ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนนางคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3 ประติมากรรมรูปเหมือนของท่านตั้งอยู่ ณ เก๋งข้างพระปรางค์ วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร (วัดสามปลื้ม) วัดที่ท่านเคยมาบูรณปฏิสังขรณ์ขนานใหญ่ โดยรูปเหมือนดังกล่าวสร้างเมื่อ พ.ศ. 2441 แต่ทราบหรือไม่ว่า ประติมากรรมนี้มีต้นแบบจากรูปเหมือนที่อุดงค์มีชัย ในแผ่นดินกัมพูชา
เหตุใดจึงมีรูปเหมือนเจ้าพระยาบดินทรเดชา แม่ทัพใหญ่สยามใน “อานามสยามยุทธ์” ที่อุดงค์มีชัย?
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนนางคนสำคัญในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) และท่านผู้หญิงฟัก เกิดเมื่อ พ.ศ. 2320 ปีที่ 10 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี
ท่านเริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ 2) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชสุภาวดี และมีตำแหน่งสุดท้ายคือ “เจ้าพระยาบดินทรเดชา”
รัชกาลที่ 3 ทรงยกย่องเจ้าพระยาบดินทรเดชา ว่าเป็นปรินายก หรือ “ขุนพลแก้ว” ประจำรัชกาลของพระองค์ จากการเป็นแม่ทัพในสงครามเจ้าอนุวงศ์ ศึกปราบเวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ และบทบาทแม่ทัพใหญ่ผู้ถืออาญาสิทธิ์ในอานามสยามยุทธ์ สงครามสยาม-ญวน (เวียดนาม) ที่ยืดเยื้อยาวนานนับสิบปี
นับว่าท่านได้สร้างเกียรติประวัติเป็นที่เกรงขามแก่กองทัพของอาณาจักรข้างเคียงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นล้านช้าง (ลาว) เขมร และญวน
รูปหล่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่ “อุดงค์มีชัย”
ในอานามสยามยุทธ์ เจ้าพระยาบดินทรเดชา มีส่วนช่วยผลักดันญวนให้ออกไปจากดินแดนเขมร และสถาปนา สมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา ต้นวงศ์กษัตริย์กัมพูชาจวบถึงปัจจุบัน
เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอหิวาตกโรค ในวัย 72 ปี พ.ศ. 2392 สมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี กษัตริย์กัมพูชา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาไว้รูปเหมือนของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ณ เมืองอุดงค์มีชัย อดีตเมืองหลวงกัมพูชา ด้วยทรงระลึกถึงบุญคุณที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้การสนับสนุนพระองค์ ทั้งช่วยปราบปรามเหล่าปัจจามิตรและจัดการความวุ่นวายในแผ่นดินเขมรจนสงบราบคาบ
ศาลาดังกล่าวเป็นเก๋งตั้งอยู่ใกล้วัดโพธาราม เมืองอุดงค์มีชัย โปรดให้พระภิกษุชาวเขมรและช่างปั้นฝีมือดีในราชสำนักปั้นรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชาด้วย “ปูนเพชร” หรือหินปูนเผาอันทนทาน เพื่อเป็นอนุสรณ์ของท่าน ทั้งยังทำพิธีสดับปกรณ์หรือการสวดบังสุกุลสำหรับพิธีศพเจ้านายปีละครั้ง รูปหล่อดังกล่าวเรียกกันในหมู่ชาวเขมรว่า “รูปองค์บดินทร์”
เจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่ “วัดสามปลื้ม”
รูปองค์บดินทร์ที่เมืองอุดงค์มีชัยนี้เอง ที่พระพุฒาจารย์ (มา) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) กรุงเทพมหานคร ครั้งยังเป็นพระมงคลเทพมุนี ใช้เป็นต้นแบบรูปหล่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาของที่วัด
พระมงคลเทพมุนี ส่งคนไปเขียนภาพถ่ายแบบจากของกัมพูชา แล้วมอบหมายนายเล็กช่างหล่อดำเนินการหล่อขึ้น พร้อมอ้างอิงคำบอกเล่าของ “ท่านทอง” ภรรยาเจ้าพระยายมราช (แก้ว สิงหเสนี) บุตรชายเจ้าพระยาบดินทรเดชา ช่วยตรวจทานว่าตรงตามรูปลักษณ์ของท่านแล้วจริง ๆ เพราะท่านคือคนที่ทันเห็น “ขุนพลแก้ว” ของพระนั่งเกล้าฯ ก่อนจะอสัญกรรม และยังชีวิตอยู่จนถึงตอนนั้น
รูปหล่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่วัดสามปลื้มนี้ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2441 พร้อมพิธีฉลองพระพุฒาจารย์มีอายุครบ 5 รอบ (60 ปี) พอดี รูปหล่อดังกล่าวเป็นท่านั่งชันเข่าที่ถอดแบบจากที่อุดงค์มีชัย และกลายเป็นรูปลักษณ์ของเจ้าพระยาบดินทรเดชาในภาพจำของคนไทย
อ่านเพิ่มเติม :
- “เจ้าพระยาบดินทรเดชา” ผู้ที่รัชกาลที่ 3 ตรัสเรียกว่า “พี่บดินทร์”
- เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนนางไทย ผู้สร้าง 3 เมืองใหม่ในกัมพูชา
- เกร็ดประวัติ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เคยต้องโทษเป็นกบฏต่อแผ่นดิน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://www.silpa-mag.com/history/article_11266
พิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาบดินทรเดชา – สิงห์ สิงหเสนี. ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) มีหน้าตาเป็นอย่างไร? (ออนไลน์)
ประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี ) สมุหนายก. กองทัพบก จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส 6 พฤศจิกายน 2518 (ออนไลน์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กรกฎาคม 2567