“เขาคอกคชคีรี” เมืองสระบุรี ว่าที่ราชธานีสำรอง สมัยรัชกาลที่ 4

เขาคอกคชคีรี โบราณสถานเขาคอก ราชธานีสำรอง
(ภาพจากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าคล้อ https://www.thaklor.go.th/gallery-detail.php?id=22)

เขาคอกคชคีรี หรือเขาคอกไอยรา หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เขาคอก” ตั้งอยู่ที่บ้านท่าคล้อ ตำบลท่าคล้อ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี มีความสำคัญในประวัติศาสตร์สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นว่าที่ราชธานีสำรอง แล้วเหตุใดพระองค์ถึงทรงเลือกที่นี่?

โบราณสถานเขาคอก เขาคอกคชคีรี ราชธานีสำรอง
โบราณสถานเขาคอก (ภาพจากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าคล้อ https://www.thaklor.go.th/gallery-detail.php?id=22)

เขาคอกคชคีรี ว่าที่ราชธานีสำรอง

สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นช่วงเวลาที่ชาติตะวันตกล่าอาณานิคม พระองค์ทรงวิตกว่า ชาติตะวันตกอาจหาเหตุเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในสยาม อีกทั้งกรุงเทพมหานครก็ตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำ หากเกิดเหตุขัดแย้งขึ้นมา อีกฝ่ายอาจเอาเรือรบเข้ามาประชิดได้

ราว พ.ศ. 2401 รัชกาลที่ 4 จึงมีพระราชดำริเรื่องการหาเมืองหลวงหรือราชธานีสำรอง และโปรดให้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปสำรวจพื้นที่ที่เมืองนครราชสีมา ทว่ากลับเป็นเมืองที่น้ำท่าไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์นัก

เรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” ว่า

“…ตั้งแต่ทำหนังสือสัญญาทางไมตรีกับฝรั่ง มีกงสุลต่างชาติเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ในสมัยเมื่อไทยกับฝรั่งยังไม่คุ้นกัน ถ้าเกิดโต้เถียงกัน พวกกงสุลมักขู่ว่าจะเรียกเรือรบเข้ามากรุงเทพฯ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รำคาญพระราชหฤทัย ทรงพระดำริตั้งเมืองลพบุรีเป็นราชธานีสำรองเหมือนอย่างเช่นสมเด็จพระนารายณ์ แต่มีความเห็นอีกอย่างหนึ่งว่าควรตั้งเมืองนครราชสีมา จึงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นไปตรวจ แต่ทรงเห็นว่าเมืองนครราชสีมากันดารน้ำนัก พระองค์โปรดที่เขาคอกในแขวงเมืองสระบุรี จึงคิดทำที่มั่นเขาคอกนั้นสำหรับพวกพระบวรราชวัง เป็นเหตุให้สร้างที่ประทับ ณ ตำบลสีทา ที่ริมแม่น้ำป่าสักใกล้กับเขาคอกตั้งแต่นั้นมา…”

เขาคอกที่เมืองสระบุรี ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

ประวัติศาสตร์เมืองสระบุรี จากศรีทวารวดี สู่ ศรีรัตนโกสินทร์ เขาคอกคชคีรี
หนังสือ “ประวัติศาสตร์เมืองสระบุรี จากศรีทวารวดี สู่ ศรีรัตนโกสินทร์”

“พระบวรราชวังสีทา” ที่ประทับพระปิ่นเกล้า

“ราชกิจจานุเบกษา” จ.ศ. 1220 (พ.ศ. 2401) ระบุถึงเมื่อครั้งพระปิ่นเกล้าเสด็จฯ ทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆ ที่มีความเหมาะสมจะเป็นราชธานีสำรองไว้ว่า

“…วันจันทรเดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กราบถวายบังคมลา เสด็จพระราชดำเนินไปประพาศเมืองสระบุรีโดยเรือพระที่นั่งกลไฟ เสด็จพระราชดำเนินถึงบ้านสองคอนแขวงเมืองสระบุรี

วันอังคารเดือน ๙ แรม ๑๔ ค่ำ ทรงจดหมายบอกลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย มีรายการน้ำฝนว่าฝนตกมาก ตั้งแต่กลางคืนวันอังคารเดือน ๙ แรม ๑๔ ค่ำ มาจนวันเสาร์เดือน ๑๐ ขึ้น ๔ ค่ำ ได้น้ำฝนลงในที่รองมากกว่า ๒๐ นิ้ว เสด็จประทับแรมอยู่ จะทรงทอดพระเนตรที่ปลูกตำหนัก ณ เขาคอกคชคีรี

ทรงกำหนดไว้ว่าได้เสดจ์พระราชดำเนินไปทรงทอดพระเนตรแล้ว เมื่อจวนจะถึงวันพระราชพิทธีถือน้ำพระพัทสัตยา จะเสดจ์พระราชดำเนินกลับมากรุงเทพมหานคร…”

ในเวลาที่พระองค์เสด็จฯ ไปสำรวจเขาคอกไอยรานั้น พระปิ่นเกล้าทรงสร้างพระราชวังที่ประทับ ซึ่งเรียกกันว่า “พระบวรราชวังสีทา” หรือ “ตำหนักบ้านสีทา” ขึ้น รวมทั้งทรงสร้างพระอารามไว้ที่บ้านสีทา เมืองสระบุรี ซึ่งเมืองสระบุรีเป็นเมืองที่มีชุมชนลาวขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ปัจจุบันพระบวรราชวังสีทาตั้งอยู่ที่บ้านสีทาเหนือ ตำบลสองคอน อำเภอแก่งคอย ริมแม่น้ำป่าสักฝั่งตะวันตก

อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบทต่างๆ และด้วยพระปรีชาสามารถในรัชกาลที่ 4 ทำให้ท้ายที่สุด สยามไม่จำเป็นต้องมีราชธานีแห่งใหม่แต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศานติ ภักดีคำ. “บทที่ 10 เมืองสระบุรีเมืองสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๔” ใน, ประวัติศาสตร์เมืองสระบุรี จากศรีทวารวดี สู่ ศรีรัตนโกสินทร์. สุทธิพงษ์ จุลเจริญ และ วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ, เจ้าของลิขสิทธิ์และจัดทำ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มติชน, 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2567