ชาวญี่ปุ่นในสยาม ยุครัชกาลที่ 5 เข้ามาทำอะไรกันบ้าง?

หอเก็บอัฐิชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาในสยาม สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) กรุงเทพฯ

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในสยามจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก แต่เรามักไม่ค่อยคุ้นชาวตะวันออกที่เข้ามาในสยามกันนัก โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น แล้ว “ชาวญี่ปุ่นในสยาม” ยุครัชกาลที่ 5 เข้ามาทำอะไรกันบ้าง?

“ชาวญี่ปุ่นในสยาม” สมัยรัชกาลที่ 5

ธัชสร ตันติวงศ์ เล่าไว้ในบทความ “ชาวญี่ปุ่นในประเทศไทยช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากชุมชนเลื่อนฤทธิ์” ในนิตยสารศิลปากร ว่า

Advertisement

ชาวญี่ปุ่นที่เดินทางเข้ามาในสยามยุคนั้น แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม มีตั้งแต่กลุ่มชนชั้นสูงที่มีฐานะความรู้ กลุ่มพ่อค้านักธุรกิจ ไปจนถึงกลุ่มชาวนาฐานยากจนที่หวังจะมีชีวิตที่ดีกว่าในต่างแดน

กลุ่มแรก ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านต่างๆ ให้รัฐบาลสยาม เช่น การศึกษา การเกษตร กฎหมาย

เรื่องการศึกษา สมัยนั้นมีการจัดตั้งโรงเรียนสตรีที่มีแผนการเรียนการสอนตามแนวสมัยใหม่ ตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง คือ โรงเรียนราชินี จึงว่าจ้างครูญี่ปุ่นที่เป็นสตรี 3 คน คือ นางยาซุย เท็ตสึ (Yasui Tetsu) ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ นางคาวาโน คิโย (Kawano Kiyo) และ นางนาคาจิมา โทชิ (Nakajima Toshi) มาสอน

ด้านการเกษตร ใน พ.ศ. 2444 รัฐบาลสยามได้ว่าจ้าง รศ. ดร. โตยามา คาเมทาโร (Toyama Kametaro) จากมหาวิทยาลัยโตเกียว มาเป็นผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านการเลี้ยงไหม ซึ่งต่อมามีการจัดตั้ง “กองช่างไหม” และยกฐานะขึ้นเป็น “กรมช่างไหม” ช่วงปลายรัชกาลที่ 5

พระยามหิธรมนูปกรณ์โกศลกุล ชาวญี่ปุ่นในสยาม
พระยามหิธรมนูปกรณ์โกศลกุล (ภาพ : Wikimedia Commons)

ชาวญี่ปุ่นเมื่อร้อยกว่าปีก่อนยังเข้ามาช่วยการทำงานด้านกฎหมาย โดยกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นได้ส่ง ดร. มาซาโอะ โทคิชิ (Masao Tokhishi) มาเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้สยาม ตั้งแต่ พ.ศ. 2441-2456

โทคิชิรับราชการทำความดีความชอบ กระทั่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยามหิธรมนูปกรณ์โกศลกุล” นับเป็นชาวญี่ปุ่นคนที่ 2 ที่มีบรรดาศักดิ์อย่างขุนนางสยาม ซึ่งคนแรกคือ ยามาดะ นางามาซะ (Yamada Nagamasa) ที่ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ออกญาเสนาภิมุข” สมัยพระเจ้าทรงธรรม แห่งกรุงศรีอยุธยา

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มพ่อค้า นักธุรกิจ และพนักงานห้างร้านญี่ปุ่น ที่เข้ามาประกอบธุรกิจหรือค้าขาย

ปรากฏหลักฐานร้านค้าของชาวญี่ปุ่นรุ่นแรกๆ ในกรุงเทพฯ ราว พ.ศ. 2434 ส่วนใหญ่จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไป เช่น ร้านโนโนงาคิ ร้านนิสเซ็น ร้านซากุระหงิ ร้านโตะนัน ร้านเค. โอยามา ร้านยามากูจี นอกจากนี้ ยังมีร้านถ่ายรูป ร้านตัดผม คลินิกของแพทย์ชาวญี่ปุ่น และธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่เข้ามาฉายบริเวณนาครเขษม

ร้านค้าของชาวญี่ปุ่นเหล่านี้ มักตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง บ้านหม้อ พาหุรัด ประตูสามยอด ซึ่งอยู่ไม่ไกลพระบรมมหาราชวัง เป็นทำเลที่เจ้านาย ขุนนาง และชาวต่างชาติชาติอื่นๆ สะดวกเดินทางมาซื้อหาสินค้าและใช้บริการ

กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มชาวนาอพยพ

สมัยรัชกาลที่ 5 ตรงกับสมัยเมจิของญี่ปุ่น ที่มีนโยบายอพยพชาวนาออกนอกประเทศ เพื่อเป็นการระบายประชากร ชาวนาญี่ปุ่นที่มีฐานะยากจนข้นแค้นจึงออกนอกประเทศ ด้วยหวังมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าในต่างแดน

เวลานั้นสยามอยู่ในช่วงปฏิรูปประเทศ เกิดความต้องการแรงงานจำนวนมากในภาคการเกษตร เป็นผลสืบเนื่องจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เสนาบดีกระทรวงเกษตรฯ จึงหารือกับชาวญี่ปุ่นเตรียมการอพยพคน และก่อตั้งบริษัทผู้อพยพญี่ปุ่น-สยาม ขึ้น

ชาวญี่ปุ่นในสยาม อนุสาวรีย์ชาวนาญี่ปุ่น แก่งคอย
อนุสาวรีย์ชาวนาญี่ปุ่นรุ่นแรก ที่อพยพมาทำงานก่อสร้างทางรถไฟสายโคราช จนถึงแก่กรรม ตั้งอยู่ในวัดแก่งคอย อ. แก่งคอย จ. สระบุรี (ภาพจากหนังสือ ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น 600 ปี. โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์)

ทว่ามีชาวนาญี่ปุ่นที่อพยพเข้ามาในสยามเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้ทำงานในภาคการเกษตร เหตุผลเพราะติดขัดเรื่องทุนทรัพย์จัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ และยังมีปัญหากับบริษัทผู้อพยพญี่ปุ่น-สยาม ชาวนาญี่ปุ่นจึงต้องไปทำงานอย่างอื่นแทน

บางส่วนไปเป็นแรงงานก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา บางส่วนไปเป็นแรงงานในเหมืองภาคอีสาน บางส่วนก็ไปทำงานเป็นลูกจ้างห้างร้านชาวญี่ปุ่น ส่วนสตรีบางคนก็ไปทำงานตามร้านอาหารกลางคืน

หลักฐานของชาวญี่ปุ่นในสยาม ยุครัชกาลที่ 5 ปรากฏเป็น “หอเก็บอัฐิ” หรือเก็บกระดูกของชาวญี่ปุ่นที่เคยใช้ชีวิตในสยามช่วงนั้น หอดังกล่าวอยู่ในวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2478 เป็นอคารคอนกรีต 3 ชั้น มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเหมือนวัดโบราณในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ภายในมีพระพุทธรูปสำริดเป็นพระประธาน อัญเชิญมาจากวัดในเมืองนาโกยา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธัชสร ตันติวงศ์. “ชาวญี่ปุ่นในประเทศไทยช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากชุมชนเลื่อนฤทธิ์”. นิตยสารศิลปากร ปีที่ 66 ฉบับที่ 2 มีนาคม-เมษายน 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2567