ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างสะพานหลายแห่ง จุดประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองในวาระมงคล เช่น “สะพานชุดเฉลิม” รวมทั้งสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้วายชนม์ เช่น “สะพานชมัยมรุเชฐ” ที่ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ โปรดให้สร้างเป็นอนุสรณ์ถึงเจ้าฟ้า 2 พระองค์ ที่ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 และเป็นสมเด็จพระโสทรเชษฐภาดาของพระองค์
สะพานชมัยมรุเชฐ เป็นสะพานข้ามคลองเปรมประชากร ตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก แยกพาณิชยการตัดกับถนนพระรามที่ 5 หรือจำง่ายๆ ว่าตั้งอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล
สะพานนี้ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร (แรกประสูติคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์) พระราชธิดาลำดับที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดให้สร้างขึ้น เพื่อทรงอุทิศส่วนพระกุศลถวายสมเด็จพระโสทรเชษฐภาดาทั้ง 2 พระองค์
สาเหตุการสร้างสะพาน เนื่องมาจากสมเด็จพระโสทรเชษฐภาดาทั้ง 2 พระองค์ในเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (27 มิถุนายน พ.ศ. 2421-4 มกราคม พ.ศ. 2437) และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ (9 มิถุนายน พ.ศ. 2425-17 มิถุนายน พ.ศ. 2442) ได้เสด็จสวรรคตและสิ้นพระชนม์ เมื่อมีพระชนมพรรษาและพระชันษาเท่ากัน คือ 17 ปี
เมื่อราว พ.ศ. 2444 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงมีพระชันษาได้ 17 ปี เสมอด้วยสมเด็จพระโสทรเชษฐภาดาทั้ง 2 พระองค์ จึงมีพระดำริสร้างสะพานเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ อุทิศส่วนพระกุศลถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงษวโรทัย
เมื่อสร้างเสร็จแล้ว สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานนามให้มีความหมายตามพระประสงค์ของเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ว่า “สะพานชมัยมรุเชฐ” มีความหมายว่า พี่ชายผู้เป็นเทพ 2 พระองค์
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยลงกรณ์ ทรงเปิดสะพานเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2445
ปรากฏเป็นอนุสรณ์ทรงคุณค่าและเปี่ยมด้วยความทรงจำมาถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- “สะพานชุดเฉลิม” ในกรุงเทพฯ ที่นำหน้าว่า “เฉลิม” ลงท้ายด้วยตัวเลข มีที่มาจากไหน?
- “เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ” มกุฎราชกุมารองค์แรกของไทย ที่ รัชกาลที่ 5 ทรงรักมาก
- สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับ “คำฝากฝัง” ที่ไม่มีผู้ใดสนองแม้สักคน เพราะเหตุใด?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน. 2551
สำรวย นักการเรียน. “ชมัยมรุเชฐ”.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤษภาคม 2567