“ตลาดนัด” มาจากไหน? ย้อนรอยตลาดนัดในกรุงเทพฯ ถึงตำนานตลาดนัดสนามหลวง

ตลาดนัด สนามหลวง
ตลาดนัดสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2523 ภาพถ่ายโดยคุณเอนก นาวิกมูล วันเสาร์ ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2523 ม้วนที่ 512 (จากหนังสือ วังบ้านฐานถิ่น โดยเอนก นาวิกมูล สำนักพิมพ์แสงดาว, 2542)

ตลาด มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ตลาดน้ำ ตลาดบก ตลาดสด หาบเร่แผงลอย และโดยเฉพาะ ตลาดนัด ซึ่งอาจไม่แตกต่างกับตลาดทั่วไป แต่มีความพิเศษอยู่ที่การกำหนด “เวลา” ในการ “นัด” การซื้อขาย ตามที่ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของตลาดนัดไว้ว่า “ที่ชุมนุมเพื่อซื้อขายของต่าง ๆ ซึ่งมิได้ตั้งอยู่ประจำ จัดให้มีขึ้นเฉพาะในวันหรือสถานที่ที่กำหนดเท่านั้น”

รูปแบบของตลาดนัดมีผู้อธิบายไว้ว่า “เหตุผลของการเกิดตลาดนัด…เนื่องจากวิถีชีวิตของชาวไทยนั้นชอบอยู่กันเป็นหมู่คณะ และรักความสะดวกสบาย ไม่ชอบที่จะต้องเดินทางไปซื้อขายแลกเปลี่ยนไกลบ้าน จึงทำให้เกิดกลุ่มคนที่นัดกันเป็นกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ โดยจัดเป็นชุมนุมเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของหรือซื้อขาย ซึ่งต่อมาเรียกว่า ตลาดนัด”

Advertisement

สมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่า ตลาดปสาน อาจเป็นหนึ่งในตลาดนัดสมัยนั้น สมัยอยุธยาก็มีตลาดนัดทั้งบกและน้ำ รวมถึง ตลาดป่า ที่เรียกตลาดป่าเพราะคนป่าคนเขา เวลาเข้ามาค้าขายในเมืองก็จะนำสินค้ามาวางขาย เหมือนนัดหมายกันที่ตลาดแห่งนี้ ขายตอนเช้าครั้งหนึ่ง ตอนเย็นอีกครั้งหนึ่ง

ตลาดนัดสมัยธนบุรี ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา แต่จะมีขนาดเล็กกว่า เป็นตลาดที่เรียกกันว่า ตลาดสายหยุด เปิดขายตั้งแต่เช้า ถึงช่วงสายก็เลิกขาย แล้วกลับมาเปิดใหม่ตอนบ่ายถึงเย็น

สมัยรัตนโกสินทร์ ก็มีตลาดนัดกระจายทั่วไป เช่น ตลาดนัดบริเวณปากคลองตลาดรวมถึงท่าเตียน สินค้าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับบรรดาข้าราชสำนักโดยเฉพาะ บริเวณอื่น ๆ ก็มีตลาดนัด เช่น ตลาดนัดของคนจีนแถวตลาดน้อย สำเพ็ง ตลาดนัดของคนเขมร คนญวนแถวคลองผดุงกรุงเกษม และตลาดนัดของพวกฝรั่งแถวบางรัก บางคอแหลม

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุ เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ประชาชนหาซื้อข้าวของเครื่องใช้กันลำบาก รวมถึงเกษตรกรก็เดือดร้อน จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จึงจัดให้มีตลาดนัดส่งเสริมอาชีพกสิกรรมและเกษตรกรรม จัดขึ้นที่ “ศาลาเทศบาลนครกรุงเทพ” แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม ประชาชนมาจับจ่ายกันในช่วงเช้า สายถึงบ่ายก็ไม่มีคนแล้ว สินค้าซื้อขายในช่วงแรกยังไม่มีสินค้าจากต่างจังหวัดและจากสวนใกล้เคียง มักจะเป็นของกินเล่น

ต่อมา ตลาดนัดนี้จึงค่อย ๆ นิยมเพิ่มขึ้น มีสินค้าหลากหลายมาขายเพิ่มขึ้น สถานที่เริ่มคับแคบจึงย้ายไปที่สนามหลวง จนกลายเป็นตลาดนัดที่หลาย ๆ คนรู้จักคือ “ตลาดนัดสนามหลวง”

ตลาดนัดสนามหลวง เปิดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2491 ขณะที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังให้เปิดตลาดนัดขึ้นแทบทุกจังหวัด ปีต่อมาทางการต้องใช้พื้นที่สนามหลวงจึงย้ายตลาดนัดไปอยู่ในพระราชอุทยานสราญรมย์ ปรากฏว่าตลาดนัดยิ่งได้รับความนิยมสูงมาก

ต่อมากระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเดิมทำการอยู่ที่พระราชวังสราญรมย์ ร้องเรียนกลิ่นปลาเค็ม หอยดอง ปลาร้า ปลาเจ้า กะปิ น้ำปลา สารพัดกลิ่นส่งไปถึงกระทรวง รวมถึงพันธ์ุไม้ก็เฉาตายไปมากเพราะการจัดการไม่ถูกสุขลักษณะ ราดน้ำร้อนบ้าง น้ำก๋วยเตี๋ยวบ้าง น้ำล้างหม้อบ้าง

ในที่สุด พ.ศ. 2500 จึงย้ายออกจากพระราชอุทยานสราญรมย์มาด้านนอก ด้านถนนราชินี บริเวณคลองหลอด แต่ปรากฏว่าได้ปลูกเพิงสร้างแคร่จนเป็นภาพไม่งดงาม จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี จึงให้ย้ายตลาดนัดนี้กลับไปยังสนามหลวงตามเดิมใน พ.ศ. 2501 โดยในระยะนั้นมีผู้ค้าประมาณ 300-400 ราย ต่อมาจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ซุ้มแม่พระธรณีกับแผงหนังสือบริเวณสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2521 ภาพถ่ายโดยคุณเอนก นาวิกมูล วันเสาร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2521 ม้วนที่ 117 (จากหนังสือ วังบ้านฐานถิ่น โดยเอนก นาวิกมูล สำนักพิมพ์แสงดาว, 2542)

นอกจากนี้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีนโยบายเพิ่มตลาดนัดที่เรียกว่า “สี่มุมเมือง” เป็นตลาดนัดจัดหมุนเวียนกันตลอดทั้งสัปดาห์ คือ วันจันทร์ ตลาดนัดที่ท่าเรือ บี ไอ ริมถนนเจริญกรุง, วันอังคาร ตลาดนัดที่ถนนสังคโลกข้างวชิรพยาบาล, วันพุธ ตลาดนัดที่ถนนพระราม 5 หน้าทำเนียบรัฐบาล, วันพฤหัสบดี ตลาดนัดที่ “คลองเตยสะพานดำ” (อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือกรุงเทพฯ เอกลักษณ์ไทย), วันเสาร์และวันอาทิตย์ ตลาดนัดที่สนามหลวง และสวนลุมพินี

ต่อมา ได้เลิกตลาดนัดหมุนเวียนเหล่านี้ คงเหลือแต่เพียงตลาดนัดสนามหลวงเพียงแห่งเดียว จนกระทั่งกรุงเทพมหานครได้เตรียมใช้พื้นที่สนามหลวงจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จึงได้ปิดตลาดนัดสนามหลวงตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา แล้วย้ายตลาดนัดมายังสวนจตุจักรที่เปิดค้าขายกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ตลาดนัดอีกรูปแบบหนึ่งที่ปรากฏขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 คือ “เปิดท้ายขายของ” เป็นตลาดนัดที่นำสินค้ามือสองสภาพดีมาขายจนเป็นที่นิยม ใช้ท้ายรถเป็นร้านค้าวางสินค้า แต่ต่อมาก็ได้นำสินค้าใหม่มาขายด้วย และเลิกใช้ท้ายรถมาใช้แผงหรือราวแขวนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ตลาดนัดในช่วงหลังนี้ได้รับความนิยมและขยายจำนวนมากขึ้น ปรากฏตลาดนัดอยู่ทั่วทุกมุมเมือง โดยเฉพาะในย่านธุรกิจหรือใกล้สถานที่ราชการ เช่น ตลาดนัดข้างกระทรวงศึกษาธิการ ตลาด หลังสำนักงานการบินไทย ตลาด หลังตึก ปตท. ตลาดซอยละลายทรัพย์ ตลาดข้างตึกเมืองไทยประกันชีวิต ฯลฯ ผู้ค้าอาจหมุนเวียนเปลี่ยนตลาดนัดไปเรื่อย ๆ อาจประจำอยู่ที่ตลาดนัดนี้แค่วันนี้ วันอื่นไปตลาดนัดที่อื่น

ต่อมาก็ปรากฏรูปแบบของตลาดนัดแบบใหม่ คือการจัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่ เช่น อิมแพคเมืองทองธานี ไบเทคบางนา หรือศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อีกรูปแบบหนึ่งก็คือ “ถนนคนเดิน” หรือ Walking Street ที่ผสมผสานตลาดนัดเข้ากับการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เช่น งาน สามแพร่ง Facestreet หรืองาน Bangkok Design Week เป็นตลาดนัดศิลปะและวัฒนธรรม

“ตลาดนัด” ได้ปรับเปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตของคน ตามกาลสมัย ในปัจจุบันก็มีรูปแบบตลาดนัดออนไลน์ ซื้อขายสินค้ากันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีการสร้างกลุ่มในเฟซบุ๊ก เพื่อเสนอขายสินค้านานาชนิด ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ตลาดนัดหยุดชะงัก แต่ตลาดนัดออนไลน์ได้ถือกำเนิดขึ้นมาแทนที่เรียบร้อย (นาน) แล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร. (2528). กรุงเทพฯ เอกลักษณ์ไทย. กรุงเทพฯ : สัมพันธ์การพิมพ์.

ทรงสิริ วิชิรานนท์. (มีนาคม, 2556). พัฒนาการตลาดนัด. วารสารวิชาการและวิจัย มทร.พระนคร. ปีที่ 7 : ฉบับที่ 1.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 เมษายน 2563