ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2551 |
---|---|
ผู้เขียน | วิชชุ เวชชาชีวะ |
เผยแพร่ |
บทความนี้เป็นการแนะนำหนังสือ “สุริยะปฏิทินพันปี ปราสาทภูเพ็ก จังหวัดสกลนคร” ของ คุณสรรค์สนธิ บุณโยทยาน ซึ่งในข้อคิดเห็นของผู้แนะนำถือเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมที่เปิดมิติใหม่สำหรับการศึกษาปราสาทหินขอม เนื่องจากสามารถบูรณาการองค์ความรู้ทางโบราณคดี ดาราศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และมานุษยวิทยา ไว้ได้อย่างกลมกลืนและมีน้ำหนัก
อย่างไรก็ดี โดยที่หนังสือของคุณสรรค์สนธิอาจไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักและอาจอ่านไม่ง่ายอย่างที่ปรากฏในขั้นแรก เพราะวิธีการเล่าเรื่องอย่างเป็นกันเองทำให้ลำดับความบางช่วงกระโดด รวมทั้งมี “เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย” แทรกอยู่กระจัดกระจาย เช่น ข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยะที่ปราสาทพนมรุ้ง ฯลฯ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องเบ็ดเตล็ดเหล่านี้น่าสนใจไม่แพ้ประเด็นหลัก ผู้แนะนำจึงพยายามสรุปเรียบเรียงประเด็นที่เห็นสำคัญในหนังสือให้ปรากฏชัดเจนขึ้น รวมทั้งเสนอข้อสังเกตและข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์สำหรับผู้สนใจจะได้ติดตามอ่านและศึกษาต่อยอดผลงานชิ้นพิเศษของคุณสรรค์สนธิชิ้นนี้ต่อไป
ในสังคมเมืองปัจจุบันที่พวกเราตื่นนอนขึ้นด้วยนาฬิกาปลุก ดำเนินภารกิจไปตามจังหวะของนาฬิกาข้อมือและปฏิทินตั้งโต๊ะ มีชีวิตอยู่ในวงรอบของจันทร์ถึงอาทิตย์ที่ค่ำคืนสว่างด้วยแสงไฟแทบไม่ต่างจากกลางวัน เราคงไม่ต้องใส่ใจว่าวันนี้พระอาทิตย์จะตกค่อนไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือหรือเฉียงใต้ คืนนี้พระจันทร์จะเต็มดวงหรือเหลือเพียงเสี้ยววง และพรุ่งนี้หรือสัปดาห์หน้า กลางวันหรือกลางคืนจะค่อยๆ ยาวขึ้นกว่ากัน
แต่สำหรับบรรพชนของเราก่อนยุคแสงไฟฟ้า ปฏิทิน และนาฬิกา พวกเขาอาศัยความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติเป็นเครื่องเตือนให้เตรียมดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งเรื่องของตัวและสังคม
คืนพระจันทร์เต็มดวงหรือใกล้เต็มดวงจึงไม่ได้หมายถึงแค่เพียงแสงสว่างยามค่ำที่ปกติเป็นของหายาก แต่ในหลายๆ ครั้งได้กลายเป็นสัญญาณนัดหมายเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันของชุมชน หรือกรณีสังคมเกษตรในอุษาคเนย์หลายแห่ง เมื่อวันซึ่งกลางวันยาวที่สุดของรอบปีเริ่มผันผ่าน สมาชิกชุมชนจะถือเป็นสัญญาณเริ่มดำข้าวนาปีเพื่อให้ตั้งท้องพอดีกับฤดูที่กลางวันสั้นกว่ากลางคืนซึ่งจะตามมาในอีก 2-3 เดือน
ในหนังสือ “สุริยะปฏิทินพันปี ปราสาทภูเพ็ก จังหวัดสกลนคร” คุณสรรค์สนธิ บุณโยทยาน ได้อธิบายให้เราเห็นภาพความเกี่ยวโยงของปราสาทหิน ปฏิทินสุริยะ และจังหวะกิจกรรมทางสังคมของมนุษย์ในอดีตได้อย่างชัดเจนและน่าตื่นใจยิ่ง
คุณสรรค์สนธินำเสนอว่า ในบรรดาโบราณสถานขอมจำนวนมากนั้น มีปราสาทหินจำนวนหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเป็น “สุริยะปฏิทิน” เพื่อให้สัญญาณกับพิธีกรรมและการทำมาหากินของชุมชนในอดีต ปราสาทภูเพ็กเป็นหนึ่งใน “สุริยะปฏิทิน” จำนวนน้อย (หากไม่ใช่เพียงแห่งเดียว) ที่ถูกค้นพบในเมืองไทย
และแม้ว่าชื่อหนังสืออาจทำให้เราเข้าใจว่า ผู้เขียนคงมุ่งอธิบายแค่เรื่องปราสาทภูเพ็กเป็นสำคัญ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปราสาทภูเพ็กกลับได้รับการกล่าวถึงอยู่แค่เพียง 2 บท คือ ในบทนำและบทที่ 5
ส่วนที่เหลืออีก 4 บท (หรือแม้กระทั่ง 2 บทที่เกี่ยวกับปราสาทภูเพ็กนั้น) มีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นน่าสนใจต่างๆ มากมายทั้งทางกว้างและทางลึก อาทิ ดาราศาสตร์ของอารยธรรมโบราณ พัฒนาการของปฏิทินสุริยคติ ตัวอย่างสุริยะปฏิทินตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก สุริยะปฏิทินกับเหตุผลทางเกษตรศาสตร์และมานุษยวิทยา/สังคมวิทยา สุริยะปฏิทินในเมืองพระนคร การพิสูจน์สุริยะปฏิทิน การค้นพบแท่นหินที่บันทึกรหัสดาราศาสตร์ การสร้างสุริยะปฏิทินขึ้นใหม่เพื่อรับใช้ปัจจุบัน ฯลฯ
มุมมอง ข้อเสนอ และเนื้อหาที่แปลกพิเศษไม่ซ้ำใครรวมทั้งความซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ในการเล่าเรื่องอย่างเป็นกันเอง (จนอาจเข้าทำนอง “อ่านง่าย เข้าใจยาก”) คือเหตุผลที่ผมเลือกหยิบหนังสือเล่มนี้มาแนะนำให้เราๆ ท่านๆ ได้รับทราบและลองพินิจพิจารณาเผื่อจะสามารถขยายผลในวงกว้างกันต่อไป
สุริยะปฏิทิน
คุณสรรค์สนธิเริ่มบทแรกของหนังสือโดยกล่าวถึงโบราณสถานหลายแห่งในพื้นที่แอ่งสกลนคร-นครพนม ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับอารยธรรมขอมไม่ว่าจะโดยแจ้งหรือโดยนัย อาทิ ปราสาทพนมรุ้ง พระธาตุพนม (ซึ่งคงสร้างคร่อมทับซากสิ่งก่อสร้างยุคขอมเรืองอำนาจอยู่) พระธาตุนารายณ์เจงเวง ปราสาทภูเพ็ก ฯลฯ โบราณสถานเหล่านี้มีจุดร่วมกันตรงที่ถูกออกแบบให้เกิดปรากฏการณ์พิเศษที่สัมพันธ์กับการขึ้น-ลงของดวงอาทิตย์ในวันอันจำเพาะหนึ่งๆ
ในบทที่ 2 คุณสรรค์สนธิถอยออกมาอธิบายภาพกว้างเกี่ยวกับพัฒนาการความรู้ทางดาราศาสตร์ของอารยธรรมโลกยุคโบราณซึ่งสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความพยายามของมนุษยชาติที่จะจัดวางระเบียบให้กับวันและเดือนภายใน 1 ปี ซึ่งก็คือแนวคิดที่เรารู้จักกันในนาม “ปฏิทิน”
มนุษย์ในอดีตพบว่า การที่โลกซึ่งมีแกนเอียงเคลื่อนตัวรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบหรือ 1 ปี จะส่งผลให้เกิดฤดูกาลต่างๆ รวมทั้งวันซึ่งมีความสั้น-ยาวเปลี่ยนแปลงไปเป็นจังหวะจะโคน โดยวันพิเศษในรอบปี 4 วันซึ่งมีความหมายและถูกใช้เป็น “หมุดหมาย” (ทางเวลา) ของผู้คนในอดีต ได้แก่
วสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) หรือวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันในครึ่งแรกของปี (Equinox = Equal Nights) ซึ่งในซีกโลกเหนือเส้นศูนย์สูตรจะตรงกับวันที่ 21 มีนาคม โดยในภูมิภาคที่มี 4 ฤดู ผู้คนจะถือเอาวันนี้เป็นวันสิ้นสุดฤดูหนาว ย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งหลังจากนี้ กลางวันจะค่อยๆ ขยายยาวขึ้นกว่ากลางคืน
ครีษมายัน (Summer Solstice) หรือวันเดียวในรอบปีที่กลางวันยาวที่สุด ซึ่งจะอยู่ในราววันที่ 21 หรือ 22 มิถุนายน ฝรั่งถือว่าวันนี้เป็นวันสิ้นสุดฤดูใบไม้ผลิ เริ่มต้นฤดูร้อน หลังจากนี้ กลางวันจะค่อยๆ ลดความยาวลง
ศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) หรือวันที่กลางวันกลับมายาวเท่ากับกลางคืนอีกครั้งในครึ่งหลังของปี ซึ่งมักตรงกับวันที่ 23 กันยายน ฝรั่งถือว่าเป็นวันสิ้นสุดฤดูร้อน เริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง หลังจากนี้ กลางวันจะค่อยๆ ลดความยาวลงอีกจนกระทั่งถึง
เหมายัน (Winter Solstice) หรือวันที่กลางคืนยาวที่สุด ได้แก่วันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม ถือเป็นวันสิ้นสุดฤดูใบไม้ร่วง เริ่มต้นฤดูหนาว โดยหลังจากนี้ กลางวันจะค่อยๆ เพิ่มความยาวขึ้นจนกลับมาสู่วันวสันตวิษุวัต และหมุนเวียนเป็นวงรอบจังหวะตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นต่อไป
บนพื้นฐานความรู้ดังกล่าว ผู้คนในอดีตได้ออกแบบอาคารหรือสิ่งก่อสร้างให้ทำหน้าที่เป็นเครื่องบ่งชี้บอกวันสำคัญทั้งสี่ (หรืออย่างน้อยก็หนึ่งในสี่วันข้างต้น) โดยจะเกิดปรากฏการณ์พิเศษขึ้นกับอาคารในวันดังกล่าว เช่น ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงกับยอดหรือจุดหมายตาอื่นๆ ของอาคาร หรืออาจสาดแสงส่องผ่านช่องประตูตามแนวแกนหลักเข้ามาภายใน เป็นต้น เราเรียกสิ่งก่อสร้างที่มีคุณสมบัติพิเศษเช่นนี้ว่า “สุริยะปฏิทิน”
คุณสรรค์สนธิอธิบายแยกแยะว่า แม้ในความเป็นจริงจะมีอาคารหรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกหลายแห่งที่ได้รับการออกแบบให้เกิดปรากฏการณ์สัมพันธ์กับการขึ้น-ลงของดวงอาทิตย์ แต่ถ้าหากปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในวันสำคัญทั้งสี่ (หรือหนึ่งในสี่) ของปี ก็ไม่ถือว่าอาคารหรือสิ่งก่อสร้างนั้นเป็น “สุริยะปฏิทิน” แต่อาจเป็นอาคารพิเศษอีกลักษณะ (ที่ผมขอตั้งชื่อลำลองไปพลางก่อนว่า “ปราสาทสุริยะ” โดยคุณสรรค์สนธิได้ขยายความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้บ้าง ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป)
ปราสาทภูเพ็ก จังหวัดสกลนคร แม้จะมีขนาดเล็กและไม่ปรากฏความสำคัญในทางศิลปกรรมหรือสถาปัตยกรรม แต่กลับมีลักษณะพิเศษของ “สุริยะปฏิทิน” นี้อย่างยากที่จะหาโบราณสถานอื่นๆ ในประเทศไทยเทียบเคียงได้
สุริยะปฏิทินทั่วโลก
แม้ว่าการศึกษาเรื่อง “สุริยะปฏิทิน” อาจยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก แต่คุณสรรค์สนธิก็ได้ค้นคว้าให้เราเห็นตัวอย่างของ “สุริยะปฏิทิน” ที่สำคัญในภูมิภาคต่างๆ ของโลกไว้ เช่น
สโตนเฮนจ์ อังกฤษ (ซึ่งแสงอาทิตย์ในวันครีษมายันจะฉายส่องผ่านช่องกรอบเสาหินมากระทบ heel stone พอดี)
นิวเกรนจ์ ไอร์แลนด์ (แสงอาทิตย์ยามเช้าของวันเหมายันจะส่องผ่านประตูไปกระทบจุดที่เชื่อว่าเคยมีโลงพระศพตั้งอยู่)
พีระมิดเมืองยูแซกตุน เม็กซิโก (จากแท่นสังเกตการณ์ฝั่งตรงข้าม จะเห็นดวงอาทิตย์ในวันสำคัญทั้งสี่ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเหนือยอดพีระมิดทั้งสาม โดยดวงอาทิตย์ในวันวสันตวิษุวัตและศารทวิษุวัตจะขึ้นตรงกับยอดพีระมิดองค์กลาง)
มาชู ปิกชู เปรู (แสงอาทิตย์ในวันสำคัญทั้งสี่จะผลัดกันส่องผ่านช่องหน้าต่าง 3 บานไปกระทบกับแท่นหินที่ชื่อว่า อินทิฮัวตาน่า)
นครวัด กัมพูชา (ดวงอาทิตย์ในวันวสันตวิษุวัตและศารทวิษุวัตจะขึ้นตรงกับยอดปรางค์องค์กลาง หากสังเกตจากตำแหน่งพิเศษบนลานซุ้มประตูกลาง นอกจากนี้ แสงอาทิตย์ในวันดังกล่าวยังจะสาดส่องต้องตรงรูปสลักพระวิษณุในพิธีกวนน้ำอมฤตบนระเบียงภาพแกะสลักอย่างพอเหมาะพอดีด้วย)
หน้าที่ของสุริยะปฏิทิน
สุริยะปฏิทินไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อความอัศจรรย์ใจของผู้พบเห็นล้วนๆ แต่เพียงอย่างเดียว
ในบทที่สาม คุณสรรค์สนธิให้ข้อคิดเห็นว่า มนุษย์ในอดีตอาศัยสุริยะปฏิทินบ่งบอก “จังหวะเวลา” สำหรับการประกอบพิธีกรรมและการทำมาหากิน โดยเฉพาะการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารเพื่อให้เกิดผลผลิตสูงสุด หรือการผสมพันธุ์สัตว์เพื่อให้ตกลูกในฤดูที่มีอาหารสมบูรณ์ (เช่น ต้นฤดูใบไม้ผลิ) เป็นต้น
สำหรับกรณีประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียง การศึกษาหลักวิชาเกษตรศาสตร์ทำให้คุณสรรค์สนธิพบว่า ข้าวพันธุ์พื้นเมือง (หรือข้าวนาปี) จะให้ผลผลิตสูงเมื่อถูกกระตุ้นให้สร้างรวงอ่อน ออกดอก และตั้งท้องด้วยแสงอาทิตย์ในช่วงที่วันกำลังลดสั้นลงเรื่อยๆ จึงเป็นไปได้มากว่าผู้คนในสมัยโบราณคงอาศัยสุริยะปฏิทินกำหนดช่วงเวลาหว่านดำข้าวพันธุ์พื้นเมือง (หรือข้าวนาปี) ในช่วงหลังวันครีษมายัน (ปลายมิถุนายน) เพื่อให้ข้าวตั้งท้องถูกต้องพอดีประมาณช่วงสัปดาห์ของวันศารทวิษุวัต (ปลายเดือนกันยายน)
การเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุริยะปฏิทินกับจังหวะกิจกรรมความเป็นอยู่ของผู้คนถือเป็นจุดเด่นประการหนึ่งในหนังสือของคุณสรรค์สนธิ เพราะเท่ากับเป็นการเปิดมิติหรือมุมมองใหม่ให้กับการศึกษาปราสาทหินและโบราณสถานขอม ซึ่งได้บูรณาการความรู้ทางดาราศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยาไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืนมีน้ำหนัก
มิติใหม่ในการพิจารณาสิ่งก่อสร้างแห่งอดีตนี้ได้ก่อให้เกิดข้อเสนอและผลการศึกษาที่น่าสนใจกว้างขวางขึ้นไปกว่างานเขียนที่มีมาทั้งในด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม หรือคติความเชื่อที่สันนิษฐานว่าอยู่เบื้องหลังศาสตร์หรือสุนทรียศาสตร์เหล่านี้
อย่างไรก็ดี มีประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่คุณสรรค์สนธิกล่าวถึงแต่ไม่ได้ลงรายละเอียด (อาจด้วยมีเรื่องอื่นรอให้เล่าอีกมาก) นั่นก็คือประเด็น “พิธีกรรม” ซึ่งจะให้ภาพความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสุริยะปฏิทิน และ “อำนาจ-ความรู้-ความชอบธรรม” ของผู้ปกครองได้ละเอียดขึ้น
เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าการออกแบบและก่อสร้าง “สุริยะปฏิทิน” ต้องอาศัยความรู้ชั้นสูงทั้งทางดาราศาสตร์ วิศวกรรม และสถาปัตยกรรม ซึ่งแน่นอนที่องค์ความรู้เหล่านี้ย่อมอยู่ในอำนาจของชนชั้นปกครอง จึงไม่เป็นที่สงสัยว่าสุริยะปฏิทินคงต้องรับใช้พิธีกรรมและความเชื่อของชนชั้นปกครองรวมทั้งกลุ่มปัญญาชนที่แวดล้อมเป็นลำดับแรก
กระนั้นก็ดี พิธีกรรมหลวงที่มีขึ้นในวันซึ่งดวงอาทิตย์สร้างปรากฏการณ์พิเศษกับสุริยะปฏิทิน ก็คงช่วยส่งสัญญาณต่อให้ประชาชน (ซึ่งอาจไม่มีความรู้ทางดาราศาสตร์เพียงพอที่จะคำนวณหรือระบุวันสำคัญทั้งสี่ในรอบปีด้วยตนเอง) รับทราบถึงฤดูกาลที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ทำให้พวกเขาสามารถเตรียมประกอบกิจกรรมความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับจังหวะเวลา รวมทั้งได้รับผลผลิตที่สมบูรณ์ ซึ่งช่วยตอกย้ำให้พวกเขาสยบยอมต่อความรู้และอำนาจที่เหนือกว่าของผู้ปกครองอีกทอดหนึ่ง
“สุริยะปฏิทิน” ในรูปศาสนสถานหรือเทวาลัยจึงไม่ใช่เพียงแค่อาคารที่ชวนให้ตื่นตาหรืออัศจรรย์ใจเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เราเห็นถึงประเด็นความชอบธรรมของชนชั้นปกครองที่วางอยู่บนองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และเกษตรศาสตร์ (เพิ่มเติมจากฐานอำนาจที่เราคงรู้จักกันดีอยู่แล้วในเรื่องการจัดองค์กรราชการ ยุทธสงคราม การชลประทาน การผลิตซ้ำอุดมการณ์ความเชื่อ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถของชนชั้นปกครองที่จะบูรณาการความรู้เหล่านี้โดยอาศัยพิธีกรรมเป็นเครื่องช่วยให้เกิดผลได้ทางการเมืองที่ยั่งยืนด้วย
“ท้าพิสูจน์” สุริยะปฏิทินที่ภูเพ็ก
หลังจากชี้ให้เห็นถึงลักษณะพิเศษ ตัวอย่างและความสำคัญของสุริยะปฏิทินต่อสังคมแล้ว คุณสรรค์สนธิก็พาเรากลับมาสำรวจและ “พิสูจน์” ความเป็นสุริยะปฏิทินของปราสาทภูเพ็ก ในประเทศไทย
ปราสาทภูเพ็กเป็นโบราณสถานขนาดเล็กซึ่งก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ตั้งอยู่บนยอดเขาในชื่อเดียวกันที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 522 เมตร โดยเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ปราสาทตั้งอยู่บนเส้นแวงที่ 103.9 องศา ตรงกับตำแหน่งของนครวัด-นครธมตามแนวเหนือ-ใต้พอดี
จากการสำรวจพบว่า ปราสาทภูเพ็กหันหน้าไปทางทิศตะวันออกแท้ คือทำมุมกวาด 90 องศากับทิศเหนืออย่างแม่นยำ ที่ธรณีประตูทิศตะวันออกและประตูหลอกของทิศที่เหลือมีรอยขีดกำหนดทิศอยู่ที่พื้นหิน โดยเมื่อวางเข็มทิศทาบลง ตำแหน่งเข็มจะทับซ้อนรอยดังกล่าวพอดี แสดงให้เห็นถึงความเที่ยงตรงในเรื่องการคำนวณและวัดระยะของผู้ออกแบบก่อสร้างในสมัยก่อนอย่างน่าทึ่ง
เพื่อเป็นการยืนยันว่าปราสาทที่มีแกนอาคารทาบทับทิศแท้ทางภูมิศาสตร์สามารถทำหน้าที่เป็น “สุริยะปฏิทิน” ได้จริง คุณสรรค์สนธิจึงนำคณะผู้คนต่างๆ ขึ้นไปท้าพิสูจน์ปรากฏการณ์พิเศษของปราสาทภูเพ็กกับดวงอาทิตย์ถึง 8 ครั้งในช่วงปี 2544-45 ซึ่งเป็นวาระโอกาสของวันศารทวิษุวัต เหมายัน วสันตวิษุวัต และครีษมายัน ตามลำดับ
ในการพิสูจน์ปราสาทภูเพ็กต่างกรรมต่างวาระนี้ คุณสรรค์สนธิและคณะพบว่าดวงอาทิตย์ในวันสำคัญทั้งสี่จะขึ้นตรงกับยอดศิวลึงค์ที่ตั้งอยู่นอกประตูด้านหน้าของปราสาทพอดี (จุดสังเกตจากกึ่งกลางห้องภายในปราสาท) โดยมีการถ่ายรูปยืนยันกันเป็นที่เอิกเกริก
ความน่าตื่นเต้นต่อไป
ที่หน้าประตูทางเข้าทิศตะวันออกของปราสาทภูเพ็ก นอกจากจะปรากฏแท่งศิวลึงค์ตั้งอยู่แล้ว คุณสรรค์สนธิยังสังเกตเห็นแท่งหินทรายสี่เหลี่ยมขนาด 56 x 56 สูง 50 เซนติเมตร ตั้งอยู่ด้วย พื้นหน้าตัดบนแท่งหินทรายนี้ มีช่องจัตุรัสใหญ่อยู่ตรงกลาง ล้อมรอบไปด้วยช่องจัตุรัสเล็กที่เรียงกันเป็นจังหวะทั้งหมด 16 ช่อง หลายคนมองข้ามวัตถุโบราณหน้าตาธรรมดาชิ้นนี้ไป แม้กระทั่งนักโบราณคดีนักประวัติศาสตร์ก็อาจสันนิษฐานว่าวัตถุชิ้นนี้คงเป็นฐานโยนี
แต่ในสายตาของคนช่างสังเกตช่างสงสัย คุณสรรค์สนธิได้ลองนำการเรียงตัวทางเรขาคณิตซึ่งปรากฏอยู่ที่พื้นบนของแท่งหินมาลอง “ถอดรหัส” ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์ดู ผลลัพธ์ที่ได้กลับชวนให้อัศจรรย์ใจเป็นที่ยิ่ง เพราะช่องสี่เหลี่ยมบนพื้นแผ่นหินได้บอกพิกัดตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในวันสำคัญทั้งสี่ตลอดจนวันสำคัญในจักรราศีอื่นๆ อีกบางจักรราศี
ที่ชวนให้ตื่นใจยิ่งขึ้นไปก็คือ เมื่อคุณสรรค์สนธิกลับไปเยือนเมืองพระนคร จังหวัดเสียมราฐ ในกัมพูชา ด้วยมุมมองและองค์ความรู้ใหม่นี้ คุณสรรค์สนธิพบว่า ยังมีสิ่งก่อสร้างและปราสาทอื่นๆ นอกเหนือจากนครวัดที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะของ “สุริยะปฏิทิน” อาทิ ปราสาทพนมบาแค็ง พิมานอากาศ ปักษีจำกรง บากง หรือแม้กระทั่งประตูทางเข้านครธม ที่น่าตื่นเต้น (อีกแล้ว) ก็คือ คุณสรรค์สนธิได้พบแท่นหินซึ่งบันทึกรหัสดาราศาสตร์ในลักษณะเดียวกันที่พนมบาแค็งด้วย โดยวางอยู่ตามจุดต่างๆ ของบริเวณปราสาทถึง 5 ตัว
จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณสรรค์สนธิหรือใครที่ได้รับแรงบันดาลใจจะได้พยายาม “ถอดรหัส” แท่นหินเหล่านี้ออกมาเปรียบเทียบกันเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้จากแง่มุมใหม่ที่แทบไม่มีใครเคยได้รู้ได้ศึกษากันมาก่อน
ปราสาทสุริยะ
คุณสรรค์สนธิกล่าวว่า ในบรรดาปราสาทขอมซึ่งส่วนใหญ่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกนั้น มีบางปราสาทที่สามารถเกิดปรากฏการณ์พิเศษกับดวงอาทิตย์ได้ แม้ว่าแนวแกนของอาคารจะไม่ได้วางอยู่บนทิศภูมิศาสตร์อย่างเที่ยงตรงก็ตาม ตัวอย่างเช่น ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทวัดภู พระธาตุนารายณ์เจงเวง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี คุณสรรค์สนธิย้ำว่าโบราณสถานเหล่านี้ไม่จัดเป็นสุริยะปฏิทิน แม้ว่าสถาปนิกในสมัยก่อนคงอาศัยหลักดาราศาสตร์ชุดเดียวกันในการคำนวณออกแบบก็ตาม
คุณสรรค์สนธิยกตัวอย่างของปราสาทพนมรุ้งและปรากฏการณ์พิเศษที่เกิดขึ้น พร้อมให้คำอธิบายใหม่ที่แย้งกับข้อสันนิษฐานเดิมๆ
ที่ผ่านมา นักโบราณคดีจำนวนหนึ่งเชื่อว่า แกนของปราสาทพนมรุ้งที่เบี่ยงเบนออกไปจากทิศตะวันออกแท้เกิดจากการคำนวณหรือการก่อสร้างที่ผิดพลาด ทำให้ปรากฏการณ์พิเศษที่เกิดกับปราสาทไม่ตรงกับวันสำคัญทั้งสี่ในรอบปีเสียทีเดียว (หรือในขณะเดียวกัน ก็มีนักวิชาการสมัครเล่นและนักการท่องเที่ยวบางคนที่ชี้ชวนให้ผู้คนเชื่อว่าปราสาทพนมรุ้งจะเกิดปรากฏการณ์พิเศษกับดวงอาทิตย์ในวันเปลี่ยนฤดูกาลทั้งสี่)
แต่สำหรับคุณสรรค์สนธิ แกนอาคารของปราสาทพนมรุ้งถูกออกแบบให้เบี่ยงเบนออกจากทิศตะวันออกแท้อย่างจงใจ คุณสรรค์สนธิพบว่าค่าเบี่ยงเบนดังกล่าวคือ 5.5 องศาจากทิศตะวันออก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือด้านหน้าของปราสาททำมุมกวาดจากทิศเหนือแท้ 84.5 องศา ซึ่งเป็นตำแหน่งแรกที่ดวงอาทิตย์ขึ้นในราศีเมษ
ดังนั้น แม้ว่าปราสาทพนมรุ้งจะเกิดปรากฏการณ์ที่แสงอาทิตย์สาดส่องลอดช่องประตูทั้ง 15 ช่องในสี่วันของรอบปี แต่วันเหล่านี้ย่อมมิใช่วันวสันตวิษุวัต ครีษมายัน ศารทวิษุวัต และเหมายัน อย่างแน่นอน นอกจากนั้น ปรากฏการณ์พิเศษที่พนมรุ้งยังเกิดขึ้นโดยทิ้งช่วงระหว่างเดือนอย่างไม่เสมอหรือเท่าๆ กัน ดังเช่นกรณีของสุริยะปฏิทินที่แท้จริงด้วย
คุณสรรค์สนธิอธิบายว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปราสาทพนมรุ้งมีความหมายและหน้าที่แตกต่างไปจาก “สุริยะปฏิทิน”
ปราสาทพนมรุ้งที่หันหน้าเล็งจุดเริ่มต้นของราศีเมษแสดงนัยความสัมพันธ์ที่มีต่อพระวิษณุ เนื่องจากราศีเมษถือเป็นช่วงเวลาประสูติของพระราม (ซึ่งก็คืออวตารหนึ่งของพระวิษณุ) นอกจากนั้น ยังสะท้อนการบูชาวันแรกของราศีซึ่งถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์หรือวันปีใหม่ทางสุริยคติของชนชาวอุษาคเนย์ (ก่อนที่จะมีการกำหนดให้วันปีใหม่ในราศีเมษนี้ตายตัว เช่น 13-15 เมษายนในกรณีของไทยหรือประเทศใกล้เคียง) มิใช่การบ่งบอกจังหวะวงรอบของปีดังเช่นหน้าที่ของสุริยะปฏิทิน
สำหรับผู้สนใจปราสาทพนมรุ้งลึกซึ้งลงไปกว่านี้ คุณสรรค์สนธิยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากการสังเกตคำนวณด้วยว่า ในบรรดาวันพิเศษที่ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงและสาดแสงผ่านช่องประตู 15 ช่องของปราสาทนั้น จะมีเพียงบางวันซึ่งกลางคืนจะตรงกับวันเพ็ญ 15 ค่ำ โดยวันพิเศษเหนือพิเศษนี้เกิดขึ้นในราศีเมษครั้งที่ผ่านมาเมื่อ 4 เมษายน 2547 และจะเกิดขึ้นครั้งต่อไปๆ ในรอบ 100 ปีข้างหน้าด้วยการทิ้งช่วงจังหวะเป็น 11 ปี – 19 ปี – 27 ปี – 19 ปี – 11 ปี – 19 ปี – 27 ปี – 19ปี (ผู้ที่ต้องการท้าพิสูจน์คงต้องอดทนรอรอบถัดไปจนถึงปี 2558)
ส่วนผู้สนใจโบราณสถานที่เกิดปรากฏการณ์พิเศษกับดวงอาทิตย์ แต่มิใช่สุริยะปฏิทิน คุณสรรค์สนธิกล่าวผ่านๆ ถึงตัวอย่างอีก 2 แห่ง ได้แก่ พระธาตุเชิงชุม ซึ่งหันหน้าทำมุมใกล้เคียงกันกับปราสาทพนมรุ้ง (สันนิษฐานว่าองค์พระธาตุอาจสร้างคร่อมทับปราสาทขอมโบราณในทำนองเดียวกับพระธาตุพนม) และปราสาทวัดภู ซึ่งคุณสรรค์สนธิกล่าวว่าหันหน้าเข้าหาตำแหน่งทิศที่สัมพันธ์กับครีษมายัน (หรือวันที่กลางวันยาวที่สุดในรอบปี) นัยว่าเพื่อให้ตรงกับวันที่ดวงอาทิตย์ร้อนแรงที่สุด โดยอาจมีการบูชายันต์มนุษย์ในวันนั้นด้วย
ข้อเสนอที่เร้าความสนใจข้างต้นทำให้เราเอาใจช่วยคุณสรรค์สนธิให้มีเวลามากยิ่งขึ้นในการศึกษาประเด็นที่ยังคาค้างอยู่เกี่ยวกับปราสาทหินและโบราณสถานต่างๆ เพื่องานเขียนต่อๆ ไปจะช่วยเปิดหูเปิดตาเราให้สว่างกว้างขึ้นตามแนวทางสร้างสรรค์ที่หนังสือเล่มนี้ได้วางไว้แล้ว
การผลิตซ้ำสุริยะปฏิทิน
เนื่องจาก “สุริยะปฏิทิน” ถูกออกแบบและสร้างขึ้นบนองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ชุดหนึ่ง การเข้าถึงความรู้ชุดนี้ทำให้เราสามารถ “ผลิตซ้ำ” สิ่งก่อสร้างซึ่งเป็นสุริยะปฏิทินได้ใหม่
ในบทสุดท้ายของหนังสือ คุณสรรค์สนธิได้นำเสนอไว้อย่างน่ารักน่าเอ็นดูเกี่ยวกับการสร้าง “สุริยะปฏิทิน” ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็น “จุดเร้าใจ”
สุริยะปฏิทินยุคใหม่นี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของอาคารขนาดใหญ่โต แต่อาจเป็นเพียงแค่ซุ้มประตู ประติมากรรม หรือสัญลักษณ์ของท้องถิ่น หากด้วยการวางตำแหน่งอย่างถูกต้องสัมพันธ์กับหลักวิชา สิ่งก่อสร้างหรือวัตถุเหล่านี้ก็จะเกิดปรากฏการณ์สัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ในวันพิเศษ 4 วันของรอบปี โดยอาจขยายผลเพื่อสร้างจุดขายและความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งยังน่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้พบเห็นโดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา เกิดความกระตือรือร้นสนใจค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับดาราศาสตร์และการประยุกต์ใช้ความรู้นี้อย่างสร้างสรรค์กับเรื่องราวที่อาจดูเหมือนไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันชัดเจนในชั้นแรกต่อไป
ส่งท้าย
จากประสบการณ์การอ่านหนังสือและบทความจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับโบราณสถานขอม ทั้งไทยและเทศ ทั้งที่เป็นหนังสือนำเที่ยว บันทึกการเดินทาง หรือบทวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ไปจนถึงคติความเชื่อเบื้องหลัง ฯลฯ ผมคงต้องยอมรับว่าไม่เคยมีผลงานชิ้นใดที่ชวนให้ตื่นใจและหูตาสว่างไปกับเนื้อหาอันแปลกใหม่ รวมทั้ง “การค้นพบ” อันชวนทึ่งได้มากเท่ากับหนังสือของคุณสรรค์สนธิ บุณโยทยาน เล่มนี้
ความพิเศษของ “สุริยะปฏิทินพันปี ปราสาทภูเพ็ก จังหวัดสกลนคร” อยู่ที่ความครบเครื่องทั้ง 1. การให้มุมมองและข้อเสนอใหม่ๆ อย่างสร้างสรรค์และแตกต่างไม่ซ้ำใคร 2. การเชื่อมโยง “ศาสตร์” หลายแขนงเพื่ออธิบายอย่างน่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นที่มักถูกจัดให้อยู่ในขอบเขตของ “ศิลป์” 3. การที่ผู้เขียนทำการพิสูจน์ข้อเสนอของตนอย่างปราศจากอหังการและน่าเชื่อถือด้วยข้อเท็จจริงพร้อมกับประจักษ์พยานบุคคล และ 4. การค้นพบอันน่าตื่นเต้นถึงร่องรอยโบราณวัตถุ เงื่อนงำและประเด็นชวนคิดต่างๆ ซึ่งช่วยเปิดแนวทางให้กับการศึกษาต่อๆ ไปได้อีกเป็นจำนวนมาก
หากหนังสืออาจมีข้อจำกัดอยู่บ้างก็ตรงที่แต่ละบทดูเหมือนไม่สามารถคุมเนื้อหาตามหัวเรื่องได้สนิทนัก แต่มักปรากฏประเด็นแทรกประเด็นแถม (ซึ่งต้องยอมรับว่าน่าสนใจไม่แพ้ประเด็นหลัก) ปะปนอยู่จนทำให้ลำดับความบางตอนกระโดดไปกระโดดมา (เช่น ความเชื่อมโยงระหว่างสุริยะปฏิทินกับกิจกรรมการเกษตร เป็นต้น) หรือบางประเด็นที่สำคัญไม่แพ้ประเด็นอื่นๆ (เช่น โบราณสถานที่เกิดปรากฏการณ์กับดวงอาทิตย์แต่ไม่ใช่สุริยะปฏิทิน) ก็กลับไม่มีบทอันจำเพาะของตน หากมีเนื้อหากระจัดกระจายอยู่ในบทนั้นนิดบทนี้หน่อย ทำให้ค่อนข้างลำบากต่อการติดตาม อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับจุดเด่นและความพิเศษมากมายของหนังสือเล่มนี้แล้ว ข้อจำกัดข้างต้นก็แทบจะไร้ความหมายและอาจมองข้ามไปได้ไม่ยาก
ทั้งนี้ คงต้องย้ำเน้นว่า คำนิยมข้างต้นไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวเพราะผมไม่เคยพบรู้จักกับคุณสรรค์สนธิแต่อย่างใด หากผลงานที่ปรากฏพร้อมกับประสบการณ์ของผู้เขียนที่บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมรู้สึกชื่นชมกับความเป็นนักคิด นักค้นคว้า และนักศึกษาผู้ไม่ยอมหยุดนิ่งของคุณสรรค์สนธิ
ที่สำคัญก็คือ ผมรู้สึกปลื้มใจว่าผลงานสร้างสรรค์อันมีลักษณะสหวิทยาชิ้นพิเศษและวิเศษชิ้นนี้เป็นฝีมือของคนไทย ผมเชื่อมั่นเต็มร้อยว่าคุณภาพของหนังสือไม่เพียงสู้งานวิจัยหรืองานวิชาการต่างประเทศไหนๆ ก็ได้ หากยังอาจเหนือกว่าผลงานของชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่มีอยู่หลายขุมเสียด้วยซ้ำ
จึงหวังว่าจะมีผู้เห็นคุณค่าเรียบเรียงและแปลผลงานของคุณสรรค์สนธิออกเป็นภาษาสากลเพื่อให้ความสามารถของคนไทยเป็นที่ปรากฏรับรู้ในวงกว้าง และเพื่อการศึกษาร่องรอยอารยธรรมกับชีวิตผู้คนในอดีตจะสว่างขึ้นด้วยมุมมองที่แปลกแตกต่างออกไปจากเดิม
เผยแแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มกราคม 2566