วัดสิงห์ ริมคลองสนามชัย เขตจอมทอง กรุงเทพฯ เป็นวัดเก่า ยุคอยุธยา

วัดสิงห์ ริมคลองสนามชัย ปัจจุบัน

วัดสิงห์ ริมคลองสนามชัย เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร หนังสือบางขุนเทียนฯ (พ.ศ. 2530) มีสำรวจไว้ จะคัดมาดังนี้ โบสถ์ก่อผนังหนาทรงวิลันดา หน้าบันปั้นปูนรูปลายพะเนียงประดับเครื่องถ้วย ตอนล่างหน้าบันปั้นลักษณะจำลองเขามอ คันทวยสลักไม้สวยงามมาก

น. ณ ปากน้ำ เข้าใจว่าใบเสมาจะสร้างในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คล้ายกับที่วัดพรหมนิวาสน์ (วัดขุนญวน) ที่หัวแหลม อยุธยา มีอักษรจารึกมีคำว่ากวางตุ้ง คงจะสั่งทำจากกวางตุ้ง และได้ส่งอิทธิพลมายังสมัย ร.1 (ศิลปกรรมในบางกอก : 2514 : หน้า 190)

แต่ปัจจุบันทางวัดสร้างโบสถ์ใหม่ จึงถอนย้ายเขตวิสุงคามสีมาไปด้วย และใช้เสมาเก่าเฉพาะใบที่สมบูรณ์ดีเท่านั้น จากการเคลื่อนย้ายครั้งนี้จึงพบว่าที่โบสถ์เก่าใช้ลูกนิมิตเป็นก้อนหินธรรมชาติ ยังไม่ได้สกัด

ศาลาการเปรียญ อยู่ริมคลองสนามชัย เป็นศาลาพื้นเตี้ยหลังคาจั่วมี ปีกนกทั้ง 4 ด้าน ฝาปะกนลูกฟักกระดานดุนทั้ง 4 ด้าน [รูปทรงคล้ายคลึงกับศาลาการเปรียญที่วัด แก้วไพฑูรย์ (วัดบางประทุนใน)]

หอสวดมนต์ 2 ชั้น มีลายฉลุไม้ประดับตกแต่ง (ชั้นบน) และหอฉัน (ชั้นล่าง) สร้างสมัยอาจารย์จำปาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อประมาณ 60 ปีเศษมาแล้ว (นับถึง พ.ศ. 2530) ในพื้นที่ป่าสะแกเดิม

หลังจากนั้นได้ย้ายหมู่กุฏิจากข้างศาลาการเปรียญเดิมมาสร้างโอบล้อมทั้ง 4 ด้าน เพื่อพระสงฆ์จะได้ใช้ประกอบศาสนกิจและกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกันได้สะดวก

พระพุทธรูปหินทราย ในวิหารหน้าอุโบสถเก่า คงจะเป็นองค์เดียวกันกับที่ อยู่หลังอุโบสถเดิม น. ณ ปากน้ำ เห็นว่าพุทธลักษณะน่าจะเป็นสมัยอยุธยาตอนต้น มีร่องรอยการทารักสีดำมาก่อนจนชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อดำ”

นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาอยู่บริเวณโคนต้น โพธิ์และต้นมะขามหน้าวิหารอีกมาก เจดีย์เหลี่ยมในวัดสิงห์นั้นน่าจะเป็นศิลปะสมัยอยุธยา (ศิลปกรรมในบางกอก : 2514)


คัดความจาก ย่านข้าหลวงเดิม บางขุนเทียน เส้นทางคลองประวัติศาสตร์ ฝั่งทะเลทวารวดี ที่กรุงเทพฯ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562