ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“บางปะกง” เป็นแม่น้ำสายหนึ่งที่มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 20,303 ตารางกิโลเมตร อยู่ภายในภาคตะวันออกของประเทศไทย ครอบคลุม 6 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก และสระแก้ว
แม่น้ำบางปะกง ถือเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญกับวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องการประมง ซึ่งชื่อ “บางปะกง” นี้ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องทางทะเล
ชื่อเดิมของแม่น้ำบางปะกง
บางปะกง มีชื่อเดิมว่า “บางมังกง” เดิมเป็นหมู่บ้านประมงชายฝั่ง อยู่ปากน้ำปลายสุดออกอ่าวไทย จึงทำให้คนเรียกแม่น้ำทั้งสายนั้นตามชื่อหมู่บ้านที่อยู่ปากน้ำ เป็น “แม่น้ำบางมังกง” ก่อนที่ต่อมาจะเพี้ยนเป็น “บางปะกง”
หากมาแยกคำ บาง หมายถึง ทางน้ำเล็ก ๆ ที่ไหลเชื่อมกับทางน้ำใหญ่กว่า มีชุมชนตั้งอยู่ตรงปากทางน้ำที่เชื่อมกัน ส่วน ปะกง คำนี้กร่อนมาจาก “มังกง” คาดว่าเป็นปลาชนิดหนึ่ง ซึ่งเลียนเสียงและรูปมาจากมังกร เหมือนกุ้งหรือกั้ง แต่ก็อาจจะมาจากคำจีนก็เป็นได้
ปลามังกง ปรากฏอยู่ใน “โคลงกำสรวลสมุทร” ประมาณ พ.ศ. 2025 ว่า “มังกงทุกังฉลาม เห็นโห่”
นอกจากนี้ “นิราศเมืองแกลง” ของสุนทรภู่ ยังมีคำว่า บางมังกง เป็นชุมชนหมู่บ้านชาวประมงของจีน ว่า…
“ถึงหย่อมย่านบ้านบางมังกงนั้น ดูเรียงรันเรือนเรียบชลาสินธุ์
แต่ล้วนบ้านตากปลาริมวาริม เหม็นแต่กลิ่นเน่าอบตลบไป
เห็นศาลเจ้าเหล่าเจ๊กอยู่เซ็งแซ่ ปูนทะก๋งองค์แก่ข้างเพศไสย
เกเลเอ๋ยเคยข้ามคงคาลัย ช่วยคุ้มภัยปากอ่าวเถิดเจ้านาย”
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดที่มา ทำไม “ปลาสลิด” ที่อร่อย ถึงต้องเป็นปลาสลิด “บางบ่อ”?
- “หลวงพระบาง” ชื่อเมืองมรดกโลกของลาว มาจากไหน?
- “ย่านหัวกระบือ” ในเขตบางขุนเทียน กทม. มีที่มาจากไหน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ. ชื่อบ้านนามเมือง จังหวัด ปราจีนบุรี ลุ่มน้ำบางปะกง ชายฝั่งทะเลตะวันออก. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม, 2550.
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. โครงการจัดทำฐานข้อมูลพื้นฐานลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ รายงานสรุปข้อมูลพื้นฐานของลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำบางปะกง. ค้นหาเมื่อ 11 กรกฎาคม 2567. https://ebook.onwr.go.th/read/150/pdf.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กรกฎาคม 2567