เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนนางไทย ผู้สร้าง 3 เมืองใหม่ในกัมพูชา

วัด เมืองพระตะบอง
วัดปราบปรามปัจจมิตร เมืองพระตะบอง หรือที่ชาวเมืองส่วนใหญ่รู้จักในชื่อ “วัดกโดล"

เกียรติประวัติสำคัญหนึ่งของ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) คือ แม่ทัพผู้ถืออาญาสิทธิ์ในสงครามอานามสยามยุทธ์ ซึ่งในสงครามครั้งนั้น ขุนนางไทยผู้นี้ได้สร้าง “เมืองใหม่” หลายเมือง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในกัมพูชา เมืองใหม่ที่ว่าได้แก่ เมืองพระตะบอง เมืองมงคลบุรี เมืองศรีโสภณ

เมืองพระตะบอง 

เมื่อ พ.ศ. 2379 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพออกไปเมืองพระตะบอง เห็นค่ายเมืองพระตะบองชำรุดทรุดโทรม จึงมีใบบอกเข้ามาพระนคร เพื่อขอก่อป้อมกำแพงสร้างเมืองพระตะบองใหม่ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) บันทึกว่า

“…ค่ายเมืองพระตะบองทำไว้แต่ก่อนยาว 23 เส้น 10 วา กว้าง 11 เส้น ชำรุดหักพังไปเป็นอันมาก ที่หน้าเมืองเก่าถึงฤดูน้ำฤดูฝน หน้าตลิ่งพัง จะขอทำอิฐเผาปูนก่อป้อมกำแพงเมือง สร้างเมืองขึ้นไปทางขึ้นไปข้างเหนือน้ำ…แล้วก็โปรดอนุญาตยอมให้ทำขึ้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึ่งกะเกณฑ์เลขหัวเมืองทำอิฐเผาปูนตระเตรียมไว้…ลุศักราช 1199 เจ้าพระยาบดินทรเดชา กลับมาทำป้อมกำแพงเมืองพระตะบองยาวตามลำน้ำ 13 เส้น สกัดขึ้นไปบนบก 16 เส้น มีป้อม 6 ป้อม…”

เมืองพระตะบองที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สร้างขึ้นนี้ใช้เวลา 1 ปี ( พ.ศ. 2379-2380) เมื่อสร้างแล้วเสร็จได้ทำพิธีฝังอาถรรพ์หลักเมือง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2380 มีการทำพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์ ฝังอาถรรพ์ที่หลักเมือง แล้วมีหนังสือกราบทูลรัชกาลที่ 3

นอกจากสร้างเมืองพระตะบองใหม่แล้ว ยังได้สร้างวัดไว้ที่เมืองพระตะบองแห่งหนึ่งในบริเวณที่ตั้งทัพ คือ “วัดปราบปรามปัจจมิตร” หากชาวเมืองพระตะบองส่วนใหญ่รู้จักในชื่อ “วัดกโดล (วตฺตกฺฎุล)

เมืองมงคลบุรี

เมื่อรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปรบกับเวียดนามในสงครามอานามสยามยุทธ์นั้น ยังรับสั่งให้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ในเส้นทางการเดินทัพไปยังเมืองพระตะบอง คือ “เมืองมงคลบุรี” ปัจจุบันคือ อำเภอหนึ่งในจังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา (ภาษาเขมรว่า บ็อนเตียย์เมียนเจ็ย) และโปรดเกล้าฯ นักองค์ด้วง เสด็จมาปกครองเมืองมงคลบุรี ระหว่างปี 2376-2380

นักองค์ด้วง ปกครองเมืองมงคลบุรี ประมาณ 4 ปี ระหว่างปี 2376-2380 แต่ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2380 ขุนนางไทยที่เมืองพระตะบอง ได้รายงานไปกรุงเทพฯ ว่า นักองค์ด้วงกับขุนนางเขมรบางคนได้ร่วมกันเกลี้ยกล่อมชาวเมืองพระตะบองให้อพยพไปอยู่ที่พนมเปญ เมื่อทางกรุงเทพฯ ทราบเรื่องจึงให้คุมตัวนักองค์ด้วงเข้ามาที่กรุงเทพฯ

ปัจจุบันบริเวณตำหนักหลวง ที่นักองค์ด้วงเคยประทับ เป็นที่ตั้งของวัดหลวงชื่อ วัดโพธิหลวง” หรือมีชื่อทางการว่า “วัดหลวงสีสุวัตถิ์รตนราม” หมู่บ้านภูมิหลวง ตำบลรึเซ็ยโกรก อำเภอมงคลบุรี จังหวัดบันทายมีชัย

เมืองศรีโสภณ 

หลังสงครามคราวปราบเจ้าอนุวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2369 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กวาดต้อนครัวเมืองเวียงจันทน์และเมืองขึ้น พร้อมทั้งเมืองอื่นๆ ลงมากรุงเทพฯ แล้วขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อยู่ตามเมืองต่างๆ หลายเมือง

ในจำนวนนั้นมีชาวลาวญ้อ ยกมาตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านหลายแห่งในบริเวณ “เมืองศรีโสภณ” ปัจจุบันคือ อำเภอหนึ่งในจังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองศรีโสภณขึ้น ดังที่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ว่า

“…ได้ยกบ้านขึ้นเป็นเมืองก็หลายตำบล เมืองขึ้นมหาดไทย บ้านกบแจะยกขึ้นเป็นเมืองประจันตคาม 1 ยกด่านหนุมานขึ้นเป็นเมืองกระบิลบุรี 1 บ้านหินแร่ยกขึ้นเป็นเมืองอรัญประเทศ 1 บ้านทุ่งแขยกขึ้นเป็นเมืองวัฒนานคร1 บ้านสวายเป็นเมืองศรีโสภณ 1…”

เช่นเดียวกับ เอเจียน อายโมนิเยร์ (Etienne Aymonier) บันทึกไว้ว่า “เมืองซึ่งชาวกัมพูชาเรียกว่า ‘สวาย (มะม่วง)’ เป็นเมืองขึ้นของพระตะบองซึ่งเจ้าคุณบดินทร์ ขุนนางผู้ใหญ่ชาวสยาม ได้ตั้งขึ้นเป็นเมืองใน ค.ศ. 1846 (พ.ศ. 2389) โดยขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมืองนี้จึงได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ศรีโสภณ…” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ศานติ ภักดีคำ. “เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สร้างเมืองใหม่ในกัมพูชา” ใน, เอกสารประกอบงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “บดินทรเดชา แม่ทัพกล้า-‘ขุนพลแก้ว’ คู่พระทัย” 24 สิงหาคม 2560.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567