“มหาสุรสิงหนาท” อาคารจัดแสดง Golden Boy ชื่อนี้มีที่มาจากไหน?

อาคาร มหาสุรสิงหนาท ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สถานที่ จัด แสดง Golden Boy มี ที่มา จาก พระนาม กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าพระยาเสือ รัชกาลที่ 1
อาคารมหาสุรสิงหนาท ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพ : กรมศิลปากร)

หลังจากไทยได้คืน Golden Boy และ ประติมากรรมสตรี จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The MET) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กรมศิลปากรก็ได้นำมาจัดแสดงที่อาคาร “มหาสุรสิงหนาท” ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นามอาคารนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างโดดๆ แต่มีความสำคัญกับที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์อย่างแยกไม่ออก เพราะ “มหาสุรสิงหนาท” มาจากพระนาม กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท “วังหน้าพระยาเสือ” ในรัชกาลที่ 1

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (พระนามเดิมคือ บุญมา) เป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ยุคกรุงศรีอยุธยา

หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. 2310 พระองค์เป็นหนึ่งในทหารเอกของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ออกรบปราบปรามข้าศึก ทำความดีความชอบมากมาย กระทั่งพระเจ้าตากสถาปนาขึ้นเป็น “เจ้าพระยาสุรสีห์”

พอถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านก็ช่วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสร้างบ้านแปงเมือง และได้รับพระมหากรุณาธิคุณยกขึ้นเป็น “กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท” ในตำแหน่งพระมหาอุปราช หรือ “วังหน้า” ซึ่งมีนัยถึงการเป็นว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไป

ความที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงมีความกล้าหาญ เข้มแข็ง และเด็ดขาด พระองค์จึงมีพระสมัญญานามว่า “พระยาเสือ” เป็นที่มาของการขานพระนามพระองค์ว่า “วังหน้าพระยาเสือ” นั่นเอง

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสร้าง “พระราชวังบวรสถานมงคล” ขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นพระนิเวศน์เดิมสมัยที่ทรงเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง

ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล มีหมู่พระที่นั่งต่างๆ อย่าง พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ หมู่พระวิมาน ฯลฯ ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมวิจิตรงดงาม แต่จะไม่เทียบเท่าวังหลวง โดยจะมีหลังคาชั้นเดียวทรงจั่ว มุงด้วยกระเบื้องดินเผา คันทวยรองรับหลังคาเป็นรูปนาคประดับพรรณไม้นานา ไม่ทำซุ้มประตูหน้าต่าง ยกเว้นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

“วังหน้าพระยาเสือ” ทรงปรารถนาจะดำรงพระชนมชีพบั้นปลาย ณ พระราชวังแห่งนี้ ทว่าเมื่อพระชนมายุได้ 61 พรรษา ก็ประชวรด้วยโรคนิ่ว

เล่ากันสืบมาว่า พระองค์ได้ทูลขอรัชกาลที่ 1 ว่า ขอให้พระโอรสและพระธิดาของพระองค์ประทับอยู่ ณ พระราชวังบวรสถานมงคลต่อไป ทั้งยังลือกันอีกว่า ทรงออกพระโอษฐ์สาปแช่งใครที่หวังจะเข้ามาชุบมือเปิบว่า

“ของเหล่านี้ กูอุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังจะอยู่ชมนานๆ ก็ไม่ได้ชม ของใหญ่ของโตของกูดีๆ ของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุน กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครไม่ใช่ลูกกู เข้ามาเป็นเจ้าของครอบครองขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข”

ภายหลังเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคต รัชกาลต่อๆ มา ก็ทรงหาวิธี “แก้เคล็ด” จวบจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวังหน้าในรัชกาล คือ “กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ” สวรรคต ก็ทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และทรงสถาปนา “มกุฎราชกุมาร” ขึ้นแทน

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์พระราชทานพระราชมณเฑียรสถานในพระราชวังบวรสถานมงคลทั้งหมดให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร และประกาศตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ใน พ.ศ. 2477

ใครไปชม Golden Boy ที่อาคาร “มหาสุรสิงหนาท” ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แล้ว ขอแนะนำให้ชมความงามของหมู่พระที่นั่งต่างๆ ที่“วังหน้าพระยาเสือ” ทรงสร้าง และชมโบราณวัตถุล้ำค่ามากมาย ที่จัดแสดงในหมู่พระที่นั่งไปด้วยในคราวเดียวกัน รับรองว่าเพลินจนลืมเวลาเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 อ้างอิง :

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร. “สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”.

ปรามินทร์ เครือทอง. “วังหน้า ‘พระยาเสือ’ เมื่อต้องโค่นพระเจ้าตาก”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2567