พระราชวิจารณ์ ร.5 ถึงความสัมพันธ์ “กษัตริย์ยุโรป” กับพสกนิกร คราวเสด็จประพาสยุโรป ปี 2440

ภาพถ่ายรัชกาลที่ 5 และบิสมาร์ก ที่เมือง (Hamburg) พ.ศ. 2440

พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสานสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้เห็นว่าสยามไม่ได้เป็นชาติป่าเถื่อน ล้าหลัง เพื่อเสริมสร้างสถานะตัวตนของสยามในเวทีโลก รวมไปถึงเป็นการศึกษาความเจริญก้าวหน้าด้านต่าง ๆ ของตะวันตก เพื่อนำมาปรับใช้ในการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัย

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้ รัชกาลที่ 5 พระองค์เสด็จเยือนประเทศในยุโรปหลายประเทศ เช่น อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส สวีเดน ออสเตรีย ฯลฯ ทรงบันทึกถึงเรื่องราวมากมาย ทั้งสภาพภูมิอากาศ บ้านเมือง สังคม ผู้คนที่ทรงได้พบ ไม่ว่าจะเป็น เจ้านาย เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง สามัญชน รัชกาลที่ 5 ทรงกล่าวถึงความสัมพันธ์และความเคารพที่ประชาชนมีต่อกษัตริย์ของดินแดนแต่ละแห่งที่เสด็จประพาสว่า

“การเปนไปในระหว่างเจ้านายแลราษฏรในเมืองทั้งหลายนี้ต่าง ๆ กันทั้งนั้น ที่อิตาลีมีคนนิยมนับถือเจ้านายมาก แต่ว่าออกฟรี ๆ คือเจ้าแผ่นดิน (พระเจ้าอุมแบร์โตที่ 1) ไปแห่งใดมีคนเปิดหมวกแลร้องฮูเร แต่อาจจะเดินเบียดเวลาเดิน ฤาเข้ามายืนใกล้ ๆ รถโยนหนังสือให้ในรถ เอาหนังสือมาส่งให้เจ้าแผ่นดินกับมือได้ คนพลเมืองเปนคนจนมาก บ้านเมืองก็ไม่สู้สะอาดนัก…พระมเหษี (ราชินี มาการีตา) เปนคนงามด้วย มีความรู้มากด้วย คนก็นับถือมากรักมาก…

ในออสเตรียเอมเปอเรอ (จักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ) เปนผู้ใหญ่ อย่างธรรมเนียมไม่กระดิกเลยแท้ ๆ … เปนคนที่รู้มากในทางความรู้แลทางราชการ เปนเจ้าที่ควรบูชา แลคนทั้งเมืองนับถือกันเหมือนพระความกลัวเกรงกันมากนัก…ในเมืองนี้เห็นเปนไพร่เป็นผู้ดีต่างกันแท้ทีเดียว ผิดกันกับอิตาลีมากนัก เปนเมืองที่ทหารต้องแต่งเปนทหารจะแต่งอื่นไม่ได้เลย…

ที่รัสเซียนั้นมากคนด้วยกัน…บรรดาข้าราชการแลราษฎรกลัวเกรงเอมเปอเรอ (ซาร์นิโคลัส ที่ 2) ยิ่งกว่าคนเรากลัวเกรงเจ้านายเปนอันมาก เห็นเปนพระเจ้ามากกว่าเปนคน พ้นที่จะหาแห่งใดเทียบเทียม ได้ความนิยมรักใคร่เจ้านายก็มากเหลือล้น…

เมืองสวิเดนนั้น ราษฎรฟรียิ่งกว่าเสียกว่าเมืองอิตาลี ดูประหนึ่งว่าเปนริปัปลิก ๆ หน่อย ๆ ไปทีเดียว เจ้าแผ่นดิน (พระเจ้าออสการ์ ที่ 2) เปนคนที่อยากจะทำดียิ่งแก่คนทั่วไป แต่เพราะความอี๋ ๆ เท่า ๆ กันไปหมด จนการที่อี๋นั้นไม่ใคร่มีราคาอันใดมากนัก เสด็จไปไหนก็ไมมีใครเปิดหมวก แลโห่ร้องอันใด รับสั่งสั่งการงานอันใด วิ่งชุลมุน แลอยู่ข้างจะว่องไวเกินไป จนคนเรา ๆ เห็นเปนลุกลน ฤามักจะพูดกันว่าเฉย ๆ ไม่รู้สึกว่าเปนเจ้าเปนนาย อันที่จริงเปนคนใจดี แต่ไม่ใคร่มั่นคงแลแม่นยำนักจะไปข้างทางที่เรียกว่า ได้เน้น ๆ ข้าราชการงานเมืองก็เปนเช่นนั้นไปตามกันหมด”

ข้างต้นทำให้ได้เห็นมุมมองของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีต่อกษัตริย์หลายประเทศในยุโรป ทำให้พระองค์รับรู้นิสัยใจคอ เพื่อจะได้ทรงดำเนินนโยบายทางการทูตที่เป็นประโยชน์กับสยามต่อไป

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไกรฤกษ์ นานา, (2549). เบื้องหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป.กรุงเทพฯ: มติชน.

พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, (2505). พระราชหัดถ์เลขา เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 เล่ม 1. กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา.

พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, (2528). พระราชหัตถเลขา เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 เล่ม 2. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2566