ผู้เขียน | เสมียนอัคนี |
---|---|
เผยแพร่ |
ชาวดัทช์ กว่า 10 นาย มานั่งกินและดื่มอย่างสนุกสนานในวัด ก่อนที่ฝรั่งส่วนหนึ่งซึ่งเมาได้ที่จะบุกวังของพระอนุชาของ “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” และทำร้ายทาสในวัง
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2179 ตรงกับแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อผู้ช่วยหัวหน้าพ่อค้าชาวดัทช์และพวกชาวดัทช์อีกประมาณ 10 นาย ได้รับอนุญาตจากนายวัน วลิต ผู้ดูแลกิจการค้าของบริษัท อินเดียตะวันออกของฮอลันดา ให้ไปนั่งเรือพักผ่อนชมบ้านเมือง เพราะเป็นวันหยุดงานของบริษัท ภายหลังได้ไปนั่งดื่มสุราในวัด Boeretiet (เป็นการเขียนเลียนเสียงจากภาษาไทยของวัน วลิต ไม่ทราบว่าเป็นวัดใด) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ พระนครศรีอยุธยา
นายวัน วลิต บันทึกข้อมูลเรื่องราวทั้งหมดไว้ สรุปความว่า ภายหลังจากดื่มสุราในวัดแล้ว ชาวดัทช์ 2 นายในกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ นายโจส์ท เลาเรนท์ซ และนายดาเนียล ยาคอบซ์ ซึ่งดื่มจนเมา ได้เดินลัดเลาะไปตามริมแม่น้ำ ทั้งได้แสดงกิริยาก้าวร้าวกับผู้คนที่ผ่านไปมา เช่น ด่าทอ, ทุบตี, บุกเข้าเรือนชาวสยามฉกฉวยอาหาร ฯลฯ
จากนั้นได้บุกรุกเข้าวังของพระอนุชา สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทั้งยังทำร้ายข้าทาสบริวารของวัง ที่ภายหลังได้ร่วมต่อสู้จนจับตัวนายดาเนียลได้ ส่วนนายโจส์ทหนีรอดไป เหตุการณ์นี้เป็นที่โจษจันไปทั่วหมู่บ้านของชาวดัทช์ ในตอนเย็นวันนั้นไม่มีใครกล้าออกจากที่พักไปเสาะหาข่าวเรื่องที่เกิดขึ้น
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงกริ้วมาก ทั้งมีข่าวลือว่า ออกญาพิชัยสงคราม หัวหน้าชาวญี่ปุ่นทูลยุยงว่าการกระทำของชาวดัทช์ครั้งนี้สมควรประหารชีวิต ฝ่ายนายวัน วลิต ได้ติดต่อพระคลังช่วยกราบบังคมทูลให้พระองค์ทรงเมตตา และมีขุนนางในราชสำนักบางส่วนช่วยสนับสนุน โดยให้เห็นแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งพวกต่างด้าวไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะกฎหมายของสยาม
วันที่ 16 ธันวาคม ปีเดียวกัน นายวัน วลิต เดินทางไปรับตัวชาวดัทช์ที่ถูกจับ และจ่ายเงินค่าไถ่ตามระเบียบสยามแก่ผู้คุม พระคลังรับพระบรมราชโองการให้ชี้แจงกับชาวดัทช์ที่ฝ่าฝืนประเพณีจนเป็นเหตุให้ทรงพิโรธ ซึ่งพระคลังชี้แจงว่าประเด็นที่ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก คือ เหตุเกิดที่วัดและวังของพระอนุชา ซึ่งนับว่าร้ายแรงและเกือบให้อภัยไม่ได้
วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2180 นายวัน วลิต ถูกเรียกตัวให้เข้าพระราชวัง โดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ เขาได้บันทึกว่า “…หลังจากที่เราเดินผ่านเขตประตูพระราชฐานชั้นในของพระราชวังแล้ว ตรอมพนิต (Trompanit) ผู้เป็นล่ามส่งพานไม้บรรจุหมาก ดอกไม้และข้าวตอกให้ข้าพเจ้า เขาขอให้ข้าพเจ้าถือพานไว้ด้วยมือทั้งสองข้างและก้มตัวลงด้วยความสุภาพอ่อนน้อมต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้าแผ่นดิน ข้าพเข้าปฏิเสธอย่างสุภาพที่จะปฏิบัติเช่นนั้น…” แต่สุดท้ายเขาก็ต้องยอมจำนน
นี้คือ “คดีขี้เมา” ที่กลายเป็น “คดีการเมือง” อย่างไม่คาดคิด
อ่านเพิ่มเติม :
- “ออสุต” ล็อบบี้ยิสต์ กิ๊กมหาภัยในกรุงศรีอยุธยา กับสามีลับ 3 คน
- “เรื่องเซ็กส์” สมัยกรุงศรีฯ ชาย-หญิงคิดและมีตั้งแต่อายุเท่าไหร่? แต่งหรือหนีตาม? ฯลฯ
อ้างอิง :
บทความ “คดีขี้เมา หรือ ‘คดีการเมือง’ เมื่อชาวดัทช์ไปปิคนิคในกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2179” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2528 โดยบุญยก ตามไท แปลและเรียบเรียงจากเรื่อง A DUTCH PICNIC IN AYUTTHAYA, 1636 ของ Han ten Brummelhusi และ John Kleinen Department of South Asian Studies University of Amsterdam, 1984
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กรกฎาคม 2560