ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ประตูน้ำ” เป็นย่านมีชื่อเรื่องการเลือกซื้อเสื้อผ้า ก่อนที่การซื้อขายออนไลน์จะโตในสังคมไทย พื้นที่แห่งนี้เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในย่านทองคำในการได้เสื้อผ้าราคาถูก ทั้งยังมีหลากหลายสไตล์
แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมต้องเรียกประตูน้ำ และทำไมคนนิยมขายเสื้อผ้ากันที่นี่
ประตูน้ำ
เรื่องนี้ต้องย้อนไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์โปรดฯ ให้สร้างประตูระบายน้ำที่คลองแสนแสบ คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก คลองประเวศ และคลองสำโรง เพื่อทดน้ำใช้สำหรับเพาะปลูก รวมถึงรักษาระดับน้ำไว้เพื่อคมนาคม
ในคลองแสนแสบมีประตูระบายน้ำอยู่ 3 ประตู ได้แก่ ประตูน้ำสระปทุม ประตูน้ำบางขนาก และประตูน้ำท่าไข่ แต่ความพิเศษคือ ประตูน้ำสระปทุมมีเวลาเปิดปิดแน่นอน ทั้งยังเป็นทางผ่านของเหล่าแม่ค้าที่กำลังจะพายเรือไปขายของที่สี่แยกมหานาค (จุดตัดระหว่างคลองมหานาคและคลองผดุงเกษม) ย่านค้าขายที่ยิ่งใหญ่ในเวลานั้น
เมื่อต้องรอเวลาประตูน้ำสระปทุมเปิดปิด แม่ค้าแม่ขายหลายคนจึงตัดสินใจขายของที่ประตูน้ำเพื่อรอเวลา จนทำให้ประตูน้ำดังกล่าวกลายเป็นตลาดแห่งหนึ่งไปโดยปริยาย
ต่อมา ในรัชกาลที่ 5 อีกเช่นกัน มีการตัดถนนไปยังประตูน้ำ 2 เส้น ได้แก่ ถนนประแจจีน (ถนนเพชรบุรี) และถนนราชดำริ และสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ยิ่งขยายการตัดถนนมากขึ้น มีการสร้างโรงงานซ่อมรถไฟที่มักกะสัน มีเรือเมล์ รถเมล์ผ่าน ทำให้ย่านประตูน้ำมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น
ในช่วง พ.ศ. 2504 ย่านประตูน้ำยังคงเป็นตลาดสด ประกอบด้วย ตลาดเฉลิมโลกและตลาดเฉลิมลาภ (ตลาดเฉลิมลาภใหญ่กว่า) สินค้าส่วนใหญ่ที่ค้าขายก็จะเป็นอาหารสดเป็นหลัก
ส่วนการค้าขายผ้าเมตร และรับตัดเย็บเสื้อผ้า หรือ tailor-made ที่รวดเร็ว และไม่แพง เพิ่งกำเนิดขึ้นทีหลัง และขยายตัวจากตลาดเฉลิมลาภก่อน เริ่มมีการขายผ้าเมตรเยอะมากขึ้น กลายเป็นแหล่งรับตัดเสื้อผ้าให้กับต่างชาติ รวมถึงส่งออกไปยังต่างประเทศ
งานของที่นี่จะแตกต่างจากโบ๊เบ๊ ซึ่งในเวลาไล่เลี่ยกันกลายเป็นย่านค้าส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปเรียบร้อยแล้ว โดยย่านประตูน้ำจะเน้นไปที่งานบูติก งานแฟชั่น หรือเสื้อผ้าที่มีกระบวนการมากกว่า
เมื่อผู้คนเริ่มมีภาพจำของย่านนี้เกี่ยวโยงกับเสื้อผ้า แทนที่จะเป็นอาหารสด จึงทำให้ย่านนี้หันมาทำกิจกรรมเรื่องเสื้อผ้าเต็มตัว
รวมถึงมีทุนในประเทศ อย่าง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และ นายเล็งเลิศ ใบหยก รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น โรงแรม ชื่อว่า “โรงแรมอินทรา” ห้าง หรือโรงหนัง
ต่อมาก็ได้สร้างศูนย์การค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยเฉพาะ เนื่องจากเทรนด์การขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปมาทดแทนการตัดเสื้อผ้า
เหตุนี้เองจึงทำให้มีการค้าขายเสื้อผ้ามากขึ้น และทำให้ “ย่านประตูน้ำ” กลายเป็นแหล่งช็อปปิ้งเสื้อผ้าที่คนไทยคุ้นเคยกันดีมาหลายสิบปีนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- “โบ๊เบ๊” มาจากไหน? กลายเป็นตลาดขายเสื้อผ้าเมื่อใด? เพราะใคร?
- วัดสิงห์ ริมคลองสนามชัย เขตจอมทอง กรุงเทพฯ เป็นวัดเก่า ยุคอยุธยา
- สงสัยไหม ทำไม “ลาดพร้าว” หนึ่งในเขตของกรุงเทพมหานคร ถึงได้ชื่อนี้?
- “ห้วยขวาง” เขตหนึ่งในกรุงเทพฯ มาจากไหน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วิสุทธา กฤตยาพิมลพร. พัฒนาการของธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปย่านประตูน้ำ (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), 2550.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2567