ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
แม้จะทรงมีสิ่งที่ต้องทำมากมาย แต่โดยทั่วไปพระมหากษัตริย์ไทยจะทรงมี “พระราชานุกิจ” หรือกำหนดเวลาที่จะทรงปฏิบัติกิจต่างๆ กำหนดไว้เป็นหลักในแต่ละวัน แล้วพระราชานุกิจ รัชกาลที่ 5 มีอะไรบ้าง?
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ “พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5” ว่า เมื่อทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2411 ไปจนถึงก่อนเสด็จประพาสสิงคโปร์และปัตตาเวียใน พ.ศ. 2413 รัชกาลที่ 5 ทรงมีกิจวัตรประจำวันดังนี้
เวลาเช้า 9 นาฬิกา เสด็จลงทรงบาตร ที่ทรงบาตรอยู่นอกกำแพงบริเวณพระมหามณเฑียรทางตะวันออก ตั้งม้ายาววางขันเงินที่ใส่ข้าวกับไข่ต้มและของฉัน 2 ห่อทุกขันเรียงกัน สำหรับทรงบาตรพระสงฆ์รูปละขัน ต่อนั้นไปถึงม้าตั้งโต๊ะเภสัช ของหมากพลูสำหรับวางปากบาตร
สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิงทรงวางของปากบาตร แต่ในรัชกาลที่ 5 เวลานั้นพระเจ้าลูกเธอยังทรงพระเยาว์ จึงให้พระเจ้าพี่นางเธอและพระเจ้าน้องนางเธอผลัดกันเป็นเวรทรงวางของปากบาตร
ต่อนั้นไปถึงม้าขันข้าวบาตรใหญ่ กับของใส่บาตรอีกสำรับหนึ่ง เรียกว่า “ขันรองทรง” (สันนิษฐานว่าเดิมเห็นจะมีไว้สำหรับสมเด็จพระอัครมเหสี หรือสมเด็จพระพันปีหลวงทรงบาตรแต่เมื่อภายหลังมา) หม่อมเจ้าพนักงานเป็นผู้ตักบาตรรองทรง และมีปี่พาทย์ผู้หญิงประโคมตลอดเวลาพระรับบิณฑบาต เรียกกันว่า “เวลาพระส่อง”
หลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใดรัชกาลที่ 5 จึงเสด็จลงทรงบาตรในเวลา 9 นาฬิกา เรื่องนี้กรมดำรงทรงเฉลยว่า แต่ก่อนเวลาพระมหากษัตริย์เสด็จลงทรงบาตรคือ 7 นาฬิกา เป็นเวลาเดียวกับที่ชาวพระนครตักบาตร แต่เกิดเหตุสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่มีคนคิดกบฏ ปลอมตัวเข้าไปในวังหน้า กับพวกวิเสทซึ่งเข้าไปจัดของทรงบาตรตั้งแต่ก่อนสว่าง จึงเปลี่ยนเวลาทรงบาตรเป็น 9 นาฬิกานับแต่นั้น
เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงบาตรเสร็จ เสด็จขึ้นบูชาพระในหอพระสุราลัยพิมาน แล้วเสด็จทางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งพระเจ้าพี่นางเธอและพระเจ้าน้องนางเธอคอยเฝ้าอยู่ (เจ้านายสตรีชั้นอื่นเสด็จขึ้นไปเฝ้าต่อเมื่อมีการงาน) เสด็จผ่านไปบูชาพระบรมอัฐิในหอพระธาตุมณเฑียร เหมือนอย่างครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเสด็จขึ้นเสวย
เวลา 10 นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถ้าเป็นวันพระทรงประเคนเลี้ยงในท้องพระโรง วันอื่นเสด็จประทับที่ในห้องพระฉาก (เฉลียงด้านตะวันออกซึ่งกั้นเป็นที่เสด็จประทับ เมื่อก่อนเฉลิมพระราชมณเฑียร) เจ้านายผู้ใหญ่ คือ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท หรือสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ เป็นต้น เข้าเฝ้า หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นพวกข้าหลวงเดิมเข้าเฝ้า
เวลา 11 นาฬิกา เสด็จออกประทับพระราชอาสน์ ทรงปิดทองและทรงฟังชาวพระคลังอ่านรายงานการจ่ายเงินพระคลัง แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง พระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล กับทั้งขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย (เว้นแต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์) เข้าเฝ้า แล้วเสด็จขึ้นประทับในพระฉากอีกครั้งหนึ่ง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน-ผู้เขียนบทความ) เข้าเฝ้าที่พระฉากในตอนนี้ เสด็จขึ้นข้างในราวเวลาบ่าย 1 นาฬิกา
พระราชานุกิจ รัชกาลที่ 5 ช่วงบ่าย
เวลาบ่าย 3 นาฬิกา เสด็จลงทรงพระสำราญพระราชอิริยาบถ ที่ชาลาด้านทิศตะวันออกพระมหามณเฑียร ทอดพระเนตรหัดมหาดเล็กไล่กาเป็นทหาร เป็นต้น
เวลาบ่าย 4 นาฬิกา เสด็จออกข้างหน้า ในชั้นแรกทอดพระเนตรช่างก่อเขาที่อ่างแก้ว หลังพระที่นั่งสนามจันทร์ และก่อเขาทำภาพเรื่องสุภาษิต ในกระถางต้นไม้ดัดที่ตั้งรายกำแพงรอบท้องพระโรง ชั้นหลังต่อมาทอดพระเนตรหัดมหาดเล็กข้าหลวงเดิมเป็นทหาร บางวันเสด็จออกนอกพระราชวังทรงรับฎีการาษฎร และเสด็จประพาสจนค่ำ เสด็จขึ้นข้างใน
เวลาค่ำ เสวยแล้ว ลงประทับที่ช่องบันไดพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระองค์เจ้าบุตรี กับท้าวนางในพระราชวังเฝ้า ประภาษราชการฝ่ายในอย่างครั้งรัชกาลที่ 3 บ้าง บางวันก็เสด็จไปเฝ้ากรมพระสุดารัตนราชประยูร และเสวยที่พระตำหนักเดิมบ้าง
เวลา 8 นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับพระราชอาสน์ ทรงฟังชาวพระคลังในขวาพระคลังในซ้ายกราบบังคมทูลรายงานการจ่ายของ และมหาดเล็กกราบทูลรายงานตรวจการก่อสร้าง กับรายงานตรวจพระอาการประชวรของเจ้านาย หรือรายงานอาการป่วยของข้าราชการและพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ แล้วทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง
จากนั้น เสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง เบิกข้าราชการทั้งฝ่ายทหารพลเรือนเข้าเฝ้า และกราบทูลใบบอกหัวเมืองเหมือนอย่างเมื่อรัชกาลที่ 3
เมื่อเสร็จราชการ เสด็จขึ้นข้างในราวเวลา 10 นาฬิกา เป็นอันสิ้นพระราชานุกิจ รัชกาลที่ 5 ในแต่ละวัน
อ่านเพิ่มเติม :
- กิจวัตรประจำวัน “พระราชานุกิจ” รัชกาลที่ 4 ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ พระองค์ทรงทำอะไรบ้าง?
- “พระองค์เจ้าบุตรี” พระราชธิดา ร.3 ไม่สนคุณสมบัติ “กุลสตรี” มุ่งแต่ “เรียนหนังสือ”
- เปิดธรรมเนียมโบราณ “พระทวารชั้นใน” พระบรมมหาราชวัง มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์จนต้องจัดสมโภช
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2567