เมื่อ “ฝรั่ง” ใช้สื่อปล่อยข่าวโจมตีสยาม หวังขัดขวางร.5 ในการเสด็จประพาสยุโรปปี 2440

รัชกาลที่ 5 กับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2

การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 .. 2440 มีวัตถุประสงค์เพื่อสานสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป เพื่อให้นานาประเทศเหล่านั้นเห็นว่าสยามเป็นประเทศที่มีความศิวิไลซ์ไม่ได้ล้าหลังป่าเถื่อน รวมทั้งยังเป็นโอกาสแสวงหาพันธมิตร สำหรับถ่วงดุลอำนาจกับชาติมหาอำนาจในยุโรปที่กำลังแสวงหาอาณานิคม

รัชกาลที่ 5 ทรงมีเป้าหมายสำคัญ คือ การเจรจากับฝรั่งเศส ที่กำลังเป็นปัญหาต่อความมั่นคงของสยามอย่างมากจาก วิกฤตการณ์ .. 112 (.. 2436) ทำให้รัฐบาลสยามต้องรีบเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อยุติความขัดแย้ง ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นอีก

Advertisement

ทว่าการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของรัชกาลที่ 5 ไม่ได้ราบลื่นอย่างที่คิด เนื่องจากประเทศยุโรปไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ขณะที่รัฐบาลสยามกำลังเตรียมการเสด็จและส่งเอกสารแจ้งราชทูตและกงสุลของ 12 ประเทศ (อังกฤษ, อเมริกัน, เยอรมนี, โปรตุเกส, สเปน, เดนมาร์ก, สวีเดน, ฝรั่งเศส, ออสเตรีย, อิตาลี, เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์) ว่าจะเสด็จประพาสยุโรปใน พ.. 2439 แต่การเตรียมการล่าช้ากว่าที่ควร เนื่องจากอังกฤษปฏิเสธไม่ให้รัชกาลที่ 5 เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

รัฐบาลอังกฤษอ้างว่า ควีนทรงพระชรา การต้อนรับพระมหากษัตริย์ทั้งหลายต้องของด(จากหนังสือของพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากกรุงลอนดอน ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.. 2439 หน้า 43) แต่แท้จริงแล้ว อังกฤษไม่อยากเป็นที่พึ่งพิงทางการเมืองให้แก่สยาม เพราะทราบถึงนโยบายของสยามที่พยายามดึงอังกฤษมาถ่วงดุลกับฝรั่งเศส

จากท่าทีเฉยเมยของอังกฤษ ทำให้กระทรวงต่างประเทศสยามไม่สามารถกำหนดวันแน่นอนที่จะเสด็จเยือนแต่ละประเทศได้ในทันทีจึงทำให้การเตรียมเสด็จประพาสยุโรปล่าช้ากว่าที่ควร กว่าจะได้เสด็จฯ ก็เป็นปีถัดมา ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้สยามตระหนักว่านโยบายผูกมิตรกับอังกฤษนั้นไม่เป็นผล สยามจึงตัดสินใจที่จะเข้าหาประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ อย่างรัสเซียและเยอรมนีเพื่อคานอำนาจอังกฤษกับฝรั่งเศส

แต่มีเรื่องน่าประหลาดใจคือ นโยบายผูกมิตรกับรัสเซีย, เยอรมนี และอังกฤษเพื่อต่อสู้กับฝรั่งเศสนั้นไม่ได้เป็นความลับและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในยุโรป หนังสือพิมพ์ในเยอรมนี, อังกฤษ และโปรตุเกส ลงข่าวเกี่ยวกับนโยบายผูกมิตรของสยาม ส่งผลให้ท่าทีของประเทศในยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศสมีความหวาดระแวงต่อการเสด็จประพาสยุโรปของรัชกาลที่ 5 จากกรณีดังกล่าวจึงเกิดข้อสงสัยว่าใครนำข้อมูลนโยบายลับของสยามไปเผยแพร่?

หลังจากมีข่าวเกี่ยวกับนโยบายผูกมิตรของสยามนักการเมืองกลุ่มอาณานิคมของฝรั่งเศส (กลุ่มนักการเมืองในรัฐบาลที่สนับสนุนการล่าอาณานิคม มีเป้าหมายที่จะยึดสยามเป็นเมืองขึ้น) เริ่มมีการคัดค้านการรับเสด็จ เพราะเกรงว่ารัชกาลที่ 5 จะสร้างความประทับใจแก่ประธานาธิบดี และประชาชนชาวฝรั่งเศส จนรัฐบาลฝรั่งเศสอาจไม่เสนอข้อเรียกร้องในการเจรจา ซึ่งเป็นการขัดผลประโยชน์ของพวกตน นักการเมืองกลุ่มอาณานิคมจึงใช้สำนักข่าวในการสร้างภาพลักษณ์ด้านลบของสยาม เพื่อขัดขวางไม่ให้รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ฝรั่งเศส

ในเดือนมิถุนายนพ.. 2440 ระหว่างที่รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เยือนอิตาลี ได้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างสยามและฝรั่งเศสที่ตึงเครียดอย่างมาก จนราชทูตเยอรมนีที่ปารีสถึงกับลงความเห็นว่า ความขัดแย้งอยู่ระดับที่เลวร้ายมาก” โดยมีสาเหตุจากข่าวที่ชายแดนพรหมบุรี (อำเภอในจังหวัดสิงห์บุรี) หมู่บ้านซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝรั่งเศสถูกโจมตีและบาทหลวงถูกสังหารชีวิต ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเลวร้ายลง จนอาจทำให้รัชกาลที่ 5 ต้องงดเสด็จฯ ประเทศฝรั่งเศส จากเหตุการณ์ดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินีนาถทรงเห็นว่า

พวกคอลอเนียลฝรั่งเศสในเวลานี้กำลังกระทำอย่างที่สุดเต็มกำลังที่ให้เกิดข่าวเลว ให้คนทั้งปวงตกตื่นตกใจไปต่าง ด้วย ใส่ความเท็จเพื่อที่จะให้คนทั้งปวงเกิดความเห็นไม่ชอบต่อกรุงสยาม และกระทำให้มีการขัดขวางในทางที่จะเสด็จพระราชดำเนินประเทศเมืองฝรั่งเศส เพราะเหตุว่าพวกนั้นย่อมจะเชื่อว่าท่านคงกระทำด้วยพระองค์เอง ให้ คอเวอร์เมนต์ฝรั่งเศสและคนทั้งปวงเห็นดีเห็นชอบแก่ไทยได้

(พระราชโทรเลขจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ กรุงโรม ลงวันที่ 3 มิถุนายน ร.. 116, เอกสารไมโครฟิล์ม กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กรุงเทพฯ)

ในภายหลังตรวจสอบแล้วว่าข่าวที่ประกาศไปนั้นเป็นของนักข่าวอังกฤษที่เขียนเกินจริง โดยเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ร้ายแรงตามข่าวที่นำเสนอ อย่างไรก็ตาม นอกจากข่าวพรหมบุรีแล้ว ยังมีข่าวเกี่ยวกับสยามที่ถูกปล่อยในฝรั่งเศสอีก

หนังสือพิมพ์ Le Courrier d’ Haiphong (หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสในเวียดนาม) ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมืองกลุ่มอาณานิคม ลงข่าวที่เนื้อหาส่วนใหญ่มีแต่ อคติ กล่าวหาว่า ชนเผ่าสยามนั้นโง่และดื้อด้าน จะต้องสูญพันธุ์ในไม่ช้าเหมือนกับชนเผ่าอื่น ๆ ที่ถูกลิขิตมาแล้วว่าต้องสูญหายไป (หนังสือพิมพ์ Le Courrier d’ Haiphong ฉบับวันที่  5 .. .. 2439/22 .. .. 2439/และ 6 .. 2439)

“There are causes for conflict every day. Like the English, we must maintain a presence. Like all races condemned to vanish, the Siamese have a blindness and stubbornness that are equaled only by their insolent vanity. These traits are indicative of an incurable decadence.” 

ข่าวเหล่านี้สร้างทัศนคติแง่ลบแก่ชาวฝรั่งเศสต่อสยาม ข่าวต่าง ๆ ที่ถูกปล่อยออกมามีทั้งจริงและข่าวโคมลอยเกินจริง แม้แต่สื่อมวลชนปารีสในขณะนั้นเชื่อว่าข่าวที่มีเนื้อหาร้ายแรงเกินจริงมีแหล่งข่าวมาจากอังกฤษ และนักการเมืองกลุ่มอาณานิคมที่ต้องการก่อกวนและขัดขวางการเสด็จฯ เยือนกรุงปารีสของพระมหากษัตริย์สยามเลยทีเดียว

จากการที่หนังสือพิมพ์ของฝรั่งเศสเขียนข่าวสารด้านลบของสยามอยู่เรื่อย ๆ จึงทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงวิตกกังวลพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ เพราะเกรงว่าอาจจะเกิดปัญหาระหว่างคณะทูตกับชาวฝรั่งเศสได้ แต่เมื่อพระองค์เสด็จฯ ถึงฝรั่งเศส ในวันที่ 11 กันยายน พ.. 2440 ทางการฝรั่งเศสกลับถวายการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติยศ มีการตกแต่งสถานีรถไฟและบ้านเมืองอย่างหรูหรา ชาวฝรั่งเศสมาคอยรับเสด็จจำนวนมาก  ซึ่งผิดจากที่พระองค์ทรงคาดไว้ 

จากท่าทีของรัฐบาลและชาวฝรั่งเศสก็ทำให้พระองค์ทรงทราบว่า ชาวฝรั่งเศสไม่ได้โกรธหรือเกลียดสยามเหมือนรัฐบาลและสำนักข่าวของพวกเขา การที่รัฐบาลฝรั่งเศสถวายการต้อนรับอย่างดีเพราะเกรงใจในบารมีของรัสเซีย เนื่องจากก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะเสด็จฯ เยือนฝรั่งเศส พระองค์เสด็จฯ เยือนรัสเซีย เพื่อพบกับพระสหายคนสำคัญ คือ ซาร์นิโคลัสที่ 2 (Nicholas II) ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์สยามกับรัสเซียที่แน่นแฟ้นยิ่งกว่าความสัมพันธ์ของฝรั่งเศสกับรัสเซีย จึงทำให้ฝรั่งเศสเกิดความเกรงใจและกลัวว่าถ้าทำอะไรที่ไม่ดีต่อสยามจะกระทบความสัมพันธ์กับรัสเซียตามไปด้วย และอาจกลายเป็นศัตรูกับตน ดังที่รัชกาลที่ 5 ทรงบันทึกไว้ในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์จากปารีส, ที่ 56 ลงวันที่ 11 กันยายน ร.. 116 ความว่า

เปรสิเดนต์ก็ขึ้นรถมาส่งถึงที่อยู่ ซึ่งเป็นการที่เขาไม่ได้ทำให้แก่ผู้ใดนอกจากเอมเปอเรอรัสเซีย การที่กระทำเช่นนี้ ผู้ซึ่งมีสัญญาไม่วิปลาสคงจะเข้าใจได้ว่าเขาไม่ได้ทำด้วยกลัวเกรงอำนาจเราอย่างใด ทำด้วยเห็นแก่บารมีเอมเปอเรอ และด้วยกำลังตื่นรู้ขนบธรรมเนียมเจ้านาย เพราะได้ไปเคยเห็นการรับรองที่รัสเซียมา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉายร่วมกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ และพระราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซีย อย่างเป็นกันเองในคราวเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. ๑๑๖

สุดท้ายแล้วการเจรจาระหว่างรัชกาลที่ 5 กับประธานาธิบดี เฟลิกซ์ โฟร์ (Félix Faure) เป็นไปด้วยดี ช่วยให้สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างสยามและฝรั่งเศสผ่อนคลายขึ้น โดยปัจจัยสำคัญในความสำเร็จมาจากพระปรีชาญาณของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงดำเนินพระราโชบายดึงรัสเซียและเยอรมนีเข้ามาเป็นพันธมิตรได้สำเร็จ ช่วยให้สยามรอดพ้นจากภัยคุกคามของฝรั่งเศสอยู่ได้ระยะหนึ่ง

แต่สิ่งสำคัญที่ส่งผลระยะยาว คือทัศนคติของสำนักข่าวที่เขียนแต่ข่าวด้านลบ และไม่เคยรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของกษัตริย์และประเทศสยาม หลังจากที่รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ถึงฝรั่งเศส ก็ได้รับรู้ถึงความเป็นศิวิไลซ์ของสยาม และยกย่องกษัตริย์สยามว่าทรงเป็น “The Civilizer of the East” และ “The most educated of Asian rulers”


อ้างอิง :

ไกรฤกษ์ นานา.  ประวัติศาสตร์นอกพงศาวดาร รัชกาลที่ 5 พระพุทธเจ้าหลวงในโลกตะวันตก.  กรุงเทพฯ : มติชน, 2546

พรสรรค์วัฒนางกูร; ทศพร กสิกรรม.  ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยามและราชสำนักยุโรป จากเอกสารการเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 1 .. 2440.  กรุงเทพฯ : กองทุนวิจัยรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2562