30 เมษายน 2545 “ล้อต๊อก” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง เสียชีวิต

นายสวง ทรัพย์สำรวย หรือ ล้อต๊อก
นายสวง ทรัพย์สำรวย หรือล้อต๊อก ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง

นายสวง ทรัพย์สำรวย หรือ ล้อต๊อก (1 เมษายน 2457-30 เมษายน 2545) ผู้ที่คนในวงการตลกยกย่องให้เป็น “ครู” โดยนักแสดงตลกชื่อดังยุคหลังหลายคน เช่น เป็ด เชิญยิ้ม, ดู๋ ดอกกระโดน และสีหนุ่ม เชิญยิ้ม เป็นต้น ต่างก็มีป๋าต๊อกเป็นครูถ่ายทอดความรู้ความสามารถให้ทั้งสิ้น

แต่คนรุ่นหลังน้อยคนจะทราบว่า ป๋าต๊อกเป็นนักดนตรีและนักแสดงที่มีความสามารถรอบด้าน ไม่เฉพาะแค่การเป็นนักแสดงตลกอย่างเดียวเท่านั้น สมกับได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง

Advertisement

เนื่องในวันที่ 30 เมษายน ตรงกับวันคล้ายวันเสียชีวิตของป๋าต๊อก จึงขอนำบทความเรื่อง BORN TO BE ล้อต๊อก ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2539 ที่เคยสัมภาษณ์ป๋าต๊อกในอดีตมาบอกเล่าชีวิตตั้งแต่เด็กจนเข้าสู่วงการการแสดง ที่ชีวิตของป๋าต๊อกเต็มไปด้วยสีสันและสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ได้ไม่น้อยทีเดียว เนื้อหามีดังนี้


BORN TO BE ล้อต๊อก

“พวกเราพลอยเป็นเกียรติด้วยที่พ่อได้รับรางวัลนี้ พ่อมีพระคุณ ท่านสั่งสอนพวกเราเป็นประจําว่า ให้ทําตัวเหมือนน้ำไหล เปลี่ยนรูปไปตามภาชนะที่รองรับ ขณะเดียวกันก็สอนให้รู้จักการเก็บออม เพราะอาชีพนี้วันหน้าไม่แน่”

หนึ่งในหลาย ๆ ความรู้สึกที่แสดงความปีติยินดีต่อ ล้อต๊อก ด้วยความเคารพรัก เนื่องในวาระที่ล้อต๊อก หรือ สวง ทรัพย์สํารวย ได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแสดงตลก) ประจําปี พ.ศ. 2538 โอกาสครั้งแรกของศิลปินตลก และแน่นอนวาระนี้เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแสดงตลก ย่อมเว้นวางนามของ “ล้อต๊อก” ไปเสียไม่ได้

เราเดินทางไปแปดริ้ว เพื่อสัมภาษณ์ป๋าต๊อกกันในวันที่ 1 เมษายน 2539 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดปีที่ 82 ของป๋าต๊อกพอดี [ป๋าต๊อก เกิดวันที่ 1 เมษายน 2457]

คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากวันนั้นจะเห็นรถเก๋งป้ายแดง ป้ายขาวราคาขึ้น 7 หลัก เบื้องหน้า 2-3 คันมุ่งหน้าสู่บ้านไม้สีขาวที่แวดล้อมด้วยดงไม้ดอกประดับสะพรั่งบนเนื้อที่ราว 4 ไร่ ที่นี่คือนิวาสสถานอันแสนสงบร่มรื่นของหนุ่มสูงวัยผู้ที่ได้รับการเคารพนับถือเสมือนพ่อของตลกรุ่นหลัง ๆ เป็ด เชิญยิ้ม, ดู๋ ดอกกระโดน, ยอด นครนายก, สีหนุ่ม เชิญยิ้ม ฯลฯ พร้อมกระเช้าอาหารเสริมเครื่องดื่มบํารุงอัดเต็มกระเช้าโตในนามของสมาคมศิลปินตลกเพื่อคนที่เขารัก

วันเกิดป๋าต๊อกปีนี้แม้จะไม่ได้จัดงานเลี้ยงใหญ่โต แต่มีลูก ๆ หลาน ๆ ในวงการมาร่วมแสดงน้ำใจเช่นนี้ไม่ได้ขาด ระดับความสุขดูจะไม่ได้ด้อยไปกว่าปีก่อน ๆ เลย

ข้าวปลาอาหารในวันนั้นมีให้กินอย่างเต็มที่ กระนั้นยังขาดอยู่อย่างเดียวคือปลาสด ๆ ในบ้านป่าต๊อกมี ปลาเลี้ยงอยู่ 2 บ่อ และเป็นที่รู้กันว่าป๋าจะมีวิชา “แห” ไว้สั่งสอนลูกศิษย์เสมอ เหมือนเช่นทุกครั้งหากมีแขกเยือน ลูกศิษย์ใหม่มีไม่เว้นแม้นายกฯ เป็ด แต่อย่างว่าศิษย์มีหรือจะเก่งกว่าครู ป๋าต๊อกต้องลงมือแสดงให้ดูเป็นตัวอย่าง

มาดเหวี่ยงแหของศิลปินแห่งชาติ ภาพจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2539

“คนจะทอดแหได้น่ะ มันต้องดูทางปลาเป็น…อย่างนี้” ว่าแล้วก็แสดงท่าการเหวียงแห แต่ช้าก่อน ป๋าทําท่าเงี่ยหูฟังเสียงบางอย่าง พร้อมกับกระซิบกระซาบ… “หา อ้อ อ้อ” แล้วขยับไปอีกก้าวสองก้าว เงี่ยหู เจรจาอีกครั้ง ก่อนจะลงมือเหวี่ยงแห… “หา ว่าไงนะ อ๋อ อย่างนี้ก็หลอกกันนี่หว่า” กระนั้นเมื่อลากแหขึ้นมาก็ยังมีปลานิลตัวโตติดขึ้นมา 1 ตัว ก่อนจะส่งแหให้มือใหม่หัดเหวี่ยงรายต่อไป

ป๋าต๊อกไม่ว่าจะที่ไหนอารมณ์ดีเช่นนี้มีให้เห็นตลอด กิจวัตรประจําวันยามอยู่บ้านแปดริ้วเป็นไปอย่างสบาย ๆ ไม่เร่งร้อน ทั้งวันจะอยู่กับต้นไม้ต้นไร่ เขียนหนังสือบ้าง หยอกเอินกับ “อุ้มบุญ” ทายาทตัวน้อยที่เกิดจากคุณอั๋น (ชุลีพร ทรัพย์สํารวย) และที่ขาดไม่ได้คือการติดตามข่าวสารบ้านเมือง เพราะการเป็นตลกที่ดีย่อมต้องมีข้อมูลครบถ้วนอยู่ในหัว โดยเฉพาะเมื่อต้องรับ-ส่งมุกตลกกับเด็กรุ่นลูกรุ่นหลาน ย่อมตกข่าวไม่ได้

และนี่ก็คือเหตุผลที่ว่าทําไมตลกรุ่นอาวุโสอย่างป๋าต๊อก ยังสามารถยืนหยัดอยู่บนเวทีร่วมกับเด็กรุ่นใหม่ได้อย่างสบาย

บ่ายสี่โมง คือเวลาของสุขภาพ เพราะเพียงแค่การเดินดูต้นไม้ต้นไร่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ ต้องมีการเล่นดัมเบลล์ บาร์เบลล์ด้วย จากนั้นมีเวลาพักผ่อนสบาย ๆ อีกสักชั่วโมง จึงได้เวลาแต่งตัว ขับรถเข้ากรุงเทพฯ แสดงตลกตามคาเฟต่าง ๆ คืนละ 3-4 แห่ง ถ้าวันไหนมีอัดรายการทีวีก็จะออกจากบ้านแต่หัววัน

และไม่ว่าจะดึกดื่นแค่ไหน ป๋าต๊อกจะต้องขับรถกลับมานอนที่บ้าน

“เวลาไปทํางานขับรถไปชั่วโมงเดียวก็ถึง ชอบขับรถเพราะขับรถทําให้ประสาทตาดี ความรู้สึกในร่างกายดีขึ้น ขากลับก็ขับมาเอง สบายมาก อย่างกรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เมื่อก่อนขับไปขับมาคนเดียวบ่อย”

ขายเสียงหัวเราะ

…ก็เช่นเดียวกับอาชีพนักแสดงตลกทั่วไป ยุคแรก ๆ บนถนนขายเสียงหัวเราะ ป๋าต๊อกก็ต้องเดินสายแสดงตลกทั่วประเทศอยู่เนือง ๆ ไม่ต่างจากผลงานบนจอเงิน เรื่องแล้วเรื่องเล่าที่ผ่านสายส่งไปปิดวิกเดินสายอยู่ทุกซอกมุมบนแผ่นดินไทย และโดยเหตุนี้ ไม่ว่าลูกเล็กเด็กแดงเป็นรู้จักป๋าต๊อกกันถ้วนหน้า

ชีวิตของสวง ตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก ชอบที่จะหนีเรียนไปหัดเล่นปี่พาทย์ เป่าแตร ตีกลอง แห่นาค รํากลองยาว กระตั้วแทงเสือ โขนสด จนพ่อแม่ต้องพาไปฝากกับพระอาจารย์ที่วัดท่าพระ เรียนมูลบทบรรพกิจจนจบ จึงเข้าเรียนในโรงเรียนต่ออีก 2 ปีก็จบชั้นประถมปีที่ 4

แต่แล้วเมื่อพ่อจะให้ไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่กรุงเทพฯ ด.ช.สวงไม่ยอมเหตุเพราะใจชอบด้านการแสดงพื้นบ้าน จึงแอบหนีไปเล่นปีพาทย์และแตรวงกับละครชาตรีแก้บนตามงานต่าง ๆ และมีโอกาสได้ร่วมขบวนแสดงต่อหน้าพระที่นั่งในงานพระราชพิธีตรียัมปวายโล้ชิงช้าครั้งสุดท้าย ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากจะเล่นดนตรีไทยเป็นเมื่ออายุ 15-16 แล้ว แวดวงนี้ก็ทําให้เขาได้รู้จักคลุกคลีอยู่กับศิลปินอีก กลุ่ม คือ เหม เวชกร, ไม้ เมืองเดิม, มนัส จรรยงค์ โดยการทําหน้าที่เป็นแมสเซนเจอร์ขี่จักรยานส่งต้นฉบับให้กับพี่ ๆ ได้เรียนรู้เรื่องการเขียนการ์ตูนบ้าง เรื่องเขียนหนังสือบ้าง จนสามารถเขียนบทภาพยนตร์ก็หลายเรื่อง อาทิ ทหารเกณฑ์ แสนรัก อะไรกันวะ ไอ้แก้วไอ้ทอง

แต่ก็ไม่ได้ดําเนินตามรอยพี่ ๆ เพราะ ใจยังฝักใฝ่ด้านการแสดงมากกว่า

ที่สุดก็เรียนหนังสือได้จบเพียงชั้นมัธยม 3 สวงออกมาช่วยพ่อแม่ทําสวน กระทั่งสวนล่ม ด้วยความแน่วแน่จึงประกาศตัวจะหากินด้วยการแสดงตลกเลี้ยงพ่อแม่ตอบแทนคุณ แม้ว่าตอนนั้นพ่อแม่จะไม่เห็นด้วย เพราะถือว่าเป็นการเต้นกินรํากิน แต่ด้วยความตั้งใจจริง ค่อย ๆ พัฒนาฝีมือการเล่น โดยหยิบเอาท่าทางแอกชันจากภาพยนตร์ที่ได้ดูได้เห็นมาตลอดมาเป็นแม่แบบของการแสดงตลก เล่นตามละครย่อยบ้างในงานวัด ชนะการประกวดเป็นประจํา หากินเล่นตลกเรื่อยมา และมีโอกาสได้ร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกเมื่ออายุ 19 ปี เรื่อง “วันจักรยาน”

ยุคเข้าสู่สงครามอินโดจีน สวงเข้ารับราชการเป็นทหารอากาศ ตําแหน่งพลปืนกลหลังประจําฝูงบินขับไล่กองทัพอากาศ แม้ว่าเสร็จสิ้นสงคราม ผู้บังคับบัญชาทุกเหล่าชั้นสนับสนุนให้รับราชการต่อ แต่สวงยังคงยืนยันที่จะเป็นศิลปิน จึงออกมาตั้ง “คณะเมฆดำ” แสดงตลกบนเวทีก่อนภาพยนตร์ฉาย ได้ร่วมงานกับสัมพันธ์ อุมากูล เจ้าของบทประพันธ์เพลง “เย้ยฟ้าท้าดิน” ซึ่งเป็นเหมือนครูคนแรกของเขา สอนเรื่องการแสดง ตั้งคณะจําอวดขึ้น โดยมี สมบุญ แว่นตาโต, แจ๋ว ดอกจิก และจอก ดอกจัน เป็นผู้ร่วมคณะ

“สมัยสงครามโลกญี่ปุ่นผมดังจะตาย ตอนนั้นอยู่กองดุริยางค์ทหารอากาศ เป็นทหารเพราะจอมพลสฤษดิ์ให้เป็น ไปต่างจังหวัดจะได้ไปคุยให้สบายใจ ตอนนั้นผมมีชื่อเสียงแล้ว เหมือนเป็นฝ่ายบันเทิงของทหาร เคยเล่นให้กับทหารญี่ปุ่นดู เอาเหตุการณ์วิกฤตที่เห็นมาเล่น เขาก็ชอบใจ ตบมือกันใหญ่… เล่นตลกแล้วก็ไปเล่นละครบ้าง ตอนหลัง ละครชายจริง-หญิงแท้ดัง ผมก็ไปเล่นละคร เป็นตลกในละคร”

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคที่ภาพยนตร์ต่างประเทศถูกจํากัดการนําเข้า เป็นเหตุให้คณะจําอวดเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น โดยการแสดงเปิดหน้าม่านภาพยนตร์ และแสดงสลับฉากละคร

ล้อต๊อกได้ร่วมกับจอก ดอกจัน, เสน่ห์ โกมารชุน ตั้ง “คณะลูกไทย” เพื่อรับแสดงตามงานวัดโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับเซียวก๊ก หรือบัณฑูร องค์วิสิษฐ์, สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ในคณะละครวิจิตรเกษม เปิดการแสดงเรื่อง “บู๊สง” ที่ศาลาเฉลิมกรุง

“ตอนนั้นญี่ปุ่นห้ามหนังต่างประเทศ ฉายได้แค่หนังญี่ปุ่น เราก็เล่นตลกสลับหนังญี่ปุ่น ตอนหลังจึงเล่นตลกสลับละคร”

ข้อจํากัดในการแสดงก็มีตั้งแต่ตอนก่อนสงครามโลก คือต้องเขียนเป็นเรื่องส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจเสียก่อน แล้วการแสดงละครย่อยก็ต้องมีบัตรจากกรมศิลปากร ไม่มีก็แสดงไม่ได้ เพราะกลัวจะพูดหยาบคาย พูดสิ่งไม่เป็นมงคล ไม่ใช่เป็นตลกจะพูดอะไรก็พูดได้ ไปต่างจังหวัดก็ต้องมีบทส่งก่อนเสมอ

“สมัยก่อนไม่มีใครยุ่งเรื่องการเมือง เพราะจอมพล ป. เป็นนายกฯ อะลุ้มอล่วยต่อศิลปิน จะมีเข้มงวดก็รัฐบาลนี้แหละที่บอกให้ปิดตี 2 ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ถูกต่อหลักประชาธิปไตย ประชาธิปไตยต้องมีสิทธิจากอํานาจที่อยู่ใต้กฎหมาย แล้วการแสดงละครก็เป็นเรื่องที่ใครค้าก็ค้า ใครขายก็ขาย เป็นกิจเสรี การจํากัดเวลาเป็นการผิดหลัก”

หลังสงครามเลิก ภาพยนตร์ต่างประเทศและภาพยนตร์ไทยเริ่มฉายตามโรงภาพยนตร์ ขณะที่ละครเวทีก็ยังอยู่ในยุคเฟื่องฟู พร้อมกับการเปิดดําเนินการของเฉลิมไทย ล้อต๊อกรับงานแสดงมากมาย กลายเป็นขวัญใจคนดูไม่แพ้พระเอกคนหนึ่ง

นายสวง ทรัพย์สำรวย หรือล้อต๊อก ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง

แม้จะมาถึงยุคที่ละครเวทีเริ่มเสื่อมลง นิยมสร้างภาพยนตร์ไทย 16 ม.ม.กันมาก งานแสดงของล้อต๊อกก็ยังไม่ลดน้อยลง โดยการเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์ ทั้งยังสร้างและกํากับเองอีกก็หลายเรื่อง ในนาม “ต๊อกบูมภาพยนตร์”

รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี “ตุ๊กตาทอง” ในเรื่อง “โกฮับ” และ “หลวงตา” และได้รับรางวัลพระสุพรรณหงส์ทองคําจากเรื่อง “เงิน เงิน เงิน” ดูจะเป็นการพิสูจน์ฝีมือการเป็นนักแสดงอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกับเรื่อง “หลวงตา” ที่นับได้ว่าสุดยอด

นอกจากนี้ ล้อต๊อกยังเป็นผู้บุกเบิกการแสดงตลกในจอแก้วด้วย “คณะต๊อกบูม” ร่วม กับชูศรี มีสมมนต์, สมพงษ์ พงษ์มิตร, ก๊กเฮง, ทองแถม เขียวแสงใส, ยืนยง จมูกแดง, ขวัญ สุวรรณะ และประสาน ปัทมะเจน เริ่มบุกวงการจอแก้ว สร้างรายการ “ขายหัวเราะ” และ “ประตูดวง”

แม้ว่าปัจจุบันศิลปินตลกร่วมรุ่นกับป๋าต๊อกจะเลิกราจากวงการไปแล้ว แต่ป๋าต๊อกยังทำหน้าที่ให้ความบันเทิงกับประชาชนอย่างสม่ำเสมอ อาทิตย์ละ 5 วัน วันละ 3-4 แห่ง ที่ดาราคาเฟ่, พระราม 9 คาเฟ่ และกรุงธนพลาซ่า ไม่รวมรายการตลกจอแก้ว

และยังคงมุ่งมั่นที่จะประกอบอาชีพนักแสดงตลกตลอดไปจวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต “ป๋าต๊อก” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง เสียชีวิตเมื่อ วันที่ 30 เมษายน 2545 ด้วยวัย 88 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2564