“อ้ายการเที่ยวเช่นนี้มันช่างมีคุณจริงๆ” ร.5 ประพาสยุโรป ทรงเล่าชีวิตชาวบ้านและ “กินริมทาง”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขณะประทับที่วิลลาโนเบล เมืองซันเรโม ประเทศอิตาลี เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เพื่อรักษาพระอาการประชวร (ภาพจากหนังสือสมุดภาพ “ให้ดำรง ครั้งไกลบ้าน”, พ.ศ. 2540)

รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ทรงเล่าชีวิตชาวบ้านและ “กินริมทาง”

“—อ้ายการเที่ยวเช่นนี้มันช่างมีคุณจริงๆ เที่ยวในเมืองไทยถึงจะมีคุณก็ถูกหักค่าร้อนค่าเหนื่อยเสียครึ่งหนึ่ง นี่มันไม่ต้องร้อนไม่ต้องเหนื่อย จึงได้มีกำไรมาก—“

เป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2450

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดปรานการเสด็จประพาสสถานที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศเป็นอันมาก การประพาสที่โปรดปรานมากที่สุดคือการประพาสเป็นส่วนพระองค์ ไม่มีพิธีรีตอง ไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการดังเช่นการเสด็จประพาสต้น แต่ต้องทรงเลิกเสด็จเพราะการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 นั้น ประชาชนเริ่มรู้และจำพระองค์ได้ จึงพากันมาเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมากในทุกสถานที่ ทำให้การเสด็จประพาสไม่เป็นการส่วนพระองค์ ประกอบกับทรงสงสารราษฎรที่พยายามจะเข้าเฝ้าพระองค์อย่างใกล้ชิด ถึงกับเดินทางกันมาเป็นระยะทางไกล และเฝ้ารอเป็นเวลานาน จึงต้องทรงเลิกการเสด็จประพาสต้น แม้จะทรงพอพระราชหฤทัยการเสด็จประพาสแบบนี้

ส่วนการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2450 ซึ่งห่างจากการเสด็จประพาสครั้งแรกถึง 10 ปี แต่เป็นการเสด็จที่มีวัตถุประสงค์ต่างกัน การเสด็จครั้งแรกนั้นเพื่อให้ได้ผลทางการเมือง โดยมีเอกราชของชาติเป็นเดิมพัน ส่วนการเสด็จครั้งที่ 2 เป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งต้องการให้พระองค์ทรงฟื้นฟูพระพลานามัยโดยได้รับอากาศดี และไม่ต้องมีพระราชกังวลกับพระราชภารกิจ อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้นายแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะโรคได้ตรวจพระวรกายเพื่อจะได้ถวายคำแนะนำให้ปฏิบัติพระองค์ให้ถูกต้องกับพระโรค การเสด็จครั้งนี้จึงพยายามให้เป็นการเสด็จส่วนพระองค์ ไม่โปรดให้มีการรับรองอย่างเป็นทางราชการ ซึ่งก็เป็นไปตามพระราชประสงค์ส่วนหนึ่ง

ส่วนที่ไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ก็คือ ข่าวการเสด็จของพระองค์เป็นที่ล่วงรู้กันในหมู่ชาวเมือง เมื่อไปที่ใดก็จะมีประชาชนคอยเฝ้ารับเสด็จ และคอยตามดูอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่สู้จะเป็นการส่วนพระองค์นัก

ในวันที่ 12 พฤษภาคม เป็นวันที่ 47 ของการเสด็จประพาสยุโรป หลังจากรอนแรมมาในเรือพระที่นั่งจักรี และเรือซักเซนเป็นเวลา 30 กว่าวัน จึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นบกที่เมืองเยนัว ประเทศอิตาลี และเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟถึงเมืองซันเรโม หรือที่เรียกกันว่าริเวียรา เพราะเป็นเมืองชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ผู้คนนิยมมาตากอากาศกันมาก มีทั้งพวกที่หนีหนาว เช่นพวกอังกฤษที่หน้าหนาวมักจะมีอากาศชื้น จึงต้องการอากาศที่อบอุ่น

ส่วนคนเมืองร้อนก็มาเพื่อหลบร้อน เพราะมีอากาศหนาวกำลังดี “—คือหน้าหนาวหนาวเท่ากับหน้าหนาวเมืองไทย—“ ทรงให้คำจำกัดความของสถานที่นี้ว่า —อันเป็นที่อยู่ในระหว่างความพอใจของพวกเมืองร้อนและเมืองหนาวทั้งสองฝ่าย—“ ซึ่งทรงพอพระราชหฤทัยในอากาศลักษณะนี้มากถึงกับมีพระราชปรารภว่า “—มาลองนึกว่าบ้านเราอากาศเป็นเช่นนี้ จะแสนสบายอย่างที่สุด—“

นอกจากอากาศจะดีถูกกับพระโรคแล้ว การเสด็จเป็นส่วนพระองค์ทำให้ทรงมีโอกาสได้พบเห็นชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากินของชาวบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์โปรดปรานมากเหมือนเมื่อเสด็จประพาสต้น ทรงเปรียบสภาพเมืองซันเรโมไว้อย่างเห็นภาพพจน์ว่า “—ที่ตำบลนี้ถ้าจะให้เข้าใจง่ายว่าเป็นอย่างไร น่าจะเปรียบด้วยเกาะสีชัง คือ ตัดเขาขึ้นไปเป็นคั่นๆ เช่นนั้น แต่ต้องขยายส่วนให้กว้างกว่าเกาะสีชังหลายเท่า—“ และเพราะเหตุที่ต้องประทับ ณ ที่นี้เป็นเวลานานถึง 15 วัน ทำให้ทรงสามารถประพาสได้ทั่วเมืองอย่างละเอียดลออ

ทรงสนพระทัยทั้งภูมิประเทศ ธรรมชาติ และความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะเรื่องดอกไม้ของเมืองนี้ มีพระราชหัตถเลขาเล่าให้พระราชธิดาฟังเสมอๆ ว่า “—สีมันสดจริงๆ สดเหมือนกำมะหยี่ เหมือนแพร จนได้เห็นได้ถูกได้ดม รู้ว่าเป็นดอกไม้จริงๆ ยังอยากจะเชื่อว่าทำด้วยกำมะหยี่ฤาด้วยแพรร่ำไป งามจนหลับตาเห็นเป็นดอกไม้—“

และทรงสรุปว่า “—ซึ่งพ่อคลั่งพูดถึงไม้ดอกร่ำไปนั้น เพราะมันแลไปข้างไหนก็เป็นดอกไม้เต็มไปทั้งเมือง สวนก็เป็นดอกไม้เต็มไปทั้งนั้น ไร่ก็เป็นดอกไม้เต็มไปทั้งนั้น จะไม่เคยเห็นเมืองอื่นในประเทศยุโรปซึ่งจะมีดอกไม้มากอย่างแถบนี้—“

ในส่วนของผู้คนได้ทรงมีโอกาสสัมผัสกับชีวิตที่แท้จริงของชาวบ้าน เช่นครั้งหนึ่งทรงเล่าว่า “—มีตาแก่กับหลานสองคนออกมาหา ว่าอายุ 68 แต่ดูคร่ำเต็มที สรวมเสื้อขาดทั้งกั๊กทั้งชั้นนอก ปล่อยร่องแร่งตามบุญตามกรรม เก่าคร่ำเหลือเกิน เหมือนผ้าขี้ริ้ว—เด็กนั้นได้ขนมปังที่กินเหลือๆ แลของกินอะไร กินปลื้ม ตัวตาแก่เองก็ต้องการอย่างยิ่ง ขวดน้ำ ขวดเหล้า เศษขนมปัง กระดูก เศษผัก เก็บห่อไปหมด ดูจนเหลือจนน่าสงสารจริงๆ—“

และทรงมีโอกาสสัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คนธรรมดาที่ดำเนินอยู่จริงๆ เป็นประจำ เช่นครั้งหนึ่งทรงเข้าไปในร้านอาหารคนจน ทรงเล่าว่า “—คนจนเรสเตอรองค์นี้ ผู้ที่เข้าไปในโรงเป็นคนที่ไม่มีเสื้อชั้นนอก ใส่แค่เสื้อกั๊ก ฤามีแต่เสื้อชั้นนอกไม่มีเสื้อกั๊ก นุ่งกางเกงผ้าเขียวคราม เสื้อผ้าเหลืองๆ โดยมากในนั้นตั้งม้า อย่างม้าเลี้ยงทหาร แลมีอะไรต่ออะไร เหล้ายาของกินตั้งรก—เราก็รับเรียกของกินตามเแต่เขาจะเอาอะไรมาให้ ของที่เอามานั้นมีซุปต้มเนื้อวัวกับลูกเดือย เวลาจะกินเอาเนยแข็งป่นๆ โรย อยู่ข้างจะอาการหนักไม่มีรสอร่อยในนั้นเลย แต่เป็นซุปอย่างดีของเขา—“

ในส่วนพระองค์บางครั้งโปรดให้เตรียมเครื่องเสวยไปในรถและแวะเสวยกลางวันแบบปิคนิคริมทาง ทรงเล่าว่า “—ของกินวันนี้มีไก่ เนื้อโคเค็ม ไส้กรอก เครื่องแกล้มที่กินก่อนอาหาร สลัดกุ้งสด หาผักกาดแดงแลใบสลัดที่บนเขานั้นเพิ่มเติม ไปเช่นนั้นไม่ว่าอะไรๆ มันชวนอร่อยอยู่หมด กินบนรถบ้าง นั่งอยู่บนพนักข้างรถบ้าง ยืนกินบ้าง อิ่มเหลือที่จะอิ่ม—“

สิ่งที่ทรงพอพระราชหฤทัยอีกอย่างหนึ่งคือ ผลไม้เมืองหนาว ทรงเล่าว่า “—วันนี้ก่อนนอนกินลูกแพร์ที่เป็นอย่างสุกงอมขนาดใหญ่ที่สุด ช่างอร่อยจริงๆ คิดถึงเกือบน้ำตาหยด มันนุ่มแลรสแหลม จะหาลูกไม้อะไรเหมือนออกยากๆ พ่อเป็นนักเลงกินลูกไม้อย่างเอก จะต้องนับว่าเป็นลูกไม้ชั้นสูง ซึ่งไม่ควรจะหมิ่นประมาทเลย ลูกเดียวแลอิ่มบริบูรณ์ชื่นใจทีเดียว—“

กิจวัตรที่นายแพทย์ถวายคำแนะนำให้ทรงปฏิบัติสม่ำเสมอคือการเดินตากแดดเล่น ซึ่งก็ทรงเป็นที่พอพระราชหฤทัย เพราะ “—มันดีที่ไม่เหนื่อย เดินไปเท่าไรๆ ข้อก็ไม่ล้า ถ้าเวลาขึ้นชันๆ หน่อย รู้สึกเหนื่อย แต่หยุดเสียประเดี๋ยวก็หาย ไม่ต้องกินน้ำ เพราะที่แท้มันกินทางตัว คืออากาศที่จะเข้าทางปากฤาทางจมูก รู้สึกเยือกเย็นเข้าไปภายในเหมือนได้กินน้ำแข็งหายเหนื่อย ข้อที่จะต้องเที่ยววิ่งหาน้ำกินนั้นเป็นไม่มี—“

ด้วยเหตุที่อากาศดีคือหนาวกำลังสบายทำให้ไม่ทรงเหนื่อยง่าย อาหารดี และไม่ต้องทรงกังวลกับพระราชภาระ การประพาสครั้งนี้จึงเป็นคุณประโยชน์กับพระพลานามัย สมที่ทรงกล่าวว่า “—อ้ายการเที่ยวเช่นนี้มันช่างมีคุณจริงๆ—มันไม่ต้องร้อนไม่ต้องเหนื่อย จึงได้มีกำไรมาก—“

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 14 เมษายน 2562