“พระเจ้าปราสาททอง” กษัตริย์แห่งอยุธยาที่ได้ชื่อว่าเป็นนักดื่มตัวยง

อยุธยา สมัยพระเจ้าปราสาททอง
ภาพวาดของชาวตะวันตกแสดงภาพกรุงศรีอยุธยาประมาณรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ในฤดูน้ำหลากที่น้ำท่วมพื้นที่โดบรอบ เหลือแต่เพียงเกาะเมือง

ปกติแล้วการดื่มสุรามึนเมาเป็นสิ่งที่กษัตริย์และชนชั้นสูงต้องหลีกเลี่ยง เนื่องจากเป็นเรื่องไม่เหมาะสมสำหรับสมมติเทพ แต่ไม่ใช่กับ “พระเจ้าปราสาททอง” เพราะพระองค์ทรงเป็นนักดื่มและทรงตระเวนหาสุราชั้นเลิศหลากหลายแบบเพื่อลิ้มลอง

เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์นำข้าราชการไพร่พลบุกเข้าพระราชวังกลางดึก ประกาศยึดอำนาจจากสมเด็จพระเชษฐาธิราช ต่อมาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ภาพจิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร วาดในสมัยรัชกาลที่ ๕)

“พระเจ้าปราสาททอง”

พระองค์เป็นบุตรของออกญาศรีธรรมาธิราช ซึ่งเป็นภาดาของพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เดิมทีพระองค์มีนามว่า “พระองค์ไล” แต่เมื่อเข้ารับราชการจวบจนอายุ 16 ก็ได้รับยศให้เป็น “จมื่นศรีสรรักษ์” หรือผู้บังคับกองทหารมหาดเล็ก

Advertisement

ก่อนจะได้เป็น “จมื่นสรรเพธภักดี” และเลื่อนตำแหน่งเป็นออกญาศรีวรวงศ์ ต่อมาเป็น “ออกญากลาโหม” เมื่อพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต

พระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งมาเนิ่นนาน ก่อนจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้น จนในที่สุด ออกญากลาโหมก็สถาปนาตัวเองขึ้นเป็น “พระเจ้าปราสาททอง”

มีข้อมูลปรากฏไว้มากมายว่าพระองค์ทรงเป็นคนนิสัยห้าวหาญ เด็ดเดี่ยว และทะเยอทะยาน แต่อีกข้อมูลที่ไม่ค่อยมีคนทราบกันคือพระองค์ได้ชื่อว่าเป็นนักดื่มและโปรดปรานการเฟ้นหาสุราหลากหลายชนิด

ข้อมูลนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ “มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex” ของกำพล จำปาพันธ์ ซึ่งนำข้อมูลมาจาก “เยเรเมียส ฟาน ฟลีต” หรือที่รู้จักกันว่า “วัน วลิต” พ่อค้าชาวฮอลันดาที่เข้ามาสมัยพระเจ้าปราสาททอง 

ภาพวาดกรุงศรีอยุธยา วาดโดย Struys Jan Janszoon ค.ศ. 1681

วัน วลิต ได้กล่าวว่า…

“สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเป็นนักดื่ม พระองค์โปรดปรานเหล้าแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พระราชทานเลี้ยงขุนนางและแขกคนสำคัญในบางโอกาส ทรงสร้างไมตรีกับโชนกุนญี่ปุ่น ด้วยการส่งข้าวพันธุ์ดีไปให้หมักเหล้าสาเก”

เป็นที่มาของเรื่องที่เล่าขานกันว่าพระองค์ทรงเป็นนักดื่มและชื่นชอบสุราหลายชนิดนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา SEX. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563

https://www.silpa-mag.com/history/article_114585


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2567