ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2325 ช่วงนั้นยังเป็นยุคก่อร่างสร้างเมือง มีพระราชกรณียกิจหลายอย่างที่ทรงต้องทำ แล้ว “พระราชานุกิจ รัชกาลที่ 1” หรือกิจวัตรประจำวันหลักๆ ของพระองค์ มีอะไรบ้าง?
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ในพระนิพนธ์ “พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5” ว่า
ระเบียบพระราชานุกิจในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 1 สันนิษฐานว่า เห็นจะเอาแบบพระราชานุกิจของพระเจ้าบรมโกศครั้งกรุงศรีอยุธยามาใช้
พระราชานุกิจ รัชกาลที่ 1 มีรายการต่างๆ ดังนี้
เช้า 9 นาฬิกา เสด็จลงทรงบาตร
10 นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรง ถวายภัตตาหาร เลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง เจ้านายเข้าเฝ้าฯ และช่วยกันปฏิบัติพระสงฆ์เวลาฉัน
เมื่อพระกลับแล้ว ชาวพระคลังมหาสมบัติกราบบังคมทูลรายงานจ่ายเงิน แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนางข้าราชการ กรมพระตำรวจเข้าเฝ้าถวายรายงานชำระความฎีกา แล้วเบิกขุนนางเข้าเฝ้าประภาษด้วยอรรถคดี
ในปลายรัชกาล เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จออกตอนเช้านี้ที่พระบัญชร พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ข้าราชการเฝ้าที่ชาลาริมพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ด้านตะวันตก
เที่ยง เสด็จขึ้นเสวยพระกระยาหาร และประภาษราชกิจภายใน เสด็จเข้าที่พระบรรทมทรงสำราญพระอิริยาบถ
ค่ำ 6 นาฬิกา เสวยพระกระยาหาร
7 นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรง ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง ชาวพระคลังมหาสมบัติกราบบังคมทูลรายงานการจ่ายสิ่งของต่างๆ มหาดเล็กกราบทูลรายงานก่อสร้าง พระอาการเจ้านายประชวร และอาการป่วยของพระราชาคณะหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งโปรดให้เอาอาการมากราบทูล
เสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง เบิกข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเข้าเฝ้า กราบทูลใบบอกหัวเมือง ประภาษราชการแผ่นดินและการทัพศึก
10 นาฬิกา เสด็จขึ้น เป็นสิ้นพระราชานุกิจประจำวัน แต่ถ้าเป็นเวลามีศึกสงคราม และมีราชการสำคัญ เสด็จขึ้นถึง 1 นาฬิกา 2 นาฬิกาก็มี
เห็นได้ว่า แม้จะมีพระราชานุกิจที่กำหนดเป็นหลักไว้แล้ว แต่ถ้าในยามศึกสงคราม ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 มีสงครามกับพม่าหลายครั้ง ครั้งสำคัญคือ “สงครามเก้าทัพ” พระราชานุกิจก็จะปรับเปลี่ยนไปตามความจำเป็น
เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ได้อย่างมั่นคงแล้ว ในรัชกาลต่อๆ มา พระราชานุกิจก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบท เช่น สมัยรัชกาลที่ 4 มีเสด็จออกให้ชาวต่างประเทศเข้าเฝ้า เสด็จออกรับฎีกาจากราษฎร หรือสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จออกให้ข้าราชการ ขุนนาง และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เข้าเฝ้า เสด็จประพาสพระนคร เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม :
- กิจวัตรประจำวัน “พระราชานุกิจ” รัชกาลที่ 4 ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ พระองค์ทรงทำอะไรบ้าง?
- พระราชานุกิจ รัชกาลที่ 5 แต่ละวันทรงทำอะไรบ้าง?
- เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เคยปฏิเสธรัชกาลที่ 5 ไม่ยอมเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา” เพราะเหตุใด?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2567