ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินนักร้อง นักแสดง ผู้กำกับและอำนวยการสร้างภาพยนตร์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล – ขับร้อง) ประจำปี 2541 มีชื่อ-สกุลเดิมว่า ละมัย งามเมือง เป็นชาวเชียงใหม่แต่กำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 ในวัยเด็กเพื่อน ๆ มักเรียกด้วยชื่อเล่นว่า “มัย” เมื่อเติบใหญ่ขึ้นจึงเปลี่ยนชื่อ-สกุล เป็น “ชรินทร์ นันทนาคร” เช่นที่แฟนเพลงรู้จักในปัจจุบัน
ความยอดเยี่ยมของชรินทร์ในวงการบันเทิงไทยเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน ท่านเป็นลูกศิษย์คนโปรดของครูเพลงไสล ไกรเลิศ ผู้แต่งเพลงผู้ชนะสิบทิศ เคยร้องเพลงหน้าม่านสลับละครเวทีเปลี่ยนฉากสมัยหลังสงครามโลก เคยร่วมงานกับ เตียง โอศิริ หรือ “ปู่แผ่นเสียง” เคยเป็น 4 นักร้องคู่ใจของนักเขียนชื่อดังแห่งยุค สุวัฒน์ วรดิลก หรือ “รพีพร” ได้แก่ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี คู่สุเทพ วงศ์กำแหง และสวลี ผกาพันธุ์ คู่ชรินทร์ นันทนาคร
ท่านยังเป็นนักแสดงละครเวที ละครทีวี และภาพยนตร์ไทย เคยสร้างภาพยนตร์ในนาม “นันทนาครภาพยนตร์” ให้คอหนังชมกันหลายเรื่อง ที่สำคัญคือเคยได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9
“ชรินทร์ นันทนาคร” เล่าความหลังครั้งขอนามสกุลพระราชทาน
ใน “ชรินทร์ อิน คอนเสิร์ต” ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2560 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หลังร้องเพลงพระราชนิพนธ์ ชะตาชีวิต จบ ท่านได้เล่าเรื่องที่มาของนามสกุล “นันทนาคร” บอกว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อชีวิตของท่านมาก เพราะเป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทาน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9
เรื่องราวครั้งนั้นอ้างอิงจากคำบอกเล่าของคุณบูรพา อารัมภีร คอลัมนิสต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ผู้ร่วมในคอนเสิร์ตและได้ฟังเรื่องเล่าของท่าน มีดังนี้
“ผม (ชรินทร์) ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตอนนั้นผมติดตามพระยาศรีวิสารวาจาเข้าวัง คือขณะนั้นท่านเป็นองคมนตรีรับใช้ในหลวง พอเข้าไปในวังเฝ้าฯ ในหลวง พระยาศรีวิสารวาจากราบทูลว่า ชรินทร์จะมาขอพระราชทานนามสกุล”
เมื่อในหลวงได้ยินดังนั้นก็กวักพระหัตถ์ให้เข้าไปใกล้ ๆ แล้วตรัสถามทำนองว่า มีนามสกุลเก่าอยู่แล้วจะเปลี่ยนทำไม ชรินทร์กราบทูลว่านามสกุลของข้าพระพุทธเจ้าคือ ‘งามเมือง’ แต่ตอนนี้มีลูกหญิงเกิดมา 2 คน ปัญญ์ชลี ปัญชนิตย์ จะให้ลูก ๆ ใช้นามสกุล ก็คง…
ในหลวงได้ฟังเพียงแค่นั้นก็ยกพระหัตถ์ให้หยุด แล้วตรัส เข้าใจแล้ว เข้าใจแล้ว และตรัสบอกอีก 3 วันให้มาใหม่จะหานามสกุลให้
หลังจากนั้น 3 วัน ชรินทร์ก็เข้าวังพร้อมพระยาศรีวิสารวาจาตามที่พระองค์นัด เมื่อเข้าเฝ้าฯ ในหลวงตรัสว่า ตั้งให้แล้ว และเรียกชรินทร์เข้าไปรับกระดาษที่พระองค์พระราชทาน ชรินทร์รับมาอ่านดู บอกว่าในกระดาษเล็ก ๆ แผ่นนั้นมีนามสกุลปรากฏอยู่ 3 ชื่อ
ถึงตอนนี้ก็คิดว่า เออ จะทำไงดี? แล้วจะเลือกอันไหนมาใช้? ก็ตัน หาทางไม่ออก จึงเข้าถามพระยาศรีวิสารวาจาว่า ควรทำอย่างไร? เลือกยังไงดี?
พระยาศรีวิสารวาจากระซิบว่า “สมเด็จฯ” หมายถึงให้ไปกราบทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ด้วยเป็นผู้เลือก
ชรินทร์จึงถือกระดาษคลานไปถวาย เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับกระดาษแผ่นนั้นไปอ่านดู ไม่นานนักพระองค์ทรงชี้ไปที่นามสกุลตรงกลางคือลำดับที่ 2 ชื่อว่า นันทนาคร
ชรินทร์ยังเล่าต่ออีก “ตอนนั้นตัวผมโล่งอกสุขใจมากเพราะเจอทางออกแล้ว พร้อมกับได้นามสกุลพระราชทานตามที่ตั้งใจ หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ใช้ชื่อนามสกุลใหม่ว่า ‘ชรินทร์ นันทนาคร’ จนมาถึงปัจจุบัน”
ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2567 สิริอายุ 91 ปี
อ่านเพิ่มเติม :
- 10 บทเพลงในตำนาน “ชรินทร์ นันทนาคร” ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ
- 30 เมษายน 2545 “ล้อต๊อก” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง เสียชีวิต
- ทองมาก จันทะลือ หมอลำรุ่นแรกๆ ที่วิจารณ์การเมือง และได้เป็นทั้งสส.-ศิลปินแห่งชาติ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 สิงหาคม 2567