พระเจ้าปราสาททอง “คนทรยศ” ในบันทึกวัน วลิต

พระเจ้าปราสาททอง เดิมคือ จมื่นศรีารรักษ์ ต่อมาคือ ออกญากลาโหม ยึดอำนาจ สมเด็จพระเชษฐาธิราช กรุงศรีอยุธยา
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์นำข้าราชการไพร่พลบุกเข้าพระราชวังกลางดึก ประกาศยึดอำนาจจากสมเด็จพระเชษฐาธิราช ต่อมาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ภาพจิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร วาดในสมัยรัชกาลที่ 5)

พระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2143-2199) เมื่อครั้งเป็นขุนนางในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา “ถูกกล่าวหา” ว่า มีพฤติกรรมคดโกง ทรยศ หักหลัง เพื่อขึ้นสู่อำนาจ โดยผู้กล่าวหาก็คือ วัน วลิต หรือ เยเรเมียส ฟาน ฟลิต (พ.ศ. 2145-2206) เจ้าหน้าที่ของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา

วัน วลิต เคยรับตำแหน่งเป็นนายสถานีของ VOC ประจำกรุงศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. 2176-2185 ในช่วงเวลานั้นเขาได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงศรีอยุธยา รวมถึงพฤติกรรมของ พระเจ้าปราสาททอง เมื่อครั้งทรงรับราชการเป็น ออกญาศรีวรวงศ์ และ ออกญากลาโหม ว่าได้วางแผนด้วยการ “ตั้ง” แล้ว “ปลด” พระราชโอรสของพระเจ้าทรงธรรมถึง 2 พระองค์ คือ พระเชษฐาธิราช และพระเจ้าอาทิตยวงศ์ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการขึ้นครองแผ่นดินของพระองค์

เริ่มจากเมื่อ พระเจ้าทรงธรรม สวรรคต ออกญาศรีวรวงศ์เรียกประชุมขุนนางแจ้งพระราชประสงค์ของพระเจ้าทรงธรรมว่า มีรับสั่งให้ พระเชษฐาธิราช ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ขึ้นครองแผ่นดิน และมีพระราชประสงค์ให้ตนเอง (ออกญาศรีวรวงศ์) ช่วยเหลือสนับสนุนการดูแลบ้านเมืองของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่

รัชกาลพระเชษฐาธิราช ออกญาศรีวรวงศ์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นออกญากลาโหม ภายหลังพระปิตุลา (พระพันปีศรีศิลป์) ทรงก่อกบฏสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ มีหัวเมืองหลายแห่งแข็งข้อ แต่ทางการก็ปราบได้สำเร็จ

“พระเจ้าแผ่นดิน [พระเชษฐาธิราช] ทรงเห็นว่าพระองค์ทรงรอดพ้นจากศัตรูที่น่าสะพรึงกลัวคนนี้แล้วก็ทรงปล่อยพระองค์ให้หลงระเริงกับความชั่วและของมึนเมาทุกชนิด บรรดาขุนนางเหลือที่จะทัดทานความทระนงและความน่าเกรงขามของพระองค์ได้ ประชาชนต่างเหลือระอาในความเหี้ยมโหดของพระองค์ พระองค์ไม่มีจริยาวัตรดีงามเหมือนพระราชบิดา ไม่อาจหวังสิ่งใดจากพระองค์ได้เลย

…ออกญากลาโหมจึงสบโอกาสอันเหมาะที่สุด จึงพร่ำบรรยายในสภาขุนนางถึงพระอารมณ์ร้ายของพระเจ้าแผ่นดิน ความเสเพลและมึนเมา แม้กระทั่งเรื่องความโหดเหี้ยมของพระองค์… แต่ตนก็ยังยึดมั่น ในพระราชโองการครั้งสุดท้ายของพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน [พระเจ้าทรงธรรม] ด้วยมีภาระรับผิดชอบทั้งมวลที่สุมตัวอยู่…คำบรรยายในเรื่องวิธีการทำงานและความตั้งใจดีที่ออกญากลาโหมแสดงให้ทุกๆ คนทราบทำให้ได้รับความรัก ของประชาชน และขุนนางก็นิยมเขาโดยไม่ยากนัก ผลที่ได้รับคือออกญากลาโหมกลายเป็นคนสำคัญ…”

ขณะนั้นออกญากลาโหมรวบรวมขุนนางต่างๆ เป็นพวก ต่อมาน้องชายออกญากลาโหมเสียชีวิต มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ และนำอัฐิของบิดามาประกอบพิธีใหม่อีกครั้ง ซึ่งธรรมเนียมดังกล่าวนี้ใช้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้พระเชษฐาธิราชทรงกริ้ว ทรงระแวง และทรงตัดสินลงโทษประหารชีวิต อันเป็นจุดพลิกผันให้ออกญากลาโหมร่วมมือกับออกญาพระคลัง และกองทหารญี่ปุ่น ก่อกบฏยึดอำนาจและสำเร็จโทษพระเชษฐาธิราช หากเมื่อคณะผู้กบฏจะเสนอให้ปลงพระชนม์พระเชษฐาธิราช รวมถึงจะยกแผ่นดินให้ออกญากลาโหม ออกญากลาโหมก็ปฏิเสธ

ภายหลัง ออกญาเสนาภิมุข หรือ “ยามาดา นางามาซา” ขุนนางชาวญี่ปุ่น ออกญากำแหง และขุนนางส่วนใหญ่เลือก พระเจ้าอาทิตยวงศ์ พระราชโอรสอีกพระองค์ของพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชย์ และเสนอให้ออกญากลาโหมเป็นผู้สำเร็จราชการ สร้างความไม่พอใจแก่ออกญากลาโหม หากเมื่ออยู่ต่อหน้าออกญาทั้งสองก็แสร้งเป็นมิตรดี

ต่อมาออกญากลาโหม “ใส่ความ” ออกญากำแหงว่า เป็นต้นเหตุของการสวรรคตของพระเชษฐาธิราช บังคับให้ขุนนางก่อกบฏ และฝักใฝ่อยู่ในพระศรีศิลป์ จนพระเจ้าอาทิตยวงศ์ทรงตัดสินโทษประหาร ส่วนออกญาเสนาภิมุข ออกญากลาโหมก็ “สร้างเรื่อง” เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นกบฏ เพราะไม่เข้ามาเมืองหลวงตามรับสั่ง พระเจ้าอาทิตยวงศ์รับสั่งส่งออกญาเสนาภิมุขออกไปปราบ เมื่อการสำเร็จก็ให้ออกญาเสนาภิมุขเป็นเจ้าเมืองแทน ก่อนจะใช้เล่ห์เหลี่ยมปล่อยข่าวว่ากองทหารญี่ปุ่นร่วมมือกับทหารฮอลันดาจะคิดการกบฏ ดังบันทึกตอนหนึ่งของวัน วลิต ที่ว่า

“ออกญากลาโหมจึงใช้เล่ห์เหลี่ยมและเพทุบายอันชาญฉลาดที่สุดของตน เพื่อชนะใจออกญาเสนาภิมุข โดยแสดงความเคารพนบนอบออกญาเสนาภิมุขอย่างออกนอกหน้าที่สุด และไปเยี่ยมที่บ้านทุกวัน… ออกญากลาโหมปรับทุกข์กับออกญาเสนาภิมุขอยู่เนืองๆ …และบอกออกญาเสนาภิมุขว่า ตนไม่ต้องการให้ออกญาเสนาภิมุขมีความลำบากต้องไปพระราชวังทุกวัน และต้องแสดงความเคารพตนในฐานะบุคคลผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์

อย่างไรก็ตามเพื่อปล่อยให้ออกญาเสนาภิมุขพ้นจากความหนักอก และการอยู่ใต้บังคับบัญชาที่พระราชวังซึ่งเป็นความจำเป็น ออกญากลาโหมกล่าวว่า ตนได้กราบทูลขอให้พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานตำแหน่งเจ้าเมืองนครให้ในฐานะที่เป็นคนกล้าหาญที่สุดในประเทศ และมีความสามารถปฏิบัติพระราชกิจของพระเจ้าอยู่หัวได้ดีที่สุด คำป้อยอนี้หลั่งไหลเข้าหูออกญาเสนาภิมุขอย่างได้ผล”

เมื่อสามารถจัดการกับขุนนางสำคัญ ออกญากลาโหมก็เกลี้ยกล่อมขุนนางในทำนองให้มีทัศนะต่อพระเจ้าแผ่นดินตามที่ตนเองต้องการ วัน วลิต บันทึกว่า “พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นเด็ก มีอุปนิสัยสันดานหยาบชั่วร้ายและไร้สมรรถภาพ ทั้งเสริมว่าเป็นการขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง ขนบประเพณีและสามัญสำนึกที่จะมอบความเป็นใหญ่และอาณาจักรที่มีอำนาจให้ตกอยู่ในมือของเด็ก…”

ผลที่ได้ก็คือ พระเจ้าอาทิตยวงศ์ถูกส่งไปแก้ไขกล่อมเกลาตามครรลองแห่งคุณธรรมโดยคณะสงฆ์ ส่วนออกญากลาโหมก็ได้รับเลือกจากเหล่าขุนนางให้ทำหน้าที่ “ผู้สำเร็จราชการ” จนกว่าพระเจ้าอาทิตยวงศ์จะบรรลุนิติภาวะ ออกญากลาโหมปฏิเสธตำแหน่ง หากวัน วลิต บันทึกว่า

“ออกญากลาโหมแสร้งทำเป็นร้อนรนปฏิเสธตำแหน่ง… แต่ด้วยที่ประชุมมองเห็นอย่างแจ่มชัดแล้วว่า ออกญากลาโหมปฏิเสธเช่นนั้นเป็นการแสร้งกลบเกลื่อนเท่านั้น จึงไม่มีผู้ใดไม่สนับสนุนการเลือกคราวนี้…

เมื่อได้รับตำแหน่ง ออกญากลาโหมได้ปฏิบัติตนในระยะเริ่มแรกที่รับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการอย่างดีเยี่ยม ดำนินงานปกครองด้วยความระมัดระวังตั้งอยู่ในศีลในธรรมและเที่ยงตรง จนขุนนางเป็นอันมากลงความเห็นว่าสมควรจะมอบอาณาจักรและมงกุฎกษัตริย์ให้

ขุนนางบางคนลงความเห็นในเรื่องนี้โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะสร้างโชคลาภของตน ส่วนคนอื่นๆ เห็นคล้อยตามเพราะกลัวความโกรธของออกญากลาโหม

โดยส่วนตัวออกญากลาโหมเองนั้นก็บอกแก่พรรคพวกว่า อาณาจักรหนึ่งจะมีกษัตริย์ 2 พระองค์ไม่ได้ และว่าตนเองคงจะประสบอันตราย…เมื่อเยาวกษัตริย์ขึ้นครองราชย์ พระองค์คงหาทางจับผิดและมีใจอิจฉาริษยาเช่นเดียวกัน ดังนั้น เพื่อสงวนชีวิตไว้ในภายภาคหน้า ออกญากลาโหมจึงตกลงใจลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแลฐานันดรศักดิ์…”

สุดท้าย ออกญากลาโหมก็สถาปนาขึ้นเป็น “พระเจ้าปราสาททอง” ส่วนพระเจ้าอาทิตยวงศ์ก็ถูกสำเร็จโทษ ที่กล่าวมานี้ก็แค่บางส่วนในบันทึกของ วัน วลิต ซึ่งเนื้อหามีทั้งที่ “ตรง” และ “ต่าง” กับข้อมูลฝ่ายไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ฟาน ฟลีต เยเรเมียส. รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต (วัน วลิต), ฉบับปรับปรุง พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2548, กรมศิลปากร.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 สิงหาคม 2566