ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
กำเนิดคลองเปรมประชากร คลอง 6 แผ่นดิน เริ่มจากไหนถึงไหน ทำไมต้องขุด?
คลองเปรมประชากร เป็นคลองที่หลายคนอาจจะพอคุ้นชื่อกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะผู้อาศัยทางทิศเหนือของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คลองเก่าแก่อายุถึง 6 แผ่นดินนี้ทอดตัวผ่าน แล้วจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของคลองนี้อยู่ที่ไหน? และทำไมถึงต้องขุด?
คลองเปรมประชากร หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “คลองเปรม” มีประวัติความเป็นมาย้อนไปได้ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ยุคนั้นมีการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าหลายด้าน โดยเฉพาะการคมนาคม ที่มีทั้งการสร้างถนน ขยายถนน ขุดคูคลอง เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทางและการค้าขาย
กำเนิดคลองเปรมประชากร
ส.พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2553 เล่าไว้ในหนังสือ “แม่น้ำลำคลอง” ว่า ครั้งหนึ่ง รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำรัสว่า “คลอง” คือสิ่งสำคัญในสยาม สมควรจะมีขึ้นทุกปี แม้ต้องออกพระราชทรัพย์เพื่อดำเนินการก่อสร้างก็ไม่ทรงเสียดาย
ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฏว่าในรัชสมัยของพระองค์ มีการขุดคลองมากถึง 18 คลอง เป็นคลองที่ราชการร่วมกับราษฎรลงทุนขุด 11 คลอง และเอกชนขุด 7 คลอง
รัชกาลที่ 5 ทรงขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2411 พอถึง พ.ศ. 2412 โปรดให้ขุดคลองแรกในรัชกาลขึ้น คือ “คลองเปรมประชากร” สะท้อนให้เห็นว่าทรงให้ความสำคัญกับคลองอย่างมาก
คราวนั้น พระองค์ทรงมอบหมายให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการขุดคลอง เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง และ พระชลธารพินิจฉัย (ฉุน) เป็นผู้ปักหมายกรุยจ้างจีนขุด
คลองขุดใหม่นี้ เริ่มต้นที่ “คลองผดุงกรุงเกษม” ฝั่งตรงข้ามวัดโสมนัสวิหาร ปลายคลองไปออกเกาะใหญ่ ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ตำบาลเกาะใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่พระนครศรีอยุธยาลงมา เป็นแม่น้ำกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์มีน้ำตลอดทั้งปี โดยเฉพาะที่บางไทร เป็นที่รวมของแม่น้ำ 2 สาย คือ “แม่น้ำเจ้าพระยา” ที่ไหลผ่านอำเภอบางบาล อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะอิน และอำเภอบางไทร กับ “แม่น้ำน้อย” ที่ไหลผ่านอำเภอผักไห่ อำเภอเสนา อำเภอบางไทร มาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบาลบางไทรเช่นเดียวกัน
“ด้วยเหตุนี้ที่บางไทรจึงเป็นทางร่วมของแม่น้ำ ๒ สาย และบางทีจะเนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์มีน้ำตลอดปีนี้เอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ขุดคลองจากในพระนครไปออกที่บางไทร เพื่อจะได้รับน้ำเข้ามาในพระนครได้ตลอดทั้งปี คือคลองเปรมประชากรที่กล่าวถึงนี้” ส.พลายน้อย เล่าในหนังสือ
คลองขุดสายแรกในรัชกาลที่ 5 เริ่มลงมือขุดตั้งแต่ พ.ศ. 2412 ใช้เวลาขุดราว 18 เดือน แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2413 จ้างคนจีนขุดได้คลองยาว 1,271 เส้น 3 วา สิ้นพระราชทรัพย์ 2,544 ชั่ง กับ 8 บาท
เนื่องจากเป็นคลองแรกที่ขุดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองคลอง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2415 มีพิธีสงฆ์สวดมนต์เลี้ยงพระตามประเพณี ตกกลางคืนมีจุดประทีป ตามไฟ จุดดอกไม้ไฟโคมลอย นับเป็นงานใหญ่งานหนึ่ง
คราวนั้น รัชกาลที่ 5 ประทับเรือพระที่นั่งไปตามคลอง มีเรือขุนนางข้าราชการตามเสด็จจำนวนมาก เสด็จฯ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางไทร แล้วล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยา เสด็จฯ ถึงพระบรมมหาราชวังในคืนนั้น
ชาวบ้านสองฝั่งคลองได้ใช้ประโยชน์จากคลองทั้งการอุปโภคและบริโภค ทั้งยังเป็นเส้นทางการค้าการคมนาคมที่สำคัญ ต่อมาเมื่อบ้านเมืองพัฒนามากขึ้น มีการสร้างสะพานข้ามคลองหลายจุด เรือบรรทุกสินค้าก็ไม่สามารถผ่านไปมาได้เช่นเคย ประกอบกับราชการมีนโยบายห้ามจอดเรือในคลอง ทำให้ท้ายสุดคลองบางส่วนก็ตื้นเขินไป กระทั่งมีการฟื้นฟูคลองเปรมประชากรในปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- “สมัน” สูญพันธุ์จากโลก เหตุเพราะขุด “คลองรังสิต” กินพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่
- กำเนิด “ถนนข้าวสาร” จากคลองสู่ถนนชื่ออาหารหลักคนไทยได้อย่างไร
- คลอง “แสนแสบ” ชื่อนี้มาจากไหน หรือจะมาจากยุง?
- คลองหลอด คลองคูเมืองสมัยกรุงธนบุรี ทำไมถึงเรียก “คลองหลอด”?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ส.พลายน้อย. แม่น้ำลำคลอง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2567