ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
สะพานมัฆวานรังสรรค์ เป็นสะพานที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์หลายด้าน เพราะก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสะพานที่หากใครสัญจรผ่านไปมาบนถนนราชดำเนินนอก ย่อมเห็นได้ถึงความงดงามที่ยังคงเอกลักษณ์เดิมไว้มากว่าร้อยปี ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นสะพานที่งดงามที่สุดในพระนครอีกด้วย
“สะพาน” กับการเชื่อมพื้นที่เมือง
สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงเวลาที่สยามปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทัดเทียมโลกตะวันตก มีการเปิดรับองค์ความรู้ ความคิด และเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งยังมีการพัฒนาเมือง เกิดการขยายตัวของเมือง นำสู่การตัดถนน สร้างสะพานข้ามคูคลอง เพื่อความสะดวกในการคมนาคมของราษฎร
สะพานที่สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 มีด้วยกันหลายสะพาน ที่โดดเด่นเห็นจะเป็น “สะพานชุดเฉลิม” หมายถึงสะพานที่มีคำว่า “เฉลิม” นำหน้า และลงท้ายด้วยตัวเลขบอกพระชนมายุในรัชกาลที่ 5
พระองค์โปรดให้สร้างสะพานชุดเฉลิมขึ้น เนื่องในงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นประจำทุกปี
อ่านเพิ่มเติม : “สะพานชุดเฉลิม” ในกรุงเทพฯ ที่นำหน้าว่า “เฉลิม” ลงท้ายด้วยตัวเลข มีที่มาจากไหน?
สะพานชุดเฉลิม มีด้วยกัน 17 แห่ง สะพานแรกคือ “สะพานเฉลิมศรี ๔๒” ข้ามคลองบางขุนพรหม ที่ถนนสามเสน และสะพานสุดท้ายคือ “สะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘” ข้ามคลองคูเมือง ที่ถนนพระอาทิตย์ ซึ่งรัชกาลที่ 5 พระราชทานพระราชทรัพย์และทรงเลือกสถานที่ก่อสร้างไว้ก่อนสวรรคต
แม้จะมีสะพานเกิดขึ้นในรัชกาลนี้มากมายเพียงใด แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีสะพานไหนงดงามเท่า “มัฆวานรังสรรค์”
เหตุใด “สะพานมัฆวานรังสรรค์” ถึงเป็นสะพานที่งดงามสุดในพระนคร?
เมื่อสร้างถนนราชดำเนินนอก บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ผ่านตำบลบางช่างหล่อ ถนนกรุงเกษม ไปบรรจบกับถนนเบญจมาศ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของถนนราชดำเนินนอก) เมื่อ พ.ศ. 2442 ซึ่งเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวังไปยังพระราชวังดุสิต
รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมขึ้นบริเวณนั้น เพื่อเชื่อมระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนราชดำเนินนอก และเชื่อมถนนในพระนครกับถนนที่ตัดออกไปนอกพระนครเข้าด้วยกัน เป็นประโยชน์ในการสัญจรไปมาของทั้งราษฎรและชาวต่างชาติที่อาศัยในพระนคร และได้พระราชทานนามไว้ก่อนสะพานจะสร้างเสร็จว่า “สะพานมัฆวานรังรักษ์”
ต่อมา วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2442 พระองค์มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ให้เปลี่ยนนามสะพานเป็น “มัฆวานรังสรรค์” มีความหมายว่า “พระอินทร์เป็นผู้สร้าง” หรือ “สะพานพระอินทร์สร้าง” ด้วยมีพระราชประสงค์ให้สะพานนี้เป็นสะพานที่มีความงดงามที่สุดในพระนคร ปรากฏหลักฐานในราชกิจจานุเบกษาว่า
“โปรดเกล้าฯ ให้ทำเปนการวิจิตร์งดงาม ล้วนแล้วด้วยศิลาแลเครื่องเหล็กก้าไหล่ทองเปนอย่างงามดียิ่งกว่าสะพานอื่นๆ ที่ได้สร้างขึ้นแล้วในกรุงเทพมหานคร…”
นอกจากมัฆวานรังสรรค์ ยังมีสะพานอีก 4 แห่ง ที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามให้คล้องจองกันไว้ล่วงหน้า ได้แก่ เทเวศรนฤมิตร วิศสุกรรมนิรมาณ มัฆวานรังสรรค์ เทวกรรม์รังรักษ และ จตุรภักตรรังสฤษดิ ซึ่งทั้งหมดมีความหมายเดียวกันคือ “เทวดาเป็นผู้รังสรรค์”
เพื่อให้เป็นสะพานที่งามที่สุดในพระนครสมดังพระราชประสงค์ กรมโยธาธิการซึ่งเป็นแม่งานในการก่อสร้าง จึงมอบหมายงานให้ 3 นายช่างฝีมือดีชาวอิตาลี ประกอบด้วย คาร์โล อัลเลกรี (Carlo Allegri) และ เอมิลิโอ จิโอวานนี กอลโล (Emilio Giovanni Gollo) เป็นวิศวกรก่อสร้าง และ มาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) เป็นสถาปนิก
มัฆวานรังสรรค์เป็นสะพานโครงเหล็ก พื้นสะพานเป็นคอนกรีต ราวสะพานเหล็กดัดเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา กลางสะพานประดับดวงตราเป็นรูปช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นพาหนะของพระอินทร์ เสาสะพานทำด้วยหินอ่อนจารึกนามสะพาน ที่ยอดเสาประดับโคมไฟสำริด
เมื่อสร้างเสร็จแล้ว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ไปทรงเปิดสะพานมัฆวานรังสรรค์ และทรงเปิดถนนราชดำเนินนอก เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 50 พรรษา วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2446
แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 120 ปี แต่สะพานนี้ก็ยังคงความงดงามไม่เสื่อมคลาย
อ่านเพิ่มเติม :
- รู้จัก “สะพานชุดเจริญ” ที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างตามรอยรัชกาลที่ 5
- “สะพานพระราม” ทั้ง 9 อยู่ที่ไหน เชื่อมจุดใดกับจุดใดบ้าง?
- ย้อนดูที่มา “สะพานหัวช้าง” สะพาน 6 แผ่นดิน กับชื่อจริงที่คนไม่ค่อยรู้จัก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ไอยคุปต์ ธนบัตร และอาทิพร ผาจันดา “๑๒๐ ปี สะพานมัฆวานรังสรรค์”. นิตยสารศิลปากร ปีที่ 66 ฉบับที่ 6 พฤศจิกายน-ธันวาคม 2566.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กันยายน 2567