ย้อนดูที่มา “สะพานหัวช้าง” สะพาน 6 แผ่นดิน กับชื่อจริงที่คนไม่ค่อยรู้จัก

สะพานหัวช้าง สะพานเฉลิมหล้า 56
ภาพเก่า "สะพานหัวช้าง" ที่มีชื่อจริงว่า “สะพานเฉลิมหล้า 56”

“สะพานหัวช้าง” ชื่อเรียกตามรูปลักษณ์ของสะพาน ที่ตั้งอยู่บนถนนพญาไท ใกล้สถานีรถไฟฟ้าราชเทวี หากชื่อจริงของสะพานแห่งนี้คือ “สะพานเฉลิมหล้า 56” ซึ่งเป็น 1 ใน “สะพานชุดเฉลิม” ที่รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้สร้าง

สะพานชุดเฉลิม ที่รวม “สะพานหัวช้าง” เข้าไปด้วยนั้น เกิดขึ้นจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2396-2453) ว่า จากนี้วันเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปีจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสร้าง “สะพาน” พระราชทานเป็นสาธารณประโยชน์ เริ่มตั้งแต่ปี 2437

Advertisement

ด้วยเหตุที่มาข้างต้น จึงพระราชทานชื่อสะพานขึ้นต้นว่า “เฉลิม” และต่อท้ายชื่อสะพานด้วย “พระชนมายุ” ในปีนั้น โดยสะพานที่ทรงโปรดให้กรมโยธาธิการสร้างข้ามคลองบางขุนพรหม ที่ถนนสามเสน เมื่อปี 2437 แล้วเสร็จในปีถัดมา มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน ปี 2438 พระราชทานชื่อ “สะพานเฉลิมศรี” เป็นสะพานชุดเฉลิมแห่งแรก

สะพานชุดเฉลิมมีทั้งหมด 17 แห่ง ดังนี้

  1. สะพานเฉลิมศรี 42 อยู่ที่ถนนสามเสน สร้างข้ามคลองบางขุุนพรหม
  2. สะพานเฉลิมศักดิ์ 43 อยู่ที่ถนนหัวลำโพงนอก สร้างข้ามคลองอรชร (ริมถนนสนามม้า)
  3. สะพานเฉลิมเกียรติ 44 อยู่ที่ปลายถนนสาธรฝั่งใต้ สร้างข้ามคลองหัวลำโพง
  4. สะพานเฉลิมยศ 45 อยู่ที่ถนนวรจักร สร้างข้ามคลองวัดพระพิเรนทร์
  5. สะพานเฉลิมเวียง 46 อยู่ที่ถนนเยาวราช สร้างข้ามคลองตรอกเต๊า
  6. สะพานเฉลิมวัง 47 อยู่ที่ถนนอุุณากรรณ สร้างข้ามคลองสะพานถ่าน
  7. สะพานเฉลิมกรุุง 48 อยู่ที่ถนนเจริญกรุง สร้างข้ามคลองวัดจักรวรรดิ
  8. สะพานเฉลิมเมือง 49 อยู่ที่ถนนเจ้าพระยาสุุรศักดิ์ สร้างข้ามคลองสาทร
  9. สะพานเฉลิมภพ 50 อยู่ที่ปลายถนนสุุรวงศ์ สร้างข้ามคลองหัวลำโพง
  10. สะพานเฉลิมพงษ์ 51 อยู่ถนนเฟื่องนคร สร้างข้ามคลองสะพานถ่าน
  11. สะพานเฉลิมเผ่า 52 อยู่ที่ถนนปทุุมวัน สร้างข้ามคลองริมถนนสนามม้า
  12. สะพานเฉลิมพันธุ์ 53 อยู่ที่ถนนเจริญกรุุง สร้างข้ามคลองวัดสามจีน
  13. สะพานเฉลิมภาคย์ 54 อยู่ที่ถนนเจริญกรุุง สร้างข้ามคลองสีลม
  14. สะพานเฉลิมโลก 55 อยู่ที่ถนนราชดำริห์และถนนประแจจีน สร้างข้ามคลองบางกะปิ
  15. สะพานเฉลิมหล้า 56 อยู่ที่ถนนพญาไท สร้างข้ามคลองบางกะปิ
  16. สะพานเฉลิมเดช 57 อยู่ที่ถนนสี่พระยา สร้างข้ามคลองหัวลำโพง
  17. สะพานเฉลิมสวรรค์ 58 อยู่ที่ถนนพระอาทิตย์ สร้างข้ามคลองโรงไหม

ทั้งนี้ สะพาน 2 แห่งสุดท้าย คือ สะพานเฉลิมเดช 57 และสะพานเฉลิมสวรรค์ 58 สร้างในรัชกาลที่ 6 ด้วยพระราชทรัพย์ที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานไว้ล่วงหน้า

ปัจจุบัน เมื่อถนนสำคัญกว่าคลองก็ถมคลองทำถนน สะพานข้ามคลองนั้นๆ ก็ถูกรื้อถอนไป สะพานชุดเฉลิมทั้ง 17 แห่งที่สร้างขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ปัจจุบันจึงเหลือเพียงไม่กี่แห่ง เช่น สะพานเฉลิมโลก 55 สะพานเฉลิมหล้า 56 และไม่ได้รู้จักในชื่อ สะพานชุดเฉลิม เช่น “สะพานเฉลิมหล้า 56” ที่ใครๆ เรียกกันว่า “สะพานหัวช้าง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ณิชชา จริยเศรษฐการ, บุศยารัตน์ คู่เทียม บรรณาธิการ. อาไคฟ ขอให้เก็บให้จงดี. กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2567