“พระเจ้าปราสาททอง” ครั้งทรงเป็น “จมื่นศรีสรรักษ์” ทรงห้าวจนเกือบถูก “ประหาร”

พระเจ้าปราสาททอง เดิมคือ จมื่นศรีารรักษ์ ต่อมาคือ ออกญากลาโหม ยึดอำนาจ สมเด็จพระเชษฐาธิราช กรุงศรีอยุธยา
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์นำข้าราชการไพร่พลบุกเข้าพระราชวังกลางดึก ประกาศยึดอำนาจจากสมเด็จพระเชษฐาธิราช ต่อมาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ภาพจิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร วาดในสมัยรัชกาลที่ 5)

ในละคร “พรหมลิขิต” ละครฮอตฮิตที่กำลังฉายผ่านช่อง 3 ปรากฏตัวละครอย่าง “จมื่นศรีสรรักษ์” (มิ่ง รับบทโดย ไต้ฝุ่น-กนกฉัตร มรรยาทอ่อน) ซึ่งเป็นขุนนางคนสนิทของพระเจ้าท้ายสระ แต่รู้หรือไม่ว่าในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาได้ปรากฏหลายบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งนี้ อาทิ “พระเจ้าปราสาททอง” ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปราสาททอง ซึ่งเมื่อครั้งพระองค์ยังเป็น “จมื่นศรีสรรักษ์” ทรงเป็น “ตัวตึง” ของอยุธยาก็ว่าได้ เพราะวีรกรรมของพระองค์นั้นเฉียดการถูกประหารมาแล้ว ก่อนขึ้นเถลิงราชสมบัติเป็นพระเจ้าปราสาททองในเวลาต่อมา

ในจดหมายเหตุวัน วลิต ซึ่งเป็นบันทึกของ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) พ่อค้าชาวฮอลันดาที่ประจำอยู่กรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ. 2136-2185 ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของ “พระเจ้าปราสาททอง” ไว้ว่า

พระเจ้าปราสาททองเป็นบุตรของออกญาศรีธรรมาธิราช ซึ่งเป็นภาดาของพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ทรงมีพระนามเดิมว่า “พระองค์ไล” บิดาถวายตัวให้กับราชสำนักและรับตำแหน่งมหาดเล็ก กระทั่งอายุ 13 จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ามหาดเล็ก แม้จะทำตัวเสเพลไปบ้าง แต่พอเข้าอายุ 16 ปี พระองค์ก็ทรงได้รับยศเป็น “จมื่นศรีสรรักษ์” หรือผู้บังคับกองทหารมหาดเล็ก

ต่อมากลายมาเป็น “จมื่นสรรเพธภักดี” และเลื่อนตำแหน่งเป็นออกญาศรีวรวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ครั้นพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตก็ได้รับตำแหน่ง “ออกญากลาโหม”

นอกจากพระราชประวัติแล้ว ในหลักฐานเดียวกันกล่าวไว้ว่า ตั้งแต่วัยเยาว์พระองค์ทรงมีพระอุปนิสัยดื้อรั้น ออกจะเสเพลไปบ้าง โดยในบันทึกถึงขั้นเขียนไว้ว่า

“…ออกญาศรีธรรมาธิราชต้องถูกจำคุกบ่อยครั้ง เพราะการกระทำความผิดและชั่วร้ายต่าง ๆ ของบุตรชาย…ออกญากลาโหมใช้ชีวิตอย่างเลวทรามมาก มีความสนุกเพลิดเพลินจากการดื่มสุรา และสมรู้ร่วมคิดในการลักทรัพย์ ทั้งนี้เนื่องจากถูกตั้งให้เป็นหัวหน้าไปกับพวกปล้น ทำการปล้นในเวลาค่ำคืนบ่อย ๆ เรื่องนี้เป็นเหตุให้พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงสั่งสอน…”

“ความห้าว” ของพระองค์ครั้งเป็นจมื่นศรีสรรักษ์ อายุ 18 ปี ปรากฏชัดในจดหมายเหตุวัน วลิต ครั้งนั้นมีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นงานทำนายทายทักว่า ปีนี้ข้าวจะอุดมสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับ “พระยาแรกนา” ถ้าหากว่าพระยาแรกนาชนะจากการต่อสู้ของฝูงชน ก็แปลว่าปีนี้พืชพรรณจะอุดมสมบูรณ์ แต่หากว่าพ่ายแพ้ก็เป็นอันว่าภูตผีจะทำลายพืชผลของแผ่นดิน

โดยครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงแต่งตั้งให้ “ออกญาข้าว” (คาดว่าน่าจะเป็นออกญาพลเทพ อธิบดีกรมนา) เป็นพระยาแรกนา 

แทนที่พระราชพิธีดังกล่าวจะผ่านพ้นไปอย่างราบรื่น จมื่นศรีสรรักษ์ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันนั้นกลับเข้าไปทำร้าย และหมายจะเอาชีวิต ดังปรากฏข้อมูลไว้ในหลักฐานเดียวกันว่า

“…ขณะนั้นออกญากลาโหมเพิ่งมียศเป็นจมื่นศรีสรรักษ์และมีอายุประมาณ ๑๘ ปี วันหนึ่งเมื่อมีการทำพิธีนี้ เขาได้อยู่ที่ชนบทนั้นด้วย โดยมากับน้องชาย…ทั้ง ๒ คนขี่ช้างมีบ่าวไพร่ติดตามมาหลายคนและได้เข้าโจมตีพระยาแรกนาอย่างดุเดือด ดูเหมือนว่ามีเจตนาจะฆ่าพระยาแรกนาและกลุ่มผู้ติดตามทั้งหมดด้วย…จมื่นศรีสรรักษ์ก็ถอดดาบและโถมเข้าสู้อย่างดุเดือด จนพระยาแรกนาและองครักษ์จำต้องถอยหนี…”

หลังจากพระเจ้าทรงธรรมทรงทราบข่าวก็ทรงพระพิโรธ ทั้งยังมีรับสั่งให้ประหารชีวิตออกญาศรีธรรมาธิราช หากบุตรชายไม่มาเข้าเฝ้า ในที่สุดจมื่นศรีสรรักษ์ก็ต้องมาทูลขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะพระเจ้าอยู่หัวกลับทรงฟันเขา 3 หน และทรงให้ไปอยู่ในคุกใต้ดิน 

ต่อมา เจ้าขรัวมณีจันทร์ พระมเหสีของพระนเรศวรมหาราช ได้กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษจมื่นศรีสรรักษ์จนพระองค์พ้นโทษ 

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างบาดแผลให้จมื่นศรีสรรักษ์อย่างมาก แต่ต่อมาพระองค์ก็ยังทรงกระทำการต่าง ๆ ที่ “ห้าวหาญ” อีกมากมาย เนื่องจากความแค้นที่สุมอยู่ในอก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ฟอน ฟลีต, เยเรเมียส, ค.ศ. 1602-1663. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต ฉบับสมบูรณ์. [ม.ป.ท.]:โรงพิมพ์บรรหาร, 2508. สืบค้นเมื่อวันที่ 13/11/2566. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:175990.

www.vajirayana.org/คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติ-สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2566