“พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ” ต้นเค้า “เสด็จ” ในเรื่องสี่แผ่นดิน?

พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ พระราชธิดา รัชกาลที่ 4 กับ เจ้าจอมมารดาเที่ยง คาดว่า เป็น เสด็จ ใน สี่แผ่นดิน ประพันธ์ โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ

หนึ่งในตัวละครที่โดดเด่นในวรรณกรรมเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช คือ “เสด็จ” ที่ทรงพระเมตตาชุบเลี้ยง “แม่พลอย” ตัวละครเอกของเรื่องมาตั้งแต่เยาว์วัย แม้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จะไม่ระบุพระนามของเสด็จเลยตลอดทั้งเรื่อง แต่มีผู้คาดเดากันว่า เสด็จพระองค์นี้ คือ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ เป็นพระราชธิดาลำดับที่ 19 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเที่ยง เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2398

Advertisement

เมื่อครั้งพระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิทรงพระเยาว์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพลับ (พ.ศ. 2328-2409) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระเมตตารับไปทรงเลี้ยงดู หลังจากพระองค์เจ้าหญิงพลับสิ้นพระชนม์ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิทรงได้รับมรดกสืบมา

พระองค์ยังทรงสืบทอดงานศิลปะอันวิจิตรบรรจงของพระองค์เจ้าหญิงพลับอีกด้วย คือ การร้อยตาข่ายดอกไม้สดประดับฐาน “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์” ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อครั้งมีพระราชพิธีต่างๆ และทรงร้อยมาลัยประดับพระโกศพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 1 ตลอดพระชนมชีพของพระองค์

นอกจากฝีมือการร้อยมาลัยอันงดงาม พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิยังทรงเชี่ยวชาญด้านนาฏศาสตร์และโหราศาสตร์ ส่วนด้านการเรียนก็ทรงได้รับการศึกษาตามอย่างราชกุมารีในราชสำนักอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิทรงเป็นหนึ่งในพระเจ้าน้องนางเธอที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนิทชิดชอบ และได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ฝ่ายใน เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ชั้นที่ 2 เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้น 2 แก่พระเจ้าน้องนางเธอพระองค์นี้

เมื่อถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 3 เป็นพระเกียรติยศแก่พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ ด้วยทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในพระองค์หนึ่ง ซึ่งสนิทสนมกับพระราชโอรสและพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ทุกพระองค์

พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2456 พระชันษา 59 ปี

ด้วยหลายประเด็นที่สอดคล้องกับ “เสด็จ” ในเรื่องสี่แผ่นดิน อาทิ การเรียกขานพระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิอย่างลำลองว่า “เสด็จ” อันเป็นคำเรียกพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาที่เป็นสตรีสามัญชน พระชันษาของพระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิกับเสด็จในเรื่องก็ไล่เลี่ยกัน เมื่อเทียบกับบริบทสภาพแวดล้อมในเรื่อง ไปจนถึงเรื่องตำหนักของเสด็จ ทำให้ผู้อ่านสี่แผ่นดินจำนวนไม่น้อยคาดเดากันว่า พระองค์เจ้าศรีสวาดิ คือ เสด็จ

เรื่องนี้ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย เล่าใน “สี่แผ่นดิน” กับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม ไว้ตอนหนึ่งว่า

ในรัชกาลที่ 5 พระราชธิดาในพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนๆ ที่ทรงมีพระชนมายุถึงแผ่นดินรัชกาลนี้มี 53 พระองค์ เป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่สอง 5 พระองค์ พระราชธิดาในรัชกาลที่สาม 13 พระองค์ และพระราชธิดาในรัชกาลที่สี่ 35 พระองค์

จากพระชันษาของเสด็จที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เทียบเคียงกับคุณสาย (ข้าหลวงของเสด็จ) ซึ่งจากคำบรรยายคุณสายน่าจะอายุเกิน 35 อาจถึง 40 ปี ดังนั้นเสด็จจึงน่าจะมีพระชันษาราว 40 ปี ซึ่งน่าจะอยู่ในกลุ่มเสด็จอันเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4

“ประกอบเข้ากับลักษณะพระตำหนักที่ประทับ ซึ่งบรรยายว่าเป็นตึก ๒ ชั้น มีบันไดใหญ่พุ่งตรงขึ้นไปชั้นบนและมีเฉลียง ตรงกลางตำหนักชั้นล่างมีลานกว้าง ลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะพระตำหนักที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากข้อสังเกตดังกล่าว เสด็จในเรื่องสี่แผ่นดินจึงน่าจะเป็นพระราชธิดาพระองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

เสด็จในเรื่องสี่แผ่นดินจะมีตัวตนจริงเป็น “เสด็จ” พระองค์ใด จะใช่ “พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ” หรือไม่ จึงยังเป็นปริศนาและเป็นหนึ่งในเสน่ห์ของวรรณกรรมเรื่องนี้ให้ได้ขบคิดตีโจทย์กันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช. สี่แผ่นดิน เล่ม 1. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 2000, พิมพ์ครั้งที่ 15, 2554

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี. “มหามกุฎราชสันตติวงศ์ ๑๔ กรกฎาคม ๒๓๙๘ วันประสูติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ”.

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “สี่แผ่นดิน” กับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤษภาคม 2567