ทำไมเวลามาตรฐานโลก ต้องเทียบกับ “กรีนิช” เพราะเป็นศูนย์กลางโลก?

หอดูดาว กรีนิช
หอดูดาวตำบลกรีนิช (ภาพจาก Wikimedia Commons)

“เวลา” มาตรฐาน ที่เราคุ้นเคยกันคือระบบ GMT (Greenwich Mean Time) หรือการนับเวลาโดยเทียบกับเวลาที่ “กรีนิช” เมืองซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งในเขตการปกครองของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ในอดีต กรีนิช (Greenwich) คือเมืองเล็ก ๆ ริมแม่น้ำเทมส์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน โดยเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยนายเรือและหอดูดาวที่สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1675 (พ.ศ. 2218)

Advertisement

สิ่งที่ทำให้กรีนิชเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกคงหนีไม่พ้นระบบ GMT เพราะบริเวณนี้คือที่ตั้งของเส้นเมริเดียน (Meridians) หรือเส้นแวง (Longtiude) ศูนย์องศา (0°) ถือเป็น “เส้นแวงแรก” ของโลก และเป็นหลักกำหนดเส้นแวงตะวันตกและตะวันออก

เส้นแวงคืออะไร?

เส้นแวงคือการจัดระเบียบการอ้างอิงเวลาบนโลก การที่โลกหมุนรอบตัวเองโดยใช้เวลา 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมง ทำให้เกิดกลางวัน-กลางคืน เพราะแต่ละส่วนบนโลกได้รับแสงอาทิตย์ในช่วงเวลาต่างกัน จึงมีการกำหนดเส้นแวงเป็นเส้นสมมติที่ลากผ่านส่วนต่าง  ๆ ของพื้นผิวโลกในแนวเหนือ-ใต้ และกำหนดให้พื้นที่ต่าง ๆ ในแนวเส้นแวงเดียวกันมีเวลาตรงกัน

ซึ่งจุดอ้างอิงของเส้นแวงแรก จะใช้ที่ตั้งของกรีนิชเป็นมาตรฐาน ส่วนเส้นอื่น ๆ จะลากขนานกันจากเมืองกรีนิชไปทางตะวันตก 180° ตะวันออกอีก 180° รวมเป็น 360° (เส้น) คือแบ่งการนับเวลาโลกฝั่งตะวันตก-ตะวันออกจากกรีนิชนั่นเอง

เมื่ออิงตามเส้นสมมติเหล่านี้ แต่ละองศาจึงมีเวลาห่างกัน 4 นาที (24 ชั่วโมง = 1,440 นาที หารด้วย 360°) ว่าง่าย ๆ ตำแหน่งที่อยู่ห่างกัน 15° ตามเส้นแวง จะมีเวลาต่างกัน 60 นาที หรือ 1 ชั่วโมง แต่ละรัฐหรือประเทศจึงกำหนดเวลามาตรฐานของตนโดยอิงตามเมริเดียนใดเมริเดียนหนึ่งที่ลากผ่านในพื้นที่เพื่อกำหนดใช้ให้เป็นมาตรฐานเวลาเดียวกัน

ถ้าเส้นแวงแรกที่เมืองกรีนิช กรุงลอนดอน เป็นเวลาเที่ยงวัน กรุงเทพฯ ซึ่งถือเอาเส้นแวง 105° ตะวันออกเป็นหลัก จะมีเวลานำไปก่อน 420 นาที หรือ 7 ชั่วโมง คือเป็นเวลา 19.00 นาฬิกา

ย้อนกลับมาที่คำถามตั้งต้นของเรื่องนี้ “กรีนิช” สำคัญอย่างไร ทำไมถูกกำหนดให้เป็นจุดอ้างอิงเส้นแวงแรก?

ไมเคิล ไรท์ อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความ “ ‘เวลา’ มาตรฐานโลก ทำไมต้องเทียบกับกรีนิช ที่นอกกรุงลอนดอน ‘กรีนิช’ เป็นศูนย์กลางของโลกเชียวหรือ?” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544 ว่า การที่กรีนิชถูกกำหนดให้เป็นจุดอ้างอิงเส้นแวงศูนย์องศานั้น ไม่ใช่เพราะอังกฤษมีอำนาจบาตรใหญ่แล้วจัดระเบียบโลกให้ตนเป็นศูนย์กลางแต่อย่างใด

แต่เป็นเพราะเหตุบังเอิญและความสะดวกบางประการ ทำให้กรีนิชได้รับบทบาทนี้ไป

เส้นเมริเดียน เส้นแวง ศูนย์องศา ลากผ่าน กรีนิช
เส้นเมริเดียนศูนย์องศาที่ลากผ่านกรีนิช (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ทั้งหมดตั้งต้นจากปัญหาการเดินเรือในมหาสมุทร ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 นักเดินเรือมักประสบปัญหาการระบุตำแหน่งของตน แม้การเดินทางในแนวเหนือ-ใต้ จะสามารถใช้การสังเกตดาวเหนือและตำแหน่งดวงอาทิตย์ได้ แต่ในแนวตะวันตก-ตะวันออกนั้นซับซ้อนและลำบากกว่ามาก เป็นที่มาของการสมมติเส้นแวงที่แบ่งโลกเป็น 360° ขึ้น โดยให้เส้นศูนย์องศา อยู่ที่เมืองท่าหลักของตน

แต่เมื่อต่างคนต่างอ้างอิงเส้นแวงแรก ทำให้ระเบียบวิธีดังกล่าวไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในระยะแรก การ “หลงทาง” จนเสียเรือจึงยังมีอยู่เนือง ๆ

การช่วงชิงตำแหน่งเส้นแวงศูนย์องศา มี “แคนดิเดต” หลัก ๆ คือกรุงลอนดอนกับกรุงปารีส ตัวแทนจากอังกฤษและฝรั่งเศสตามลำดับ แต่เมื่อกิจการที่ต้องข้องเกี่ยวกับเส้นแวงมากที่สุดคือ “นักเดินเรือ” กรุงลอนดอนค่อนข้างได้เปรียบตรงที่เป็นทั้งเมืองหลวงและเมืองท่าของอังกฤษ

“วัง” (ผู้กำหนดเส้นแวง) กับ “กรมท่า” (ผู้ต้องอาศัยเส้นแวง) ของอังกฤษจึงใกล้ชิดกันมาก ต่างจากกรุงปารีสของฝรั่งเศสที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินหลายร้อยกิโลเมตร และอยู่ห่างไกลจากเมืองท่าอย่างมาก

ด้านอังกฤษเองก็ผลักดันการใช้เส้นแวงศูนย์องศาของตนพอสมควร ไมเคิล ไรท์ เล่าว่า “ในรัชกาลพระเจ้าชาร์ลที่ 2 ครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีรับสั่งให้แปลงพระที่นั่งเก่าที่กรีนิช ตรงข้ามท่าเรือลอนดอน ให้เป็นหอดูดาวหลวงมีหน้าที่กำหนดเวลาให้แม่นยำ กำหนดว่า ที่หอดูดาวกรีนิชนี้คือเส้นแวง 0° ให้มีการยิงปืนใหญ่ที่หอดูดาวหลวงที่กรีนิชตอนเช้า-เที่ยง-เย็น ที่ดังถึงเมืองท่าลอนดอน ให้พวกต้นหนตั้งนาฬิกาก่อนออกเดินทาง…”

กระทั่งปี 1761 อังกฤษสามารถพัฒนานาฬิกาที่เดินได้เที่ยงตรง มีการทดสอบโดยจับเวลาขณะเดินเรือจากกรุงลอนดอนถึงเกาะจาเมกาพร้อมจับตำแหน่งบนเส้นแวงได้อย่างแม่นยำ กัปตันและต้นหนเรือทั่วโลกจึงนิยมการนับเส้นแวงศูนย์องศาที่กรีนิช หรือ Greenwich Men Time (GMT) กันอย่างแพร่หลาย

ไม่ใช่เพราะเคารพต่ออังกฤษ แต่เพราะสะดวกและแม่นยำกว่าตำแหน่งอ้างอิงอื่น

ถึงตอนนั้นแม้ฝรั่งเศสจะพยายามชิงเส้นแวงศูนย์องศาก็ไม่เป็นผลแล้ว เพราะนักเดินเรือฝรั่งเศสเองยังไม่เอาด้วย ต่างพากันใช้เส้นแวงศูนย์องศาของกรีนิชทั้งสิ้น

“ค.ศ. 1883-1884 การประชุมนานาชาติได้ตกลงกันทั่วหน้าว่า กรีนิชเป็นเส้น 0° แวง และ GMT เป็นเวลามาตรฐานทั่วโลก ซึ่งใช้งานได้จนทุกวันนี้”

สาเหตุที่เส้นแวงศูนย์องศาอยู่ที่กรีนิช และใช้เวลาที่ลอนดอนเป็นมาตรฐาน จึงเป็นเพราะความบังเอิญที่ท่าเรือลอนดอนกับหอดูดาวหลวงอยู่ใกล้กัน และชาวโลกต้องการ “ความสะดวก” ที่กรีนิชมอบให้พวกเขาได้ ระบบเวลา GMT จึงถูกยอมรับโดยไม่มีการบังคับขู่เข็ญ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2567