ผู้เขียน | ฮิมวัง |
---|---|
เผยแพร่ |
กำเนิด “ยาสามัญประจำบ้าน” จาก “ยาตำราหลวง” สมัยรัชกาลที่ 5
เมื่อวิทยาการตะวันตกแพร่เข้าสู่สยามทุกมิติอย่างเข้มข้มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ส่งผลให้ “การแพทย์” และ “เภสัชกรรม” ในประเทศมีพัฒนาการขึ้นตามลำดับ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทำให้การสาธารณสุขยังคงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ หรือตามหัวเมืองใหญ่ การจะทำให้สุขภาพของราษฎรแข็งแรง ห่างไกลจากโรค จึงอาจต้องอาศัย “ยา” ซึ่งสามารถเข้าถึงราษฎรได้ง่ายและรวดเร็ว
รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรทั่วพระราชอาณาจักรมียาที่ดี มีประสิทธิภาพ และราคาถูก ไว้ใช้โดยทั่วกัน ทว่ามีข้อปัญหาที่ต้องวิตกสองประการ หนึ่งคือ ควรจะทำยารักษาโรคอะไรบ้าง? และสองคือ ยาที่จะใช้ควรเป็นยาตำรับไทย หรือตำรับฝรั่ง?
กำเนิด “ยาตำราหลวง”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลกิจการด้านการสาธารณสุขของไทยในสมัยนั้น ประการแรก ทรงเห็นว่าจะต้องทำยาสำหรับรักษาความเจ็บไข้ของราษฎรที่มักเป็นกันชุกชนอยู่ประจำ เช่น ยาแก้ไข้จับสั่น และยาแก้บิด เป็นต้น ประการที่สอง ทรงเห็นว่ายาตำรับฝรั่งดีกว่ายาตำรับไทย เพราะมีคุณภาพขึ้นชื่อมานานมากแล้ว จึงควรใช้ยาตำรับฝรั่งเป็นหลักในการดำเนินนโยบายผลิตยาเพื่อราษฎร
ต่อมา พ.ศ. 2445 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงได้ทรงเชิญ “หมอฝรั่ง” ที่ทำงานอยู่ในประเทศสยามมาร่วมประชุมพร้อมกันที่ศาลาลูกขุน กระทรวงทหาดไทย ที่ประชุมปรึกษาหารือกันได้ความว่าแนะนำให้รัฐทำยาต่าง ๆ 8 ขนาน และกำหนดเครื่องยากับส่วนผสมไว้ให้เรียบร้อย โดยมอบตำรายานี้ให้เป็นสมบัติของรัฐ
อย่างไรก็ตาม แม้ยาตำรับฝรั่งจะขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพ และสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ดีกว่ายาตำรับไทย แต่ราษฎรทั่วไปโดยเฉพาะในชนบทยังมีความคิดรังเกียจยาตำรับฝรั่ง และเชื่อถือยาตำรับไทยมากกว่า ดังนั้น กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงออกอุบายให้เรียกยาตำรับฝรั่งที่ทำขึ้นนี้ว่า “ยาโอสถสภา” ต่อมาราษฎรได้เรียกว่า “ยาตำราหลวง” เพราะเป็นยาที่ทำจากตำรับของรัฐบาลสยาม หรือ “ของหลวง” จึงพลอยเรียกเช่นนี้แทน
ยาตำราหลวง ทั้ง 8 ขนาน ประกอบด้วย 1. ยาแก้ไข (ควินิน), 2. ยาถ่าย, 3. ยาแก้ลงท้อง, 4. ยาแก้ไส้เลื่อน, 5. ยาแก้โรคบิด, 6. ยาบำรุงโลหิต, 7. ยาแก้คุดทะราดและเข้าข้อ และ 8. ยาแก้จุกเสียด (โซดามินท์) ผู้ที่รับผลิตยาขนานนี้คือ หมอ Hans Adamson รับทำให้ ณ สี่แยกถนนเจริญกรุง
ยาตำราหลวง ทำเป็นเม็ดบรรจุกลักเล็ก ๆ ประมาณกลักละ 20 เม็ด ข้างในกลักมีกระดาษใบปลิวบอกวิธีใช้ยา รวมกลักยาเป็นชุด ๆ มีใบปลิวโฆษณาสรรพคุณของยาสอดไปอีกด้วย โดยข้อความแจ้งวิธีใช้พิมพ์ไว้ทั้งภาษาไทย จีน ลาว มลายู และอังกฤษ
ต่อมา พ.ศ. 2448 ได้เปลี่ยนหน้าที่การผลิตยาตำราหลวงมาให้กับ “โอสถศาลา” ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงธรรมการ โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้วางจำหน่าย อย่างไรก็ดี ปรากฏว่ายาตำราหลวง 8 ขนานนี้ ยังเป็นของใหม่สำหรับราษฎร และยังไม่เป็นที่นิยมใช้กันเท่าใดนัก กระทรวงมหาดไทยจึงผลิตยาตำราหลวง “แผนโบราณ” ออกจำหน่ายเพิ่มเติมอีกรูปแบบหนึ่งด้วย
ยาตำราหลวงแผนโบราณ มี 10 ขนาน ประกอบด้วย 1. ยาหอมอินทรจักร์, 2. ยาเทพวิจิตรารมย์, 3. ยากำลังราชสีห์, 4. ยาสุขไสยาสน์, 5. ยาจันทนลีลา, 6. ยาหอมเนาวโกฏ, 7. ยานารายณ์ถอนจักร, 8. ยาอุทัย, 9. ยาปัถวีพิการ และ 10. ยาธาตุบรรจบ
สำหรับการจำหน่ายยาตำราหลวงในสมัยนั้น เนื่องจากยังไม่มีการก่อตั้งกระทรวงสาธารณสุขหรือองค์การอาหารและยาอย่างในปัจจุบัน ผู้รับผิดชอบจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย โดยมีมณฑลเทศภิบาลของแต่ละมณฑลดูแลรับผิดชอบอีกทอดหนึ่ง โดยจะให้หมอประจำตำบลเป็นผู้รับไปจำหน่าย ให้มีบัญชีเงินเชื่อตำบลละไม่เกิน 40 บาท ราคาจำหน่ายกลักละ 10 สตางค์ และให้ส่วนลดร้อยละ 10 เมื่อขายได้แล้วให้ผ่อนส่งใช้หนี้เป็นคราว ๆ
นอกจากนี้ โอสถศาลาจะขายเชื่อให้เท่าราคาทุนแก่หมอหลวงหรือหมอประจำเมือง กำหนดให้เป็นลูกหนี้แห่งละไม่เกิน 1,000 บาท เงินกำไรให้เป็นผลประโยชน์ของหมอนอกจากเงินเดือน ยาที่รับไปจำหน่ายนี้หมอจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหรือชดใช้เอง ไม่ใช่มณฑลเทศาภิบาลจะต้องชดใช้
พัฒนาสู่ “ยาสามัญประจำบ้าน”
ต่อมาหลัง พ.ศ. 2464 พระบำราศนราดูร (หลง เวชชาชีวะ) หมอประจำจังหวัดลพบุรี เห็นว่ายาตำราหลวงมีเพียง 8 ขนาน ซึ่งไม่สอดคล้องเพียงพอกับโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ ที่ราษฎรตามชนบทเป็นกันอย่างชุกชุม และควรจะบำบัดป้องกันโรคเสียในขั้นต้นซึ่งยังมีอีกมาก เป็นผลให้กรมสาธารณสุขมอบหมายให้โอสถศาลาผลิตยาตำราหลวงเพิ่มเป็น 25 ขนาน
ต่อมา มีการปรับการจำหน่ายยาตำราหลวงเสียใหม่ โดยจังหวัดต่าง ๆ จะเป็นผู้เบิกจากโอสถศาลาให้โอสถสภาจังหวัด (ปัจจุบันคือสถานีอนามัยอำเภอต่าง ๆ) เมื่อต้องการสั่งซื้อยาตำราหลวงให้ทำรายงานถึงจังหวัด ๆ จะสั่งให้โอสถสภาสุขาภิบาลจ่ายให้แก่อำเภอ และให้ลงบัญชีจำนวนยาที่อำเภอรับไปไว้ในบัญชี
พร้อมกันนั้นโอสถสภาสุขาภิบาลจะทำหนังสือแจ้งราคาและจำนวนเงินที่รับไปแก่อำเภอ เมื่ออำเภอขายยาได้ก็นำเงินส่งเป็นงวด ๆ ทางจังหวัดเมื่อได้รับเงินแล้วจัดทำคำสั่งชี้แจงให้ทราบว่าทางอำเภอคงเป็นหนี้อีกเท่าใด ยาที่อำเภอรับไปนั้นสำหรับให้แพทย์ตำบลและกำนันผู้ใหญ่บ้านซื้อไปจำหน่ายแก่ราษฎรตามตำบลต่าง ๆ อีกต่อหนึ่ง
ถึง พ.ศ. 2485 มีการตั้ง กระทรวงสาธารณสุข ขึ้น กิจการของโอศถศาลาผู้ผลิตยาตำราหลวงจึงมาขึ้นตรงต่อกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเมื่อถึงเวลานี้ วิทยาศาสตร์การแพทย์และการเภสัชกรรมได้เจริญทัดเทียมนานาชาติ ความนิยมในการใช้ยาตำรับฝรั่งก็เป็นที่นิยมมากขึ้น ส่วนยาตำรับไทยก็ลดน้อยลง ดังนั้นจึงเลิกผลิตยาตำราหลวงแผนโบราณเสีย
ต่อมา พ.ศ. 2509 มีการก่อตั้งองค์การเภสัชกรรมขึ้นเพื่อเป็นหน่วยการที่มีหน้าที่ดูแลและกำกับการผลิตยา นอกจากนี้ รัฐบาลในสมัยนั้นได้โอนงานการจำหน่ายยาตำราหลวงจากกระทรวงมหาดไทยมาให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ยาตำราหลวงจึงอาจเรียกได้ว่าเป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” ซึ่งผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม อย่างไรก็ตาม คำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” นั้นปรากฏใช้มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในพระราชบัญญัติควบคุมการขายยา พุทธศักราช 2479
“ยาสามัญประจำบ้าน” มีจุดมุ่งหมายคือ ให้มีการจัดหายาที่จำเป็นสำหรับราษฎรให้ใช้ด้วยตนเอง โดยต้องเป็นยาที่ดี มีคุณภาพ ปลอดภัย และราคาไม่แพง ซึ่งยังคงเป้าประสงค์เช่นเดิม เหมือนดั่ง “ยาตำราหลวง” ในสมัยรัชกาลที่ 5
อ่านเพิ่มเติม :
- นโยบายสร้าง “รัฐเวชกรรม” ของคณะราษฎร สู่การกำเนิด “โรงพยาบาล” ทั่วประเทศ
- ดร.ตั้ว ลพานุกรม คณะราษฎรผู้ริเริ่มสร้างโรงงานผลิต “ยาฝรั่ง” สู่กำเนิดองค์การเภสัชกรรม
ข้อมูลจาก :
หนังสือ “ครบรอบ 30 ปี องค์การเภสัชกรรม 2509-2539” โดย กระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม
เว็บไซต์ องค์การเภสัชกรรม. ประวัติความเป็นมาขององค์การเภสัชกรรม, จาก https://www.gpo.or.th/about
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2565