“โบ๊เบ๊” มาจากไหน? กลายเป็นตลาดขายเสื้อผ้าเมื่อใด? เพราะใคร?

คลองมหานาค สะพานเฉลิมราษฎร์ 32 โบ๊เบ๊
ภาพในอดีตของ คลองมหานาค และสะพานเฉลิมราษฎร์ 32 บริเวณตลาดโบ๊เบ๊

“โบ๊เบ๊” มาจากไหน? กลายเป็น “ตลาดขายเสื้อผ้า” เมื่อใด? เพราะใคร?

ย่านโบ๊เบ๊ แต่เดิมเป็นที่รู้จักว่าย่าน “ตลาดเก่า” ตั้งอยู่บนที่ดินผืนเดียวกับวัดบรมนิวาส ซึ่งวัดเป็นเจ้าของที่ดิน ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างทางรถไฟ ทำให้วัดกับตลาดเก่าถูกแบ่งแยกโดยทางรถไฟ

วัดบรมนิวาส สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนตลาดเก่านี้ไม่ปรากฏข้อมูลแน่ชัดว่ากำเนิดขึ้นเมื่อใด รัชกาลใด แต่คงเป็นย่านการค้าที่สำคัญบริเวณคลองมหานาคมานาน เมื่อการค้าขายเจริญมากขึ้นก็ขยายตลาดออกไปด้านข้าง คือ “ตลาดกลาง” และ “ตลาดสามชั้น” ต่อมาได้ขยายออกไปฝั่งตรงข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ในแขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย หรือบริเวณโรงพยาบาลหัวเฉียว ไปจนถึงบริเวณสะพานเจริญราษฎร์ 32 และเมื่อ พ.ศ. 2535 ก็ขยายการค้าเลยสะพานเจริญราษฎร์ 32 ไปจนถึงถนนหลานหลวง หรือบริเวณโบ๊เบ๊ทาวเวอร์ในปัจจุบัน

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน โดยเฉพาะเสื้อผ้า-เครื่องนุ่งห่ม จึงมีผู้นำเสื้อผ้าเก่าสภาพดีมาขาย หรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าจำเป็นอื่น ๆ เช่น ไข่ น้ำตาล ฯลฯ การค้าในสมัยนั้นทำโดยการวางขายกับพื้น ยังไม่มีการตั้งร้านถาวร เมื่อสงครามยุติ จึงตั้งร้านค้าเป็นระเบียบมากขึ้น

พ.ศ. 2489 พระธรรมดิลก (ทองคำ จนฺทูปโม) ขณะยังเป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาส วัดบรมนิวาส (ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส รูปที่ 7 ตั้งแต่ พ.ศ. 2500-2515) และพระเถรานุเถระของวัด ได้อนุมัติให้เปิด “ตลาดผ้า” ขึ้นบริเวณหน้าวัด มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาที่ดินหน้าวัดที่เต็มไปด้วยวัชพืช และเพื่อหาทุนสำหรับทำนุบำรุงวัด บูรณะเสนาสนะที่ทรุดโทรม เพราะถูกระเบิดทำลาย

ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมดิลก (ทองคำ จนฺทูปโม) อธิบายว่า “…การเปิดตลาดขายผ้าขึ้นในบริเวณหน้าวัดครั้งนั้นได้รับความนิยม ทำให้วัดมีรายได้วันละประมาณ 170 บาท การติดตลาดผ้าครั้งนั้น ได้รับความนิยมจากบรรดาพ่อค้าผ้าทั้งหลายเกินความคาดหมาย มีผู้สัญจรไปมาเพื่อการซื้อและการขายวันละมาก ๆ เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งทำให้พระภิกษุสามเณรไม่ได้รับความสะดวกอยู่บ้าง บริเวณวัดสกปรกไม่สะอาด

ประกอบกับทั้งเมื่อ พ.ศ. 2489 เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ติสฺสเถร (เจ้าอาวาส-ผู้เขียน) จะย้ายกลับมาวัดบรมนิวาส พระเถรานุเถระในวัดจึงเห็นสมควรย้ายตลาดออกไปอยู่นอกวัด และให้ไปตั้งอยู่ตลาดโบ๊เบ๊ ซึ่งเป็นที่ดินเขตจัดผลประโยชน์ของวัดบรมนิวาส… ตลาดโบ๊เบ๊ซึ่งเป็นเขตจัดผลประโยชน์ของวัดก็ถึงซึ่งความเจริญขึ้นโดยลำดับ อันเป็นเหตุให้มีทุนสำหรับบูรณะเสนาสนะของวัดบรมนิวาสมาจนถึงปัจจุบันนี้…”

ภาพ คลองมหานาค และสะพานเฉลิมราษฎร์ 32

ดังนั้น  “โบ๊เบ๊” จึงได้กลายเป็นย่านขายสินค้าจำพวกเสื้อผ้า-เครื่องนุ่งห่ม หรือเป็น “ตลาดขายเสื้อผ้า” เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เอง อย่างไรก็ตาม ย่านโบ๊เบ๊มิใช่ย่านการค้าขายแต่เพียงอย่างเดียว ยังเป็นย่านชุมชนที่อยู่อาศัยของคนหลากหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะคนจีน และในอดีตก็เคยมีโรงงานตั้งอยู่จำนวนมาก เช่น โรงซ่อมเรือ โรงเลื่อย โรงปูนกินหมาก โรงกระทะ โรงต้มถั่ว ฯลฯ

คำว่า “โบ๊เบ๊” เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “บ๊งบ๊ง” เนื่องจากช่วงที่ขายเสื้อผ้าเก่า ผู้คนที่มาค้าขายมักจะส่งเสียงดังหนวกหู จนคนแถบนี้เรียกว่า “ตลาดบ๊งบ๊ง” นอกจากนี้ เมื่อครั้งอดีต ตลาดโบ๊เบ๊ยังได้ชื่อว่าขายของโก่งราคา เรียกว่า “ราคาโบ๊เบ๊” คือผู้ซื้อสามารถต่อรองราคาลงมาได้อีกมากจากราคาที่บอกไว้ ซึ่งผู้ขายมักขายแพงกว่าความเป็นจริง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ประชุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 และนิพนธ์ของพระอมราภิรักขิต (เกิด). (2516). พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมดิลก (ทองคำ จนฺทูปโม) วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : พุทธอุปถัมภ์การพิมพ์.

บุญยง ชื่นสุวิมล. (2543). สถาบันครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตกรุงเทพมหานคร : ระบบครอบครัวและความสัมพันธ์ทางสังคม ของคนไทยเชื้อสายจีนในชุมชนโบ๊เบ๊. รายงานผลการวิจัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน 2563