ประติมานวิทยาภาพเล่าเรื่องฤๅษีวาลมีกิ ที่ปราสาทบันทายฉมาร์

“ประติมานวิทยาภาพ” เล่าเรื่องฤๅษีวาลมีกิ ที่ “ปราสาทบันทายฉมาร์”

บทนำ

ปราสาทบันทายฉมาร์เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดบันทายมีชัย (ศรีโสภณ) ประเทศกัมพูชา ห่างจากชายแดนของประเทศไทยไม่ไกลนัก ในอดีต นายจอร์ช โกรลิเยร์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสได้เสนอว่าปราสาทแห่งนี้คือศูนย์กลางของเมืองอมเรนทรปุระ ราชธานีแห่งหนึ่งของพระเจ้าชัยวรรมันที่ 2 ทั้งนี้เพราะในครั้งนั้นยังเชื่อว่าปราสาทบายนคือ วนมกันตาล (ภูเขากลางเมือง) ที่สถาปนาขึ้นโดยพระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 ตามความในศิลาจารึกปราสาทสด๊อกก๊อกธม

แต่ในปัจจุบันก็เป็นที่ทราบกันแล้วว่าแท้ที่จริงว่าปราสาทบันทายฉมาร์นั้น สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 สำหรับการกำหนดรูปแบบทางศิลปะนักประวัติศาสตร์ศิลปะได้กำหนดให้ปราสาทบันทายฉมาร์อยู่ในช่วงที่ 2 ของศิลปะเขมรแบบบายน ส่วนสาเหตุในการสถาปนาปราสาท ลอเรน ปาลเมอร์ บริกส์ ได้เสนอว่าปราสาทหลังนี้เกี่ยวข้องกับงานพระศพของพระโอรสของพระองค์

สำหรับการศึกษาทางด้านประติมานวิทยา ณ ปราสาทบันทายฉมาร์ ที่ผ่านมามุ่งเน้นที่จะศึกษาภาพสลักที่ผนังระเบียงคดซึ่งเป็นประติมานวิทยาพระโพธสัตว์อวโลกิเศวรเปล่งรัศมี และภาพสลักเล่าเรื่องเหตุการณ์ทางประวัติศาตร์ครั้งสงครามพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 ทรงกอบกู้อิสรภาพจากอาณาจักรจามปา และเรื่องกบฏภรตราหูในรัชกาลพระเจ้ายโศวรรมันที่ 2 เป็นสำคัญ หากแต่ในบทความเรื่องนี้จะเป็นการนำเสนอการแปลความภาพเล่าเรื่องที่นำมาจากเรื่องราวในเทวปกรณ์ในศาสนาพราหมณ์และแสดงการพัฒนาการประติมานวิทยาภาพเล่าเรื่องรามายณะในสมัยบายน

ลักษณะของภาพสลักเล่าเรื่อง

รายละเอียดที่ปรากฏในภาพสลักภายในหน้าจั่วของระเบียงคด มีรูปพระพรหมอยู่ที่กึ่งกลางภาพโดยแสดงพระพักตร์เพียง 3 หน้า ไว้พระเกศาทรงชฏามกุฏ พระหัตถ์ขวาล่างวางที่พระเพลา พระหัถต์ขวาบนแสดงปางวิตรรกมุทรา พระหัตถ์ซ้ายล่างทรงอักษมาลา (ปะคำ) ด้านขวามือของพระพรหมเป็นรูปฤๅษีที่กำลังประคองอัญชลี ถัดออกไปเป็นรูปฤๅษีที่กำลังดีดพิณ ด้านซ้ายมือของพระพรหมเป็นบุคคลซึ่งมีส่วนใบหน้าที่หายไป แสดงอาการยกธนูขึ้นยิงนก โดยที่ลักษณะของนกคล้ายกับนกกระเรียน

ศาสตราจารย์ เดวิส สเนลกรอฟ ได้เคยเสนอความเห็นเกี่ยวกับภาพสลักนี้ว่าเป็นภาพพระธยานิพุทธเจ้าไวโรจนะที่แสดงออกในฐานะพระพรหม โดยที่ท่านมิได้เเสดงเหตุผลไว้ หากผู้เขียนกลับมีความเห็นที่ต่างจากข้อเสนอดังกล่าว ทั้งนี้เพราะ

1. ในปัจจุบันเรายังไม่ทราบอย่างแท้จริงถึงลักษณะทางประติมานวิทยาของพระธยานิพุทธเจ้าในศิลปะเขมร และที่สำคัญเรายังไม่พบตัวอย่างพอที่จะสรุปได้ว่า ในศิลปะเขมรมีการทำรูปพระพรหมในฐานะที่เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าตีความว่ารูปพระพรหมนั้นคือพระธยานิพุทธเจ้าไวโรจนะแล้ว บุคคลที่กำลังยิงนก จะหมายถึงใคร มีความสัมพันธ์อย่างไรกับพระธยานิพุทธเจ้า และปรากฏอยู่ในเนื้อหาของคัมภีร์เล่มใด ทั้งนี้เพราะการแปลความทางประติมานวิทยานั้นจำเป็นที่จะต้องอ้างอิงเรื่องราวจากคัมภีร์และเอกสารเสมอ

2. เเม้ว่าปราสาทบันทายฉมาร์จะเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนามหายาน แต่จากหลักฐานศิลาจารึกที่สลักอยู่ภายในปราสาทก็ได้กล่าวถึงการสถาปนารูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ อันเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปในพุทธศาสนมหายานในสมัยบายน นอกจากนี้ พุทธศาสนสถานในสมัยบายนก็ยังปรากฏภาพสลักเล่าเรื่องที่นำมาจากเทวปกรณ์ในศาสนาพราหมณ์ และที่สำคัญภาพสลักที่กล่าวถึงอยู่นี้ก็มิได้ปรากฏบนทับหลังชั้นในของห้องครรภคฤหะ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรที่จะชี้ชัดทันทีว่าภาพสลักดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามหายาน

การแปลความภาพ

ในชั้นต้นผู้เขียนมีความเห็นว่าภาพพระพรหมที่อยู่กึ่งกลางภาพไม่ใช่กุญเเจสำคัญในการไขความภาพ แต่ควรเป็นบุคคลที่กำลังยิงนก ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระพรหมมีหลายตอนในเทพปกรณ์ในศาสนาพราหมณ์ แต่เหตุการณ์เรื่องนายพรานยิงนกที่มีสัมพันธ์กับพระพรหมที่เป็นตอนสำคัญในเทวนิยายในศาสนาพราหมณ์มีปรากฏเฉพาะในบทที่ 2 ของพาลกาณฑ์ ในคัมภีร์รามายณะ โดยมีเรื่องย่อดังต่อไปนี้

เมื่อพระนารทมหาฤๅษีได้เล่าเรื่องของพระรามให้ฤๅษีวาลมีกิเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จกลับสู่เทวโลกในทันใด ฝ่ายฤๅษีวาลมีกิก็ได้เดินไปที่ฝั่งแม่น้ำตมสาซึ่งเป็นแควหนึ่งของเเม่น้ำคงคา และ ณ ที่นั้นฤๅษีวาลมีกิได้เห็นว่า น้ำในแม่น้ำนั้นใสสะอาด จึงได้บอกกับภารัทวาชผู้เป็นศิษย์ว่า ท่านจะลงไปอาบน้ำในเเม่น้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ ในขณะที่ท่านกำลังอาบน้ำอยู่นั้นได้เห็นนกกระเรียนคู่หนึ่งซึ่งกำลังระเริงรัก ทันใดนั้นก็มีนิษาท(นายพราน)คนหนึ่งยิงศรมาต้องนกกระเรียนตัวหนึ่งถึงแก่ความตาย ฝ่ายนกกระเรียนที่รอดชีวิตก็บังเกิดความวิปโยคโหยหาแต่นกกระเรียนที่ตายไป ฤๅษีวาลมีกิเห็นเหตุการณ์นั้นก็พลอยบังเกิดความโศกเศร้าถึงกับเปล่งอุทานสาปนิษาท (นายพราน) ผู้นั้นว่า

มา นิษาท ปฺรติษฺฐำ ตฺวํ อคมะ ศาศฺวตีะ สามาะ

ยตฺ เกฺราญฺจมิถุนาเทกํ อวถีะ กามโมหิตํ

แปลว่า

เจ้านิษาท ! เหตุที่เจ้าได้ประหารนกกระเรียนตัวหนึ่งที่กำลังเริงกามกับคู่ เจ้าจงอย่าได้ตั้งมั่นในความสวัสดีตลอดกาล

เมื่อฤๅษีวาลมีกิได้เปล่งอุทานออกไปเช่นนั้นก็รู้สึกว่าถ้อยคำที่ตนกล่าวออกไปนั้นมีลักษณะเป็นรูปแบบฉันทลักษณ์ที่มี 4 บาท และแต่ละบาทมีพยางค์เท่ากัน และสามารถใช้ขับร้องคู่กับพิณได้ วาลมีกิจึงตั้งชื่อรูปแบบคำประพันธ์ที่ตนเองคิดขึ้นว่า “โศลก” เพราะเกิดจากความโศกเศร้า

ครั้นเมื่อฤๅษีวาลมีกิกลับถึงอาศรมแล้ว จึงนั่งเข้าฌานและได้หวนนึกถึงเหตุการณ์ที่นิษาทได้ฆ่านกกระเรียนจนถึงตอนที่ท่านได้สาปนิษาทผู้นั้น ก็บังเกิดอารมณ์โศกเศร้าขึ้นอีกครั้ง ทันใดนั้นพระพรหมก็ไปปรากฏเฉพาะหน้าฤๅษีวาลมีกิ และมีเทวโองการให้ฤๅษีวาลมีกิประพันธ์เรื่องราวการเดินทางของพระราม (รามายณะ) ที่ได้ฟังมาจากพระนารทมหาฤๅษีโดยอาศัยรูปแบบคำประพันธ์ที่ได้คิดขึ้น และในโอกาสนั้นพระพรหมจึงได้ให้พรว่า

ยาวตฺ สฺถาสฺยนฺติ คิรยะ สริศฺ จ มหีตเล

ตาวตฺ รามายณกถา โลเกษุ ปฺรจริษฺยนฺติ

แปลว่า

ตราบใดที่เเม่น้ำและภูเขายังดำรงอยู่ในแผ่นดิน ตราบนั้นเรื่องการเดินทางของพระราม(รามายณกถา)ก็ยังคงอยู่ในโลก

เมื่อได้ให้พรแก่ฤๅษีวาลมีกิเเล้วพระพรหมก็ได้เสด็จกลับสู่พรหมโลก

ดังนั้น ผู้เขียนจึงแปลความภาพสลักโดยอ้างอิงจากเรื่องที่กล่าวมา ภาพสลักรูปบุคคลที่ยิงนกทางด้านซ้ายมือของพระพรหมนั้นคือภาพเล่าเหตุการณ์ที่นิษาทได้ยิงนกกระเรียน บนหัวของนิษาทนั้นได้สวมหมวกรูปนกเหมือนกับรูปของนายพรานที่ปรากฏในภาพสลักที่ระเบียงคดชั้นนอกของปราสาทบันทายฉมาร์ ตรงกลางภาพจึงควรเป็นรูปของพระพรหมที่กำลังมีเทวโองการ รูปฤๅษีที่กำลังคุกเข่าอยู่ข้างๆ คือฤๅษีวาลมีกิ รูปฤๅษีดีดพิณที่ปลายสุดของภาพอาจจะเป็นฤๅษีที่กำลังดีดพิณพร้อมกับขับเรื่องรามายณะ

วิวัฒนาการของภาพเล่าเรื่องรามายณะ

ในวัฒนธรรมเขมรคัมภีร์รามายณะได้รับการเผยแพร่มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 ทั้งนี้เพราะจากข้อความในโศลกที่ 4 ของศิลาจารึกเวียลกันตาล (K359) ซึ่งเป็นของโสมศรรมัน ผู้เป็นสวามีของธิดาพระเจ้าวีรวรรมัน ขนิษฐาของพระเจ้าภววรรมันที่ 1 กล่าวว่า โสมศรรมันได้ถวายมหากาพย์มหาภารตะฉบับสมบูรณ์พร้อมกับมหากาพย์รามายณะและปุราณะ ส่วนงานด้านศิลปกรรมนอกจากประติมากรรมรูปพระรามสมัยพนมดาที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถาน กรุงพนมเป็ญ เราก็ไม่พบหลักฐานภาพสลักเล่าเรื่องจากคัมภีร์รามายณะในสมัยก่อนเมืองพระนคร

จากหลักฐานภาพสลัก ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 16 ที่ปราสาทบันทายสรีจึงได้ปรากฏภาพสลักเล่าเรื่องจากคัมภีร์รามายณะตอนวิราธลักนางสีดา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในอารัณยกาณฑ์ และ ตอนพาลีรบสุครีพ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในกีษกินธ์กาณฑ์ ภาพเล่าเรื่องจากคัมภีร์รามายณะสมัยต่อมาในปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ต่อ ต้นพุทธศตวรรษที่ 17 จึงมีการนำเหตุการณ์ในอีกหลายตอนมาแกะสลักไว้ ณ ปราสาทหลังต่างๆ เช่นเหตุการณ์ในสุนทรกาณฑ์ คือ ภาพหนุมานถวายแหวน เช่นที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ และที่ปราสาทวัดเอก จังหวัดพระตะบอง ภาพเหตุการณ์ที่มาจากอโยธยากาณฑ์ตอนส่งเสด็จพระรามข้ามแม่น้ำคงคา

ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานอาจจะเป็นภาพบนทับหลังของมณฑปด้านทิศเหนือที่ปราสาทพิมาย และภาพเหตุการณ์ในยุทธกาณฑ์ คือ เรื่องนาคบาศ การรบระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ ได้สลักไว้ที่ ปราสาทบาปวน ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง เป็นต้น แต่เหตุการณ์จาก พาลกาณฑ์ และอุตตรกาณฑ์ ยังมิได้นำมาแกะสลักเป็นภาพเล่าเรื่องยังไม่ปรากฏในระยะเวลาดังกล่าว

สาเหตุที่ช่างไม่นำเรื่องราวในพาลกาณฑ์และอุตตรกาณฑ์มาแกะสลักเป็นภาพเล่าเรื่องนั้น ผู้เขียนสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นเพราะ

1. เรื่องราวในพาลกาณฑ์ และอุตตรกาณฑ์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องแทรก ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับพระราม พระลักษมณ์ และสีดา เช่นการเสด็จลงมาของพระคงคา เรื่องฤาษีวสิษฐ์และฤๅษีวิสวามิตร เรื่องการกำเนิดท้าวกุเวร เรื่องพระอิลราช เป็นต้น (แม้ใน อโยธยากาณฑ์ อารัณยกาณฑ์ และยุทธกาณฑ์ เหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระราม พระลักษมณ์ และสีดา ก็ไม่นำมาทำเป็นภาพสลัก)

2. เรื่องราวบางเรื่องใน พาลกาณฑ์ และ อุตตรกาณฑ์ เป็นเพียงบทสนทนา เช่น บทสนทนาระหว่างพระรามกับพระลักษมณ์ เรื่อง ศุนหเษป เป็นต้น

เรื่องราวจากคัมภีร์รามายณะเริ่มที่มีการนำมาแกะสลักอย่างแพร่หลาย ในปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ที่ปราสาทนครวัดซึ่งเป็นศาสนสถานที่สร้างถวายพระวิษณุ เช่นภาพสลักเล่าเรื่องที่ระเบียงคดชั้นที่ 3 (นับจากด้านใน) ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นฉากใหญ่ที่เล่าเรื่องในยุทธกาณฑ์ และเริ่มมีการนำเหตุการณ์ในพาลกาณฑ์มาแกะสลัก คือเรื่องการกวนเกษียรสมุทรที่ผนังระเบียงคดชั้นที่ 3 (นับจากด้านใน) ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และสีดาสยุมพร ส่วนภาพเรื่องที่นำมาจากอุตตรกาณฑ์คือภาพเรื่อง ราวณคฤหมูรติ เป็นต้น

ดังนั้น การที่ปราสาทบันทายฉมาร์ปรากฏภาพเล่าเรื่องตอนพระพรหมมีเทวโองการให้ฤๅษีวาลมีกิประพันธ์เรื่องรามายณะ เพราะภาพสลักเล่าเรื่องที่นำมาจากคัมภีร์รามายณะได้รับความสืบทอดความนิยมแพร่ขยายตั้งแต่ที่ปราสาทนครวัด จึงได้ส่งผลความนิยมต่อมาในสมัยบายน ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลเดียวกับที่เกิดความนิยมสร้างรูปประติมากรรมพระวิษณุปางต่าง ๆ ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2560