แป๊ะ แซ่ลิ้ม กำเนิด “ยากฤษณากลั่น” รักษาเสือป่า จน ร.6 พระราชทานนามสกุล “โอสถานุเคราะห์”

ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน แป๊ะ แซ่ลิ้ม ต้นนามสกุล โอสถานุเคราะห์
ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน ที่มีจุดกำเนิดมาจาก แป๊ะ แซ่ลิ้ม ต้นนามสกุล "โอสถานุเคราะห์" (ภาพจาก ข่าวสดออนไลน์)

แป๊ะ แซ่ลิ้ม เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เข้ามาตั้งรกรากในไทยสมัยรัชกาลที่ 5 เขานำความรู้เรื่องยาที่ติดตัวมาจากบ้านเกิดมาปรุงเป็น “ยากฤษณากลั่น” ช่วยเหลือชาวบ้านที่เจ็บป่วย รวมทั้งมีผู้นำไปรักษากองทหารเสือป่า จนรัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสกุลให้ว่า “โอสถานุเคราะห์” 

แป๊ะทำงานเป็นลูกจ้างอยู่พักใหญ่ เมื่อเก็บหอมรอมริบจนพอจะเช่าที่ทำมาค้าขายได้แล้ว ก็เช่าตึกแถวเล็กๆ ในสำเพ็งเปิดร้านขายสินค้าทั่วไป ใช้ชื่อว่า “ร้านเต๊กเฮงหยู” มีความหมายว่า คุณงามความดีจะทำให้คนระลึกถึงยาวนานตลอดกาล

หลังจากค้าขายจนสร้างฐานลูกค้าได้แล้ว แป๊ะ ที่ต่อมาจะเป็นต้นนามสกุล “โอสถานุเคราะห์” ก็คิดถึงสูตรยาโบราณที่ติดตัวมา นั่นคือ “ตำรายากฤษณากลั่น” ที่มีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำมันสีดำจากต้นกฤษณา แล้วนำไปผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น กานพลู การบูร โกฐสอ ขิง ขี้อ้าย ดีปลี เพกา ไพล ฯลฯ มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องเสีย จุกเสียด แน่นท้อง และนำ “กิเลน” สัตว์มงคลของจีนมาเป็นสัญลักษณ์ เป็นที่มาของ “ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน” นั่นเอง 

ด้วยสรรพคุณที่ช่วยบรรเทาอาการได้ดี ยากฤษณากลั่นนี้จึงได้รับการพูดถึงปากต่อปาก กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยานี้ก็ยังได้รับความนิยมต่อเนื่อง และเป็นยาที่ใช้รักษาเสือป่าในยุคนั้นด้วย

เรื่องเริ่มจากกองเสือป่าในรัชกาลที่ 6 ไปซ้อมรบกันที่ตำบลดอนเจดีย์ จังหวัดนครปฐม แต่สมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวกสบาย ซ้ำร้ายสุขอนามัยก็ยังไม่ดี เสือป่าจำนวนมากจึงมีอาการท้องร่วงอย่างหนัก จนมีผู้นำ ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน ของแป๊ะ มาให้เสือป่ารับประทาน อาการของทุกคนจึงดีขึ้น 

เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงทราบเรื่อง ก็ทรงเห็นถึงประโยชน์ของยากฤษณากลั่น ทรงเขียนแนะนำให้ใช้ยากฤษณากลั่นรักษาโรคท้องร่วงในพระราชนิพนธ์ “กันป่วย” พระองค์ยังพระราชทานเข็มเสือป่าให้แป๊ะ และพระราชทานนามสกุล “โอสถานุเคราะห์” ให้เขาอีกด้วย 

หลังจาก แป๊ะ แซ่ลิ้ม เสียชีวิตในปี 2461 ลูกชายของเขาคือ สวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ ก็รับช่วงดูแลร้านเต๊กเฮงหยู จากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงชื่อร้านอีกราว 2 ครั้ง ก่อนที่ในปี 2538 จะเปลี่ยนเป็น “โอสถสภา” ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ. ชีวิตเกินร้อย บริษัท โอสถสภา จำกัด. 2555.

ประวัติโอสถสภา. https://www.osotspa.com/new/th/about/2434.php


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2566