

“…คุณปู่ของผมชื่อว่าแย้มครับ เป็นบุตรของพระยามณเฑียรบาล(บัว)ในรัชกาลที่สี่ เป็นหลานปู่ของพระยาราชมนตรี(ภู่)ในรัชกาลที่สาม เป็นหลานทวดของพระยาสรราช ซึ่งเป็นบุตรของพระยาธิเบศร์บดี เสนาบดีในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัต(กรุงศรีอยุธยา) สืบแค่นี้ก่อนละกันนะครับเดี๋ยวอาจจะยาวไปถึงกรุงสุโขทัย…”

“พระยาราชมนตรี(ภู่)” ที่ปรากฏในข้อความข้างต้น เมื่อสืบย้อนกลับไปพบข้อมูลว่า มี “พระยาราชมนตรีบริรักษ์(ภู่)” ในสมัยรัชกาลที่ 3 ท่านหนึ่ง

“พระยาราชมนตรีบริรักษ์(ภู่)” ถวายตัวทำราชการในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะที่ยังทรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในรัชกาลที่ 2 เล่ากันว่า บ้านเดิมของท่านอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลบางยี่ขันเหนือบ้านปูน ปัจจุบันเป็นบริเวณวัดคฤหบดีทุกวันนี้ (บุหงา, 2536)

“บุหงา” ผู้เขียนบทความ “วัดคฤหบดี สายสัมพันธ์ตระกูล ‘ชุมสาย’-‘ภมรมนตรี'” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม พ.ศ. 2536 อธิบายว่า พระยาราชมนตรีเป็นที่โปรดปรานในรัชกาลที่ 3 อย่างมาก เมื่อพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายภู่ เป็นพระยาราชมนตรี ดังพระราชพงศาวดารตอนทรงตั้งข้าราชการว่า

“ครั้งนั้น ที่มหาเสนาบดีเต็มอยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกจางวางภู่ข้าหลวงเดิมมาเป็นพระยาราชมนตรีจางวางมหาดเล็กว่าพระคลังมหาสมบัติด้วย”

เวลาต่อมา พระยาราชมนตรี ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ ดูแลด้านภาษีอากร บ่อนเบี้ย โรงหวย สุรา ทั้งราชอาณาจักร

รัชกาลที่ 3 ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบ้านเรือนที่ท่าพระ ทางเหนือท่าพระ (คือท่าช้างวังหลวงในภายหลัง) ให้พระยาราชมนตรี พระยาราชมนตรีจึงยกบ้านเดิมสร้างวัด แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงพระราชทานนามว่า “วัดคฤหบดี”

วัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวง อยู่ตรงข้ามท่าเรือเทเวศร์ กินพื้นที่ 14 ไร่ พระอุโบสถเป็นแบบไทยผสมศิลปะจีน ซึ่งเป็นไปตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 พระวิหารรูปทรงทางสถาปัตยกรรมแนวทางเดียวกับพระอุโบสถ หอสวดมนต์ที่เป็นเรือนไม้ทรงไทยสันนิษฐานว่าอาจสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 หากพิจารณาจากตราประจำรัชกาลที่ 5 หน้าห้อง

ข้อมูลข้างต้นนี้สอดคล้องกับข้อมูลที่แซม ยุรนันท์ เล่าไว้ในโพสต์ว่า (เน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ)

“ครั้นเมื่อล้นเกล้ารัชกาลที่หก ทรงพระราชทานนามสกุลให้แก่คุณปู่ ทรงเห็นว่าพระยาราชมนตรี(ภู่) เป็นผู้ที่ถวายงานให้แก่สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อย่างซื่อสัตย์ สุจริต จนเป็นที่กล่าวขาน เป็นเสนาบดีพระคลังมหาสมบัติ ที่ทั้งหาเงินและเก็บเงินเข้าพระคลังมากมายมั่งคั่ง..ไม่ตกหล่น!! ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สะสมเงินใส่ถุงแดงอีกจำนวนมากเป็นสมบัติของชาติสืบมา🙏 พระยาราชมนตรียังนำทรัพย์สินส่วนตัวคือบ้านและที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี สร้างเป็นวัดถวาย พระเจ้าอยู่หัว🙏 ทรงโปรดพระราชทานนามว่า ‘วัดคฤหบดี’

วัดคฤหบดียังมีข้อมูลอีกด้านว่าเกี่ยวข้องกับราชสกุลชุมสาย โดยมีพระเจดีย์บรรจุอัฐิของสมาชิกทั้งสองตระกูล “บุหงา” ผู้เขียนบทความเดียวกันเล่าความสัมพันธ์ของทั้งสองตระกูลไว้ว่า

“หม่อมน้อย ธิดาคนหนึ่งของพระยาราชมนตรีได้มาเป็นหม่อมในกรมขุนราชสีหวิกรม พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นต้นสกุลชุมสาย

หม่อมน้อยนี้แต่เดิมเป็นหม่อมในกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พระราชโอรสองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์สิ้นพระชนม์ลง จึงได้มาเป็นหม่อมในกรมขุนราชสีห์…”

บทความของ “บุหงา” ยกคำบอกเล่าของหม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ซึ่งได้เล่าเพิ่มเติมไว้ว่า

“…ครั้นต่อมากรมหมื่นมาตยาพิทักษ์สิ้นพระชนม์ลง หม่อมน้อยทั้งสองก็เป็นม่าย หม่อมน้อยคนที่สองเป็นบุตรพระยาราชมนตรี (ภู่) ซึ่งในสมัยนั้นนับเป็นเศรษฐีผู้หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปัญญาแยบยลในเชิงเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีพระราชดำริที่จะไม่ให้ทรัพย์สมบัติของหม่อมน้อยที่สองต้องกระจัดกระจายไป จึงพระราชทานหม่อมน้อยคนที่สองให้เป็นหม่อมในกรมขุนราชสีหวิกรม”

ทั้งนี้ กรมขุนราชสีหวิกรม ทรงมีพระโอรสและพระธิดากับหม่อมน้อยอีก 6 พระองค์ ได้แก่ หม่อมเจ้าระเบียบ หม่อมเจ้าจำเริญ หม่อมเจ้า(หญิง)ประภา หม่อมเจ้าประวิช และหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ในรัชกาลที่ 5


อ้างอิง:

บุหงา. “วัดคฤหบดี สายสัมพันธ์ตระกูล ‘ชุมสาย’-‘ภมรมนตรี'” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม 2536.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2564