“ขุนนางวังหน้า พระปิ่นเกล้า” สมัยรัชกาลที่ 4 คัดเลือกกันอย่างไร?

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขุนนางวังหน้า พระปิ่นเกล้า ทรงอนุญาต ฝรั่งซื้อที่ดิน
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, (ขวา) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตำแหน่ง “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” หรือ “วังหน้า” มีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจากเป็นรองเพียงพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ซึ่งวังหน้าพระองค์หนึ่งที่มีความโดดเด่นยิ่ง คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะนอกจากจะทรงเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ 4 แล้ว ยังทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 อีกด้วย ข้าราชการหรือขุนนางในพระองค์จึงมีจำนวนมาก แล้ว “ขุนนางวังหน้า พระปิ่นเกล้า” คัดเลือกและแต่งตั้งกันอย่างไร?

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว การเลือกสรรข้าราชการฝ่ายหน้าพระบวรราชวัง ได้ทรงประพฤติตามแบบอย่างครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

Advertisement

นั่นคือ ทรงโปรดให้แบ่งข้าราชการวังหลวงขึ้นไปรับราชการฝ่ายพระบวรราชวังทุกสกุล และทรงเพิ่มทำเนียบตำแหน่งข้าราชการวังหน้าให้มากขึ้น เหมือนอย่างทำเนียบข้าราชการวังหลวง ให้สมกับที่มีพระเกียรติยศอย่างพระเจ้าแผ่นดิน

คราวนั้น พระปิ่นเกล้าได้กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 4 ว่า ทรงมีขุนนางมากนัก ไม่มีเงินพอแจกเบี้ยหวัด รัชกาลที่ 4 จึงพระราชทานเงินงวดสำหรับตำแหน่งพระมหาอุปราช ซึ่งเคยได้ปีละ 1,000 ชั่ง (80,000 บาท) เป็นกำหนดมาแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพิ่มขึ้นอีกเท่าหนึ่ง เป็นปีละ 2,000 ชั่ง สำหรับพระปิ่นเกล้าทรงแจกเบี้ยหวัดข้าราชการ

ขุนนางวังหน้า พระปิ่นเกล้า
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทำไม ขุนนางวังหน้า พระปิ่นเกล้า ถึงมีจำนวนมาก?

ปัจจัยที่ทำให้ข้าราชการฝ่ายวังหน้ามีจำนวนมาก ต้องย้อนไปสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตอนนั้นทรงโปรดให้พระปิ่นเกล้าทรงบังคับบัญชาทหารซึ่งฝึกหัดอย่างยุโรป เช่น ทหารปืนใหญ่ พวกญวนคริสตัง เป็นต้น

ต่อมา รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้ยกบรรดากรมทหารที่พระปิ่นเกล้าทรงเคยบังคับบัญชาอยู่แต่ก่อน ไปเป็นทหารฝ่ายพระบวรราชวัง จึงเกิดมีทหารบกและทหารเรือของวังหน้าขึ้น โดยไม่จำกัดจำนวนว่าจะมีได้มากน้อยเพียงใดนับแต่นั้นมา

ระยะเวลาราว 15 ปี ที่พระปิ่นเกล้าทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ลูกหลานผู้ที่ขึ้นไปเป็นข้าราชการวังหน้าก็เติบโตขึ้น เกิดการนำเข้าถวายตัวเป็นข้าราชการรุ่นใหม่

เมื่อพระปิ่นเกล้าสวรรคตใน พ.ศ. 2408 ข้าราชการวังหน้าก็ลงมาสมทบรับราชการวังหลวง

ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของวังหน้าเข้ากันกับข้าราชการวังหลวงได้สนิท เพราะส่วนใหญ่เป็นข้าราชการวังหลวงกันมาก่อน แต่ข้าราชการรุ่นใหม่ไม่เคยรับราชการวังหลวง จึงเข้ากับข้าราชการวังหลวงไม่ค่อยได้ ทว่าสมทบกันได้เพียง 3 ปี รัชกาลที่ 4 ก็สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2411

ดังนั้น เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 4 ข้าราชการวังหน้าจึงมีอยู่มาก ไม่สูญเหมือนเมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 ที่หลังจากวังหน้าในพระองค์สวรรคต พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ก็มิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นเป็นวังหน้าอีกจวบจนสิ้นรัชกาล

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ขุนนางวังหน้า
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

เข้าสู่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสในพระปิ่นเกล้า ทรงได้รับการคัดเลือกจากขุนนางชั้นผู้ใหญ่ให้ขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าในรัชกาลที่ 5

ช่วงนั้น ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล ก็ต้องกลับขึ้นไปรับราชการวังหน้า แต่การส่งข้าราชการกลับไปวังหน้าไม่ได้ลดทำเนียบและกรมต่างๆ ซึ่งตั้งขึ้นเฉพาะองค์พระปิ่นเกล้า เช่น ทหารบก ทหารเรือ

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญจึงทรงมีทหารและตั้งตำแหน่งข้าราชการได้มาก

นอกจากนี้ ยังทรงได้เงินพระคลังมหาสมบัติสำหรับแจกเบี้ยหวัดข้าราชการปีละ 160,000 บาท เหมือนเมื่อครั้งพระปิ่นเกล้าทรงเป็นวังหน้า

ด้วยปัจจัยที่สืบเนื่องจากการแต่งตั้งข้าราชการวังหน้าในรัชกาลที่ 4 กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญจึงทรงมีกำลังผู้คนและบริวารมากกว่าวังหน้าในรัชกาลก่อนๆ เว้นเสียแต่ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 เพียงพระองค์เดียว

อ่านเพิ่มเติม: 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 อ้างอิง :

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กรกฎาคม 2567