ทำไม พระเจ้าปราสาททอง โกรธ “ทูตพม่า” ถึงขั้นจะให้เทอาหารราดหัว!?

พระเจ้าปราสาททอง เดิมคือ จมื่นศรีารรักษ์ ต่อมาคือ ออกญากลาโหม ยึดอำนาจ สมเด็จพระเชษฐาธิราช กรุงศรีอยุธยา
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์นำข้าราชการไพร่พลบุกเข้าพระราชวังกลางดึก ประกาศยึดอำนาจจากสมเด็จพระเชษฐาธิราช ต่อมาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ภาพจิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร วาดในสมัยรัชกาลที่ 5)

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือ “พระเจ้าปราสาททอง” ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปราสาททอง เคยทรงพระพิโรธถึงขั้นจะให้ขุนนางเทอาหารราดศีรษะ “ทูตพม่า” ด้วยเหตุใดกัน?

เรื่องนี้ ส. พลายน้อย (สมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2553) เล่าไว้ในหนังสือ “กระยานิยาย เรื่องน่ารู้สารพัดรสจากรอบๆ สำรับ” ตอนหนึ่งว่า

“เคยอ่านพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาทราบว่าเมื่อพระเชษฐาธิราชสวรรคต เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าปราสาททอง ครั้งนั้นพระเจ้ากรุงอังวะส่งทูตานุทูตเข้ามาถามข่าวพระศพตามประเพณี โปรดให้จัดอาหารเลี้ยงแขกเมือง พอเจ้าพนักงานยกสำรับออกมาตั้ง พวกทูตก็ยกมือห้ามบอกว่า ‘ตามธรรมเนียมกรุงอังวะ ถ้าทูตานุทูตไปเยือนพระศพ ห้ามมิให้รับพระราชทาน’

แหม อย่างนี้ธรรมเนียมไทยถือนัก มางานทั้งทีไม่กินข้าวก็ไม่รักกันจริง เมื่อสมุหนายกนำความขึ้นกราบบังคมทูลก็ทรงพระกรุณาให้ต่อว่าแขกเมือง โดยให้เจ้าพนักงานไปบอกกับแขกเมืองว่า

‘ตามอย่างธรรมเนียมกรุงศรีอยุธยา ถ้าไปเยือนศพ ย่อมแต่งของให้บริโภคให้อิ่มหนำ จึงได้ชื่อว่านับถือกัน นี่ตัวมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว ไม่รับพระราชทานนั้น ไม่นับถือกรุงศรีอยุธยา หรือว่าสิ่งของซึ่งพระราชทานนี้ไม่ดีเหมือนกรุงอังวะ ถ้าไปต่อว่าแขกเมืองดื้อดึงไม่รับพระราชทานก็ให้เอาสิ่งของราดศีรษะลงแล้วขับเสียจากเมือง’…”

ส. พลายน้อย ไม่ได้เล่าต่อว่า ท้ายสุด ทูตพม่า ต้องเผชิญอะไรบ้าง จะรับสิ่งของพระราชทาน หรือจะถูกขับออกจากเมือง และยังคงเป็นคำถามที่หาคำตอบไม่ได้มาถึงทุกวันนี้ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ส. พลายน้อย. “เลี้ยงอาหารงานศพ” ใน “กระยานิยาย เรื่องน่ารู้สารพัดรสจากรอบๆ สำรับ” พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2548.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2566