ถอดนัย “คาถาขอขมาลาพระสงฆ์” ร.4 ทรงพระราชนิพนธ์ก่อนเสด็จสวรรคต สะท้อนอะไร?

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชนิพนธ์ “คาถาขอขมาลาพระสงฆ์” ก่อนเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว พระราชนิพนธ์นี้ทรงเป็นภาษามคธมีใจความขอขมาลาพระสงฆ์ ด้วยจิตสำนึกสุดท้าย ภาษาที่ทรงพระราชนิพนธ์ก็สะท้อนคุณค่าและพระปรีชาสามารถในด้านภาษา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ชีวิตสมณเพศแบบบัณฑิตของพระองค์ถึง 27 ปี เมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์ จึงเป็นกษัตริย์องค์เดียวของไทยที่มีความรู้ภาษาบาลีแตกฉาน ขั้นสามารถพระราชนิพนธ์ผลงานเป็นจำนวนมาก

คาถาขอขมาลาพระสงฆ์

รศ. ดร. สุภาพรรณ ณ บางช้าง วิเคราะห์การใช้ภาษาบาลีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ทรงใช้ในลักษณะการสื่อสารทั่วไป ไม่ใช่ในลักษณะภาษาคัมภีร์เหมือนสมัยก่อน เพื่อสนองเป้าหมาย 3 ประการ คือ วิเคราะห์วิจารณ์ประวัติเหตุการณ์ทางพระพุทธศาสนา, บันทึกประกาศเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา หรือเรื่องที่มุ่งหวังให้เกิดความเป็นสิริมงคล และติดต่อกับพระภิกษุสงฆ์ทั้งภายในและนอกประเทศ

ผลงานพระราชนิพนธ์ชิ้นสุดท้ายคือ “คาถาขอขมาพระสงฆ์” ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเย็นวันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2411 (วันพุธ เดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ) วันต่อมาพระองค์เสด็จสวรรคต บทความของ ดร.สุภาพรรณ อธิบายว่า พระราชนิพนธ์นี้ปรากฏในบันทึกของ “เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง” ในเวลานั้นดำรงตำแหน่ง “พระบุรุษรัตนราชพัลลภ” ถวายการรับใช้ใกล้ชิด

เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง บันทึกไว้ว่า

“เวลา 5 โมงเศษมีพระบรมราชโองการรับสั่งแก่พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภว่า ให้ไปหาตาฟัก (พระศรีสุนทรโวหาร) เข้ามา ให้หาสมุดดินสอเข้ามาด้วย เมื่อจะเข้ารอคอยเวลาที่สบายจึงให้มาแล้วรับสั่งกับหลวงเดโชว่า หมอขาข้าจะธุระจะทำการ หมอช่วยทุกขเวทนาลมทีเสียดแทงให้ถอยลงสักหน่อยจะได้หรือมิได้ หลวงราโชรับว่าจะฉลองพระเดชพระคุณได้ด้วยเกล้าฯ หลวงราโชก็แก้ไขถวายงานพอพระวาโยที่เสียดแทงคลายลง พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภจึงทูลฉลองว่า พระศรีสุนทรโวหารเข้ามาเฝ้าทูลละอองแล้ว จึงรับสั่งพระศรีสุนทรโวหารเป็นภาษามคธยืดยาว เรื่องความอนาถปิณทิโกวาทจบลงแล้ว จึงรับสั่งพระศรีสุนทรโวหารว่า ที่ตรัสภาษามคธดังนี้ผิดเพี้ยนอย่างไรบ้าง”

พระศรีสุนทรโวหาร กราบทูลพระกรุณาว่า ซึ่งทรงภาษามคธนี้จะได้ผิดเพี้ยนแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดหามิได้ เหมือนไม่ทรงพระประชวร จึงรับสั่งว่าพระอาการก็มากถึงเพียงนี้แล้ว ยังมีสติไม่ฟั่นเฟือน ให้เอาสมุดดินสอมา จะให้เขียนคาถาลาพระ ทรงเป็นภาษามคธจนจบ

บทพระราชนิพนธ์ฉบับแปลความหมายมีอยู่ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพกรวงศ์ และในบันทึก “จดหมายเหตุเรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแรกทรงประชวรจนถึงเวลาสวรรคต” โดย เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง

แปลความหมาย “คาถา” ทรงแต่ง 1 วันก่อนสวรรคต

รศ. ดร. สุภาพรรณ อธิบายว่า สำนวนแปล “คาถาขอขมาลาพระสงฆ์” จากทั้งสองฉบับแตกต่างกันบ้าง ในบันทึกของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง บอกเกี่ยวกับคำแปลว่า “แต่คำแปลในคาถาที่ทรงลาพระแลขอขมาพระสงฆ์ประเดียงไปที่วัดราชประดิษฐ์” เข้าใจว่า ได้มีจัดทำคำแปลภาษาไทยไว้เมื่อครั้งนั้นแล้ว อาจให้พระศรีสุนทรโวหารเป็นผู้แปล หรือพระองค์เป็นผู้แปลเอง

คำแปลมีว่า (จัดย่อหน้าใหม่เพื่อความสะดวกในการอ่าน-กอง บก. ออนไลน์)

“เหมือนครั้งตัวฉันยังเป็นภิกษุอยู่ ฉันได้เจรจาคำนี้อยู่เนืองๆ ว่า เกิดจากครรภ์มารดาแล้วในวันพระมหาปวารณาคือ วันพฤหัสบดีเดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ถ้าเมื่อเราจะตายหากว่าป่วยหนักลง พวกศิษย์นำไปถึงที่ประชุมสงฆ์ทำปวารณาในโรงอุโบสถยังประกอบด้วยกำลังเช่นนั้นไรเล่า เราถึงธรรมปวารณา สามจบแล้วตายเฉพาะที่หน้าพระสงฆ์ การที่ได้ทำนั้นเป็นการดี เป็นการสงเคราะห์ควรแก่เรา

วาจาอย่างนี้ฉันได้พูดเป็นเนืองๆ เมื่อครั้งเป็นภิกษุ บัดนี้ฉันเป็นคฤหัสถ์จะทำอะไรได้อย่างที่ว่านั้น เพราะฉะนั้นจึงส่งเครื่องสักการบูชาเหล่านี้ทำให้เป็นของแทนตัวฉัน วันมหาปวารณาคือวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ วันนี้เป็นวันพฤหัสบดีเหมือนเมื่อวันฉันเกิด ก็ความเจ็บไข้ของตัวฉันเจริญทวีมากขึ้น ตัวฉันกลัวว่าจะต้องตายลงในวันนี้ ฉันขอลาพระสงฆ์ ฉันขออภิวาทไหว้ต่อพระผู้มีพระภาค พระอรหังสัมมนาสัมพุทโธเจ้า แม้นพระนิพพานแล้วนาน ฉันขอนมัสการพระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น ขอนอบน้อมพระอริยสงฆ์ด้วยตัวฉันขอลาผู้ได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่ระลึกแล้ว

‘โทษคือความล่วงเกิน ข้าพเจ้าเป็นคนพาลคนหลงไม่ฉลาดด้วยประการใด ตัวข้าพเจ้าคนไรเล่า ณ อาตมาภาพนี้เป็นผู้ประมาทแล้วอย่างนั้น ได้ทำกรรมเป็นอกุศลทั้งหลาย ขอพระสงฆ์จงรับโทษล่วงเกินของข้าพเจ้านั้นเป็นคนโทษล่วงเกินจริง เพื่อสังวรระวังตนต่อไปข้างหน้า’

บัดนี้ตัวฉันได้ทำการอธิษฐานการสังวรระวังในศีลห้าแล้ว ปลูกกรรมทำในใจอย่างนี้ ศึกษาอยู่ในขันธ์ทั้งหลายในอายตนะทั้งหลายภายในหกภายนอกหก ในวิญญาณทั้งหลายหก ในสัมผัสทั้งหลายหก ในเวทนาทั้งหลายหก ซึ่งเป็นไปในทวารทั้งหลายหก ของนั้นไม่มีในโลก ของไรเล่าเมื่อสัตว์เขาถือเอามั่นจะถึงไม่มีโทษ อนึ่งฤาบุรุษเขาถือเอามั่นของสิ่งไรเล่า

ตัวฉันศึกษาความไม่ยึดหน่วงถือเอาสรรพสิ่งการทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตาไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา ใช่ตัวใช่ตน ย่อมเป็นไปตามปัจจัย ของนั้นไม่ใช่ของเรา ส่วนนั้นใช่เราไม่เป็นเรา ส่วนนั้นไม่เป็นแก่นสาร ใช่ตัวใช่ตน ความตายใดๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ความตายทั้งหลายไม่เป็นของอัศจรรย์เพราะความตายนั้นไม่เป็นอกุศลหนทางไป สัตว์ทั้งหลายทั้งหมดด้วยกัน ขอพระผู้เป็นเจ้าจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ฉันขอลาขอไหว้นมัสการ ข้อที่ได้เป็นความผิดพลั้งของตัวฉัน

ขอพระสงฆ์จงงดโทษเป็นความผิดของข้าพเจ้านี้เถิด ครั้นเมื่อความตายของข้าพเจ้าแม้นถึงความกระสับกระส่ายอยู่ จิตจะไม่เป็นกระสับกระส่าย ข้าพเจ้าศึกษาอยู่อย่างนี้ ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้”

เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง เล่าในบันทึกว่า หลังจากทรงแต่งคาถาลาพระสงฆ์เสร็จแล้ว ทรงมีรับสั่งกับพระศรีสุนทรโวหาร ให้นำไปคัดลอกให้อ่านง่ายๆ ให้ไปสั่งมหาดเล็กให้จัดเครื่องนมัสการไปตั้งที่อุโบสถพระเชตุพนฯ ที่วัดราชประดิษฐ์ เมื่อพระสงฆ์จะกระทำวินัยกรรมปวารณาพระพรรษาในพระอุโบสถให้จุดธูปเทียน แล้วจึงอ่านคาถาพระท่ามกลางพระสงฆ์แทนพระองค์ วันต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม (วันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ) พระองค์เสด็จสวรรคต

รศ. ดร. สุภาพรรณ วิเคราะห์เนื้อความ “คาถาขอขมาลาพระสงฆ์” โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นคือ

1. ในผลงานทรงระบุวันที่พระราชนิพนธ์ว่า “วันนี้เป็นวันพฤหัสบดี เหมือนเมื่อวันฉันเกิด” อย่างไรก็ตาม วันที่ทรงพระราชนิพนธ์นั้นเป็นวันพุธที่ 30 กันยายน และทรงสิ้นพระชนม์วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม ไม่ใช่ความสับสนของพระองค์หรือของผู้บันทึก น่าจะเป็นการตั้งพระทัยที่จะใส่ตามที่ทรงตระหนักว่า “ตัวฉันเกรงว่าจะต้องตายลงในวันนี้” โดย “วันนี้” เป็นวันที่ส่งคาถาขอขมานี้ไปถวายพระสงฆ์ด้วย

2. พระราชนิพนธ์ไม่ยาวนัก กระชับและสมบูรณ์ ส่วนที่ 1 เกริ่นนำเล่าเหตุผลที่มาของการเขียน ส่วนที่ 2 เป็นคำขอขมา อยู่ตอนกลางและปลาย และส่วนที่ 3 เล่าถึงความเจริญ วิเคราะห์ธรรม และภาวะความรู้ความเข้าใจในช่วงใกล้สิ้นพระชนม์

3. การเตรียมพระองค์ในช่วงที่ทรงรู้ว่าใกล้สิ้นพระชนม์ ส่วนนี้เป็นส่วนที่มีคุณค่ามาก จากที่เห็นได้ว่าพระองค์ทรงทุกข์ทรมานพระวรกาย กระสับกระส่ายตามแรงแห่งอาการโรค แต่ทรงยืนยันว่า จิตใจของพระองค์มิได้หวั่นไหวกระสับกระส่ายตาม ทรงตั้งเจตนาสังวรใจกายให้ดำรงมั่นในศีล 5 แล้วกระทำกรรมฐาน เฝ้าตามรู้พิจารณาธรรมชาติแห่งชีวิตของพระองค์เอง

ทรงเข้าใจชัดเจนว่า ภาวะชีวิตเป็นอนัตตา และ “ใช่ตัวใช่ตน ย่อมเป็นไปตามปัจจัย ของนั้นใช่ของเรา ส่วนนั้นใช่เรา ไม่เป็นเรา ส่วนนั้นไม่เป็นแก่นสาร ใช่ตัวใช่ตน” “ความตายใดๆ ของสัตว์ทั้งหลายไม่เป็นของอัศจรรย์”

ด้วยสิ่งที่น่าสนใจทั้ง 3 ประการ ทำให้ รศ. ดร. สุภาพรรณ เห็นว่าพระราชนิพนธ์นี้มีคุณค่ามาก โดยเฉพาะในฐานะพระมหากษัตริย์ในช่วงก่อนวันสวรรคต ซึ่งทำให้รับรู้ถึงภาวะและความเข้าใจของพระองค์ที่มีต่อความเป็นจริง การใช้เวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตพัฒนาจิตให้ดำรงอยู่ในศีลในธรรม พยายามกระทำในส่งที่ทรงเห็นว่าพึงกระทำเพื่อการลด-ละกรรม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 52 จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472, (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร ครบสัปตมวาร วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2472)

ตำนานพระแก้วมรกตฉบับสมบูรณ์. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรบริการ, 2504

ทิพารกรวงศ์, เจ้าพระยา. พระราชพงษาวศารดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. 2 เล่ม, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2504

ประชุมพระราชนิพนธ์ภาษาบาลีในรัชกาลที่ 4 ภาคที่ 2. นครหลวง : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2515

สุภาพรรณ ณ บางช้าง. “พระราชนิพนธ์ขอขมาลาพระสงฆ์ก่อนสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 4”. ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 7 ฉบับที่ 9 (กรกฎาคม 2529)

“จดหมายเหตุเรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแรกทรงประชวรจนถึงเวลาสวรรคต” บันทึกโดยเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง เมื่อครั้งเป็นพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ. แถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี. 9 (มกราคม-มิถุนายน 2528) : 35-50.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 2562