ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
การจัดงานเลี้ยงเพื่อต้อนรับอาคันตุกะ เป็นธรรมเนียมที่ชนชั้นสูงยึดถือและแพร่หลายทั่วโลกมาอย่างยาวนาน และเป็นธรรมดาที่งานเหล่านั้นจะมีเครื่องดื่มมึนเมาร่วมอยู่ด้วย แต่เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปไปเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตก การประคองพระสติมิให้ถูกฤทธิ์ “น้ำเมา” ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติถือเป็นสิ่งสำคัญ เป็นที่มาของการที่ “แกล้งเมา” ในงานเลี้ยงต้อนรับที่สวีเดน
รัชกาลที่ 5 ทรง “แกล้งเมา”
ด้วยเหตุที่การบริโภคสุราเป็นเหตุให้เสื่อมเสียราชการงานเมืองได้ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงระลึกถึงผลเสียของสุราเมรัยเป็นอย่างดี ในการเสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งแรก พ.ศ. 2440 พระองค์จึงทรงกระทำปฏิญาณต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2439 เพื่อเป็นเครื่องยึดถือ ยึดเหนี่ยวพระราชหฤทัย มิให้กระทำการสุ่มเสี่ยงอันจะส่งผลเสียต่อพระราชภารกิจครั้งนั้น ทั้งต่อพระองค์เอง และสยามประเทศ
คำปฏิญาณทั้ง 3 ข้อ ประกอบด้วย ข้อแรก จะไม่ศรัทธาในศาสดาองค์ใดนอกจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้อสอง จะไม่ร่วมประเวณีด้วยสตรีอื่นใดจนกลับมาถึงพระราชอาณาเขต และข้อสุดท้ายคือ ไม่เสพสุรา ดังความว่า
“ถึงแม้จะไปในประเทศซึ่งเขาถือกันว่าให้สุราเมรัยไม่รับเสียเปนการเสียกิริยาอันดีฤๅป้องกันโรคภัยอันเปลี่ยนอากาศเปนต้น ข้าพเจ้าจะไม่เสพสุราเมรัยให้มึนเมาเสียสติฤๅแม้แต่กายวิกลเกินปรกติเปนอันขาด”
ซึ่งก็เป็นดังที่ทรงคาดการณ์ ขณะที่เสด็จพระราชดำเนิน ณ ประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป รัชกาลที่ 5 ทรงพบกับการเลี้ยงรับรองด้วยสุราอยู่เสมอ แต่ทรงพยายามหลีกเลี่ยง เช่น การเลี้ยงรับรองที่เมืองซุนส์วาล ประเทศสวีเดน ทรงถือแก้วน้ำเปล่าแทนเหล้าว้อดก้า ซึ่งเป็นเครื่องดื่มหลักของงาน พร้อมกับเสด็จพระราชดำเนินทักทายแขกผู้ร่วมงาน และยังทรงกล่าวเชิญชวนให้แขกในงานดื่มอวยพร
ที่สำคัญคือ ทรงแกล้ง “ทำเมา” เพื่อรับมือกับพระเจ้าออสการ์ที่ 2 แห่งสวีเดน ผู้ทรงดื่มสุราเป็นนิจ
แต่บางคราวก็ทรงหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ อย่างเมื่อคราวที่พระองค์ถูกพระบรมวงศานุวงศ์เดนมาร์กพระองค์หนึ่งจับได้ว่าทรงพยายามหลีกเลี่ยงการเสวยสุรา จึงทรงเสวยแต่เพียงน้อยอย่างเลี่ยงมิได้
นอกจากนี้ ยังทรงหลีกเลี่ยงธรรมเนียมการสนทนาหยอกเย้าอย่างใกล้ชิดกับสตรี อันเป็นธรรมเนียมต้อนรับอาคันตุกะของยุโรปด้วย
แม้การบริโภคสุราจะทำให้การปฏิบัติงานราชการเสื่อมเสียได้ แต่หากเป็นเทศกาลในสยามแล้ว ก็นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เสริมสร้างความสมัครสมานในหมู่พระญาติวงศ์เป็นอย่างดี ดังที่ โคลงเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ พ.ศ. 2417 กล่าวถึงการเลี้ยงสุราในวาระพิเศษว่า
◎ คอเมามาพักพร้อม มากหลาย
ไว้ยศทำเยื้องกราย บิดพลิ้ว
อยู่วังดื่มมากมาย เมาราบ
มานี่ทำหน้าหนิ้ว ว่าข้าคนดี ฯ
◎ เคยกินกินเหล้นเถิด อย่างเกรง พ่อเอย
ดีกว่าซื้อกินเอง ยิ่งแท้
แสร้งทำเช่นยำเยง รู้เท่า ดอกนา
อยู่ที่บ้านเมาแต้ ขวดทั้งตวงกระบุง ฯ
โคลงบทนี้แม้จะเป็นการแต่งเชิงหยอกเย้า แต่บอกได้ถึงความชื่นชอบสุราของคนในราชสำนัก เพื่อความสมานฉันท์ในหมู่เจ้านายสมัยรัชกาลที่ 5
อ่านเพิ่มเติม :
- “รัชกาลที่ 5” ครั้งต้องเสด็จประพาสยุโรป ทรงจัดงานฉลองพระชนมพรรษาอย่างไร?
- เจาะลึก “ไวน์” ฝรั่งเศสชั้นเลิศ ในงานเลี้ยงถวายรัชกาลที่ 5 เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรป
- พระราชวิจารณ์ ร.5 ถึงความสัมพันธ์ “กษัตริย์ยุโรป” กับพสกนิกร คราวเสด็จประพาสยุโรป ปี 2440
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นนทพร อยู่มั่งมี. “เลี้ยงโต๊ะปีใหม่ : เรื่องเหล้าของเจ้านาย”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม พ.ศ. 2554
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2567