ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ชุดเกราะ” เป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายที่สำคัญที่สุดในการออกรบเลยก็ว่าได้ แล้วในยามออกศึก “ชุดเกราะพระมหากษัตริย์อยุธยา” เป็นแบบไหน?
ชุดเกราะพระมหากษัตริย์อยุธยา
ภูมิไท ศศิวรรณพงศ์ เล่าถึงการศึกษาเรื่องชุดเกราะของนักรบในประเทศไทย ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 24 ไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2557 ว่า
ในตำราว่าด้วยเครื่องต้น เครื่องทรงสำหรับพระมหากษัตริย์ในการเสด็จออกงานพระราชพิธีต่างๆ ได้อธิบายถึงเครื่องทรงสำหรับการทำยุทธหัตถีไว้ เรียกชื่อว่า “เครื่องพระพิชัยสงคราม”
ชุดเกราะพระมหากษัตริย์อยุธยา หรือเครื่องพระพิชัยสงครามนี้ มีส่วนประกอบ 7 อย่าง ได้แก่ พระสนับเพลาลงราชะซับใน (สนับเพลา หรือกางเกง) ฉลองพระองค์ย้อมว่านลงราชะซับใน (เสื้อ) พระสนับเพลาแพรดำเกราะชั้นนอก (สันนิษฐานว่าเป็นเกราะป้องกันต้นขา) ฉลองพระองค์แพรดำนวมชั้นนอก (เสื้อเกราะนวม) พระมาลาลงราชะซับใน (หมวกรองใน) พระมาลาเบี่ยงนอก (หมวกศึก) และ รัดพระองค์เจียรบาดพื้นดำ (สันนิษฐานว่าเป็นผ้าคาดเอว)
รายละเอียดเหล่านี้ สอดคล้องกับเนื้อหาในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่กล่าวถึงเครื่องทรงสำหรับการยุทธของพระมหากษัตริย์ ที่บอกว่า
“…ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น 11 ค่ำเพลารุ่งแล้ว 2 นาฬิกา 5 บาท สุมหุดีมหาวิชัยฤกษ์ สมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็ทรงเครื่องสำหรับพิชัยสงคราม ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งศรีสมรรถชัย…”
“ชุดเกราะนวม” เครื่องทรงสำคัญในพระมหากษัตริย์
เข้าสู่สมัยกรุงธนบุรีสืบเนื่องต่อมายังกรุงรัตนโกสินทร์ ตำราพิไชยสงคราม ฉบับรัชกาลที่ 1 มีการกล่าวถึงเครื่องทรงสำหรับพระมหากษัตริย์ในการออกศึก หนึ่งในนั้นคือ “ชุดเกราะนวม” ความว่า
“…แลจตุรงคเสนางคนั้น คือพลช้างสัพด้วยจำลองแลกระโจมอันมีพรรณต่างๆ แลทหารซึ่งจขี่ฅอช้างนั้น สัพด้วยหมวกแลเกราะนวมปรดับนี้สำรับช้างนั้น…”
ชุดเกราะนวมยังเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภคสำหรับพระมหากษัตริย์อีกด้วย เรียกว่า “ฉลองพระองค์เกราะนวม” ดังความในโคลงยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่กล่าวถึงรายละเอียดของเครื่องราชูปโภค ซึ่งใช้เป็นเครื่องสำหรับประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไว้ว่า
“พระเต้าเบญจคับห้า ยันต์รอง
เครื่องพิไชยสงครามผอง แต่งตั้ง
เสมาธิปัดฉลอง องค์เกราะ นวมนา
เกาวะภ่ายธงธุชทั้ง พระนพช้าง ฉัตรไชยฯ”
นอกจากนี้ ชุดเกราะนวมยังมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นหนึ่งในเครื่องประกอบพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ในพระราชพิธีโสกันต์ มีการจัดพระแท่นมณฑล ตรงกลางตั้งพระเจดีย์ถมบรรจุพระบรมธาตุและพระพุทธรูป ด้านข้างของโต๊ะหมู่ทั้ง 2 ด้าน ตั้งเครื่องพระราชพิธี ได้แก่ หีบพระเครื่องต้นข้างละ 2 หีบ ฉลองพระองค์เกราะนวม 32 ชั้น ฉลองพระองค์ลงราชะ 7 สี พระมหาสังข์ 5 พระมหาสังข์ 3 ด้านหลังหีบพระเครื่อง ตั้งพระมหาพิชัยมงกุฎ พระชฎาเดินหน พระมาลาเบี่ยง พระมาลาเพ็ชร เครื่องพระพิชัยสงคราม 2 หีบ เป็นต้น
เป็นที่สังเกตว่า ชุดเกราะนวมที่เป็นเครื่องประกอบพระราชพิธีโสกันต์มีถึง 32 ชั้น จัดว่าเป็นชุดเกราะอ่อน ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยผ่อนแรงปะทะจากอาวุธได้
เรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายว่า
“…เสื้อเกราะของไทย ทราบแต่ว่าทำด้วยหนัง เปนเสื้อแขนสั้น ถ้าจะให้งามก็เอาผ้าสาบนอก…” และทรงอธิบายเพิ่มเติมต่อไปว่า “…ในคำว่าฉลองพระองค์เกราะนวมนั่นแล้วคือเสื้อเกราะ ที่เรียกว่าเกราะนวมก็เพราะเขาตรึงผ้าที่หุ้มให้ติดกับหนัง ยัดสำลีนิดหน่อย เพื่อไม่ให้กระด้างรู้สึกเจ็บพระองค์…”
รูปแบบของชุดเกราะอาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นเสื้อแขนสั้น เมื่อเทียบกับภาพจิตรกรรมลายรดน้ำ ที่บานหน้าต่างพระอุโบสถวัดนางนอง และในภาพประติมากรรมนูนต่ำ ที่บานหน้าต่างพระอุโบสถคณะรังษี
ในภาพมีสัญลักษณ์แสดงคติความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ประกอบด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์และเครื่องราชูปโภคสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ อาทิ พระมาลาศึก ลักษณะเป็นหมวกปีกยอดสูง มีปกหูและปกคอป้องกันท้ายทอย รวมทั้ง “ฉลองพระองค์เกราะ”
ลักษณะของฉลองพระองค์เกราะในภาพจิตรกรรม เป็นเสื้อแขนสั้นผ่าหน้า ขลิบตกแต่งขอบคอเสื้อและแขนเสื้อเป็นลวดลายประดับ ตัวเสื้อปกคลุมด้วยลายเกราะเพชร คล้ายเกล็ดเกราะแบบจีนที่เรียกว่า “ซานเหวินข่าย” อันเป็นรูปทรงของเกล็ดเกราะที่นิยมกันมากในชุดเกราะนักรบจีนช่วงสมัยราชวงศ์หมิง
“ชุดเกราะ” จึงเป็นชุดสำคัญมากชุดหนึ่งสำหรับพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
อ่านเพิ่มเติม :
- เมืองฉอดอยู่ไหน? สืบถิ่นฐาน “ขุนสามชน” คู่ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหง
- เจดีย์ที่ไม่มีใครรู้จัก กลายเป็น “เจดีย์ยุทธหัตถี” เพราะ “รีบสรุป” ก่อนศึกษา
- การค้นพบหลักฐาน “เจดีย์ยุทธหัตถี” ที่ใช้ยืนยันตำนานพระนเรศวรชนช้างเป็นเรื่อง “จริง”!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กันยายน 2567